พระสูตรที่จะทำให้ท่านไม่ท้อถอยที่จะเจริญสติ สุปปพุทธกุฏฐิสูตร

 
สารธรรม
วันที่  28 ก.ย. 2565
หมายเลข  44307
อ่าน  199

ขอกล่าวถึงพระสูตรที่จะทำให้ท่านไม่ท้อถอยที่จะเจริญสติ เมื่อท่านเจริญเหตุสมควรแก่ผลเมื่อไร ผลย่อมเกิดขึ้น ซึ่งไม่มีผู้หนึ่งผู้ใดจะยับยั้งได้

ขุททกนิกาย อุทาน สุปปพุทธกุฏฐิสูตร มีข้อความว่า

ข้าพเจ้า ฯ ได้สดับมาแล้วอย่างนี้ว่า

สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวัน กลันทกนิวาปสถาน ใกล้พระนครราชคฤห์ ก็สมัยนั้นแล ในพระนครราชคฤห์ มีบุรุษเป็นโรคเรื้อนชื่อว่า สุปปพุทธะ เป็นมนุษย์ขัดสน กำพร้า ยากไร้

ก็สมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคแวดล้อมไปด้วยบริษัทหมู่ใหญ่ ประทับนั่งแสดงธรรมอยู่ สุปปพุทธกุฏฐิได้เห็นหมู่มหาชนประชุมกันแต่ที่ไกลเทียว ครั้นแล้วได้มีความดำริว่า หมู่มหาชนจะแบ่งของควรเคี้ยวหรือของควรบริโภคอะไรๆ ให้ในที่นี้แน่แท้

เห็นคนมากๆ และสุปปพุทธะนี้ก็เป็นคนโรคเรื้อนด้วย เวลาที่ไปนี้คิดอะไร ต้องการอะไร เป็นโลภมูลจิตใช่ไหม อยากจะได้ของที่ควรเคี้ยว ของที่เขาจะแบ่งให้สุปปพุทธะคิดในใจว่า ไฉนหนอเราพึงเข้าไปหาหมู่ชน เราพึงได้ของควรเคี้ยว หรือของควรบริโภคในหมู่มหาชนนี้เป็นแน่

ลำดับนั้นแล สุปปพุทธกุฏฐิ ได้เข้าไปหาหมู่มหาชนนั้นแล้ว ได้เห็นพระผู้มีพระภาคแวดล้อมด้วยบริษัทหมู่ใหญ่ ประทับนั่งแสดงธรรมอยู่ ครั้นแล้วได้มีความดำริว่า หมู่มหาชนคงไม่แบ่งของควรเคี้ยวหรือของควรบริโภคอะไรๆ ให้ในที่นี้ พระสมณ-โคดมนี้ทรงแสดงธรรมอยู่ในบริษัท ถ้ากระไรแม้เราก็พึงฟังธรรม เขานั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งในบริษัทนั้นเอง ด้วยคิดว่า แม้เราก็จักฟังธรรม

ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงกำหนดใจของบริษัททุกหมู่เหล่าด้วยพระทัยแล้ว ได้ทรงกระทำไว้ในพระทัยว่า ในบริษัทนี้ ใครหนอแลควรจะรู้แจ้งธรรม พระผู้มีพระภาคได้ทรงเห็นสุปปพุทธกุฏฐินั่งอยู่ในบริษัทนั้น ครั้นแล้ว ได้ทรงพระดำริว่า ในบริษัทนี้ บุรุษนี้แลควรจะรู้แจ้งธรรม พระองค์ทรงปรารภสุปปพุทธกุฏฐิ ตรัสอนุปุพพิ-กถา คือ ทานกถา ศีลกถา สัคคกถา โทษแห่งกามอันต่ำทรามเศร้าหมอง แล้วทรงประกาศอานิสงส์ในเนกขัมมะ เมื่อใดพระผู้มีพระภาคได้ทรงทราบว่า สุปปพุทธกุฏฐิมีจิตควร อ่อน ปราศจากนิวรณ์ เฟื่องฟู ผ่องใส เมื่อนั้นพระองค์ทรงประกาศพระธรรมเทศนาที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงยกขึ้นแสดงด้วยพระองค์เอง คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ธรรมจักษุปราศจากธุลี ปราศจากมลทิน ได้เกิดขึ้นแก่สุปปพุทธกุฏฐิในที่นั่งนั้นแลว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวลล้วนมีความดับเป็นธรรมดา เหมือนผ้าที่สะอาดปราศจากมลทิน ควรรับน้ำย้อมฉะนั้น

ลำดับนั้นแล สุปปพุทธกุฏฐิมีธรรมอันเห็นแล้ว มีธรรมอันบรรลุแล้ว มีธรรมอันรู้แจ้งแล้ว มีธรรมอันหยั่งถึงแล้ว ข้ามความสงสัยได้แล้ว ปราศจากความเคลือบแคลง บรรลุถึงความเป็นผู้แกล้วกล้า ไม่เชื่อต่อผู้อื่นในศาสนาของพระศาสดา ลุกจากอาสนะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคม แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก พระผู้มีพระภาคทรงประกาศโดยอเนกปริยาย เปรียบเหมือนหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง หรือตามประทีปไว้ในที่มืด ด้วยหวังว่าผู้มีจักษุจะเห็นรูปได้ ฉะนั้น

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์นี้ขอถึงพระผู้มีพระภาคกับทั้งพระธรรมและพระภิกษุสงฆ์ว่าเป็นสรณะ ขอพระผู้มีพระภาคโปรดทรงจำข้าพระองค์ว่า เป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

ลำดับนั้นแล สุปปพุทธกุฏฐิอันพระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้เห็นแจ้ง ให้ สมาทาน อาจหาญ ร่าเริง ด้วยธัมมีกถา ชื่นชมยินดีพระภาษิตของพระผู้มีพระภาค ลุกจากอาสนะ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค กระทำปทักษิณ แล้วหลีกไป

ครั้งนั้นแล แม่โคลูกอ่อนชนสุปปพุทธกุฏฐิผู้หลีกไปไม่นานให้ล้มลง ปลงเสียจากชีวิต

ลำดับนั้นแล ภิกษุมากด้วยกันเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคม แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สุปปพุทธกุฏฐิอันพระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน อาจหาญ ร่าเริงด้วยธัมมีกถาแล้ว กระทำกาละ คติของเขาเป็นอย่างไร ภพหน้าของเขาเป็นอย่างไร พระเจ้าข้า

ฟังด้วยกันทุกคน มีใครรู้บ้างว่าสุปปพุทธกุฏฐิเป็นพระโสดาบันบุคคล ต้องทูลถาม คนอื่นรู้ได้ไหมว่า ใครกำลังเจริญสติ หรือว่าญาณขั้นไหนเกิดกับคนนั้นคนนี้ หรือว่าขณะที่ได้ฟังแล้วใครบรรลุอริยสัจธรรมเป็นพระอริยบุคคล คนอื่นไม่สามารถที่จะรู้ได้เลย

พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์ว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สุปปพุทธกุฏฐิเป็นบัณฑิต ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม

ในขณะนั้นสติจะต้องระลึกรู้ลักษณะสภาพธรรมที่กำลังปรากฏด้วย ไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ พอฟังก็เป็นพระอริยบุคคลได้

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สุปปพุทธกุฏฐิเป็นบัณฑิต ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม และไม่เบียดเบียนเราให้ลำบากเพราะธรรมเป็นเหตุ

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สุปปพุทธกุฏฐิเป็นพระโสดาบัน เพราะความสิ้นไปแห่งสังโยชน์ทั้ง ๓ มีความไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงที่จะตรัสรู้ในเบื้องหน้า

เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ภิกษุรูปหนึ่งได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อะไรหนอแล เป็นเหตุเป็นปัจจัยเครื่องให้สุปปพุทธกุฏฐิเป็นมนุษย์ขัดสน กำพร้า ยากไร้

พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์ว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีแล้ว สุปปพุทธกุฏฐิเป็นเศรษฐีบุตร อยู่ในกรุงราชคฤห์นี่แล เขาออกไปยังในภูมิเป็นที่เล่นในสวน ได้เห็นพระปัจเจกพุทธเจ้านามว่าตครสิขี กำลังเที่ยวบิณฑบาตไปในพระนคร ครั้นแล้วเขาดำริว่า ใครนี่เป็นโรคเรื้อนเที่ยวไปอยู่ เขาถ่มน้ำลาย แล้วหลีกไปข้างเบื้องซ้าย

เขาหมกไหม้อยู่ในนรก สิ้นปีเป็นอันมาก สิ้น ๑๐๐ ปี สิ้น ๑,๐๐๐ ปี สิ้น ๑๐๐,๐๐๐ ปี เป็นอันมาก เพราะผลแห่งกรรมนั้นยังเหลืออยู่ เขาจึงได้เป็นมนุษย์ขัดสน กำพร้า ยากไร้ อยู่ในกรุงราชคฤห์นี้แล เขาอาศัยธรรมวินัยที่พระตถาคตประกาศแล้ว สมาทาน ศรัทธา ศีล สุตตะ จาคะ ปัญญา ครั้นอาศัยธรรมวินัยที่พระตถาคตประกาศแล้ว สมาทาน ศรัทธา ศีล สุตตะ จาคะ ปัญญา เมื่อตายไป เขาเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เป็นผู้เข้าถึงความเป็นสหายของเหล่าเทวดาชั้นดาวดึงส์ เขาย่อมไพโรจน์ล่วงเทวดาเหล่าอื่นในชั้นดาวดึงส์นั้น ด้วยวรรณะ และด้วยยศ

ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนี้แล้ว ได้ทรงเปล่งอุทานนี้ ในเวลานั้นว่า

บุรุษผู้เป็นบัณฑิต พึงละเว้นบาปทั้งหลายในสัตว์โลก เหมือนบุรุษผู้มีจักษุ เมื่อทางอื่นที่จะก้าวไปมีอยู่ ย่อมหลีกที่อันไม่ราบเรียบเสีย ฉะนั้น

แม้ในขณะที่ฟังธรรม สติระลึกได้ไหม แต่ผู้ใดจะบรรลุหรือไม่ คนอื่นรู้หรือตัวเองรู้ สุปปพุทธกุฏฐิรู้ไหมว่า ได้ประจักษ์สภาพธรรมตามความเป็นจริง ต้องรู้แน่นอน และที่จะประจักษ์สภาพธรรมตามความเป็นจริงได้นั้น ก็หมายความว่าสติจะต้องเกิดขึ้น แม้ในขณะที่ฟังธรรม และก็มีความอาจหาญ ร่าเริง ด้วยธัมมีกถา

ทุกคนก็จะต้องตาย แม้ว่าจะไม่ถูกโคแม่ลูกอ่อนชน หรือจะถูกโคแม่ลูกอ่อนชน แต่ถ้าได้รู้แจ้งอริยสัจธรรม หรือได้เข้าใจการเจริญสติปัฏฐานถูกต้อง ก็มีโอกาสที่จะเจริญสติต่อไป และมีโอกาสที่จะรู้แจ้งสภาพธรรมในวันหนึ่งเหมือนอย่างสุปปพุทธกุฏฐิ ซึ่งรู้แจ้งอริยสัจธรรมในชาติที่เป็นคนโรคเรื้อน ขัดสน กำพร้า ไร้ทรัพย์


ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...

แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 128


เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ