ภิกษุมีสติด้วยเหตุ ๔ ประการ

 
สารธรรม
วันที่  28 ก.ย. 2565
หมายเลข  44302
อ่าน  190

พระผู้มีพระภาคตรัสกับท่านอชิตะต่อไปว่า

บทว่า สโต ในอุเทศว่า สโตภิกฺขุปริพฺพเซ ความว่า ภิกษุมีสติด้วยเหตุ ๔ ประการ คือ มีสติเจริญกายานุปัสสนาสติปัฏฐานในกาย ๑ มีสติเจริญเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานในเวทนาทั้งหลาย ๑ มีสติเจริญจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานในจิต ๑ มีสติเจริญธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานในธรรมทั้งหลาย ๑

ไม่เคยทรงแสดงจำกัดเจาะจงว่า ให้เจริญสติปัฏฐานหนึ่งสติปัฏฐานใด เพราะ จะต้องรู้ชัดทั้งนามและรู้ ไม่ใช่ว่าจะรู้แต่เพียงรูป หรือว่าไม่ใช่ว่าจะรู้แต่เพียงนาม จะต้องรู้ชัด รู้ทั่วจึงจะละคลายได้ เพราะฉะนั้น จะต้องเจริญทั้งกายานุปัสสนาสติปัฏ-ฐาน เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน และธัมมานุปัสสนาสติ-ปัฏฐาน

ข้อความต่อไป พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงถึง ภิกษุมีสติด้วยเหตุ ๔ ประการแม้อื่นอีก คือ ที่จะให้ระลึกเป็นไปในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรมได้นั้น จะต้องเป็นผู้ที่

ภิกษุมีสติด้วยเหตุ ๔ ประการ แม้อื่นอีก คือ มีสติ เพราะเว้นความเป็นผู้ไม่มีสติ ๑ เพราะนำธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความทำสติ ๑ เพราะละธรรมเป็นข้าศึกแก่สติ ๑เพราะไม่หลงลืมธรรมอันเป็นนิมิตแห่งสติ ๑

ธรรมอันเป็นนิมิตแห่งสติ คือ สิ่งที่ทำให้สติระลึก ไม่หลงลืมในธรรมนั้น อย่างเรื่องของกายมีอะไรบ้าง ลมหายใจก็เป็นกาย เวลาใดที่ลมหายใจปรากฏ วิ่งเหนื่อยๆ หรือกระทบลมหายใจของบุคคลหนึ่งบุคคลใด ก็เป็นสิ่งที่จะทำให้สติระลึกรู้ได้ ถ้าเป็นผู้ที่ไม่หลงลืมในธรรมที่เป็นนิมิต หรือว่าเป็นสิ่งที่ทำให้สติระลึกรู้ คือกาย คือเวทนา คือจิต คือธรรมแล้ว ในขณะนั้นก็จะทำให้เป็นผู้ที่ไม่หลงลืมสติได้

พระผู้มีพระภาคทรงแสดงต่อไปว่า

ภิกษุมีสติด้วยเหตุ ๔ ประการ แม้อื่นอีก คือ มีสติ เพราะความเป็นผู้ประกอบด้วยสติ ๑ เพราะถึงความชำนาญด้วยสติ ๑ เพราะความเป็นผู้คล่องแคล่วด้วยสติ ๑ เพราะไม่กลับลงจากสติ ๑

ไม่คิดที่จะออก หรือไม่คิดที่จะเลิกเจริญสติ เข้าไปแล้วไม่มีออกมา คือ ไม่กลับลงจากสติ ไม่ใช่เป็นผู้ที่เข้าแล้วก็ออก ลงเสียทีหนึ่งไม่เจริญสติ ไม่คิดที่จะเลิกเจริญสติ ความหมายของคำที่ว่า เพราะไม่กลับลงจากสติ คือ เป็นผู้ที่เจริญสติไปเรื่อยๆ

พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า

ภิกษุมีสติด้วยเหตุ ๔ ประการ แม้อื่นอีก คือ มีสติ เพราะความเป็นผู้มีสติเสมอ ๑ เพราะความเป็นผู้สงบ ๑ เพราะความเป็นผู้ระงับ ๑ เพราะความเป็นผู้ประกอบด้วยธรรมของผู้สงบ ๑

เพราะฉะนั้น ที่ว่าภิกษุมีสติด้วยเหตุ ๔ ประการ แม้อื่นอีก คือ มีสติเพราะความเป็นผู้มีสติเสมอ ๑ มีเข้ามีออกอะไรไหม มีสติเพราะความเป็นผู้มีสติเสมอ ๑ เพราะความเป็นผู้สงบ สงบจากกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต อกุศลกรรมต่างๆ เพราะความเป็นผู้ระงับจากกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต แล้วแต่ว่าจะระงับด้วยการที่จิตสงบเป็นสมาธิ หรือว่าระงับด้วยการที่เป็นผู้ที่ระลึกรู้ลักษณะของนามและรูป และเพราะความเป็นผู้ประกอบด้วยธรรมของผู้สงบ

ข้อความต่อไปมีว่า

มีสติ เพราะพุทธานุสติ เพราะธัมมานุสติ เพราะสังฆานุสติ เพราะศีลานุสติ เพราะจาคานุสติ เพราะเทวตานุสติ เพราะอานาปานสติ เพราะมรณานุสติ เพราะกายคตานุสติ เพราะอุปสมานุสติ

และอื่นๆ ต่อไป

จำกัดอะไรหรือไม่ ไม่ว่าผู้นั้นจะมีสติระลึกในพระพุทธคุณ ในพระธรรมคุณ ก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย และสติก็ระลึกรู้ลักษณะของนามของรูปในขณะนั้น เป็นสติปัฏฐานได้ ไม่ใช่จำกัดว่าอย่าระลึกถึงพระพุทธคุณ อย่าระลึกถึงศีล อย่าระลึกถึงอานาปาน คือ ลมหายใจ หรืออะไรอย่างนั้น

ไม่มีสิ่งใดที่เป็นกฎเกณฑ์ที่จะห้ามอย่างนั้นอย่างนี้ แต่เมื่อผู้ใดมีปกติ มีปัจจัยที่จะให้เป็นไปอย่างไร มีสติเกิดขึ้นแล้ว ถึงแม้ว่าในขณะนั้นไม่ใช่สติปัฏฐาน แต่เป็นผู้ที่สะสมให้พุทธานุสติเกิดขึ้น และเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐานด้วย ถึงแม้ว่าในขณะที่กำลังระลึกถึงพระพุทธคุณ สติก็ระลึกรู้ว่าเป็นนามธรรมชนิดหนึ่งได้


ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...

แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 127


เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ