ยังมีคนที่เข้าใจการอบรมอินทรีย์ผิด
มีข้อความในพระสูตรหนึ่ง ซึ่งแสดงให้เห็นชัดเจนถึงการเจริญสติปัฏฐานเป็นปกติในชีวิตประจำวัน ซึ่งไม่มีวิธีอื่นที่จะไปกล่าวอ้างว่าจะต้องทำอย่างนั้น จะต้องทำอย่างนี้ ให้ผิดไปจากชีวิตปกติประจำวัน
มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ อินทริยภาวนาสูตร มีข้อความว่า
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่ป่าไผ่ ในนิคมชื่อกัชชังกลา ครั้งนั้น อุตตรมาณพ ศิษย์พราหมณ์ปาราสิริยะ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ พระผู้มีพระภาคตรัสถามอุตตรมาณพว่า
ปาราสิริยพราหมณ์ แสดงการเจริญอินทรีย์แก่สาวกหรือเปล่า
การเจริญอินทรีย์นี้ หมายความถึงศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา ซึ่งจะต้องอบรมให้แก่กล้า เพื่อจะได้รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง เมื่อมีเจ้าสำนักมากมายหลายแห่ง และอุตตรมาณพซึ่งเป็นศิษย์ของพราหมณ์ปาราสิริยะได้ไปเฝ้า พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคก็ได้ทรงอนุเคราะห์เกื้อกูลด้วยการถามว่า ปาราสิริยพราหมณ์แสดงการเจริญอินทรีย์แก่สาวกหรือไม่
อุตตรมาณพก็กราบทูลว่า
ปาราสิริยพราหมณ์แสดงการเจริญอินทรีย์แก่สาวก
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า
ปาราสิริยพราหมณ์แสดงการเจริญอินทรีย์อย่างไร ด้วยประการใด
อุตตรมาณพก็ได้กราบทูลว่า
ปาราสิริยพราหมณ์แสดงการเจริญอินทรีย์แก่สาวกทั้งหลายอย่างนี้ว่า อย่าเห็นรูปด้วยจักษุ อย่าได้ยินเสียงด้วยโสต
กั้นไว้อีกแล้ว ไม่ให้เห็น ไม่ให้ได้ยิน คิดว่าเป็นวิธีหนึ่งซึ่งจะอบรมอินทรีย์
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร อุตตระ เมื่อเป็นเช่นนี้ คนที่เจริญอินทรีย์แล้วตามคำของปาราสิริยพราหมณ์ ต้องเป็นคนตาบอด ต้องเป็นคนหูหนวก เพราะคนตาบอดไม่เห็นรูปด้วยจักษุ คนหูหนวกไม่ได้ยินเสียงด้วยโสต
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสแล้วอย่างนี้ อุตตรมาณพศิษย์ปาราสิริยพราหมณ์นั่งนิ่ง เก้อเขิน คอตก ก้มหน้า ซบเซา หมดปฏิภาณ
แสดงให้เห็นว่า ถึงแม้ในครั้งพุทธกาลซึ่งพระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน ก็ยังมีคนที่เข้าใจการอบรมอินทรีย์ผิด ถ้าเป็นผู้ที่สนใจในการอบรมศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญาจริงๆ ก็กราบทูลถามได้ เพื่อจะได้ประพฤติให้สมควรแก่ผลที่จะได้รู้แจ้งอริยสัจธรรม
ครั้นแล้วพระผู้มีพระภาคได้รับสั่งกับท่านพระอานนท์ว่า
ปาราสิริยพราหมณ์ย่อมแสดงการเจริญอินทรีย์แก่สาวกทั้งหลายอย่างหนึ่ง ส่วนการเจริญอินทรีย์อันไม่มีวิธีอื่นยิ่งกว่าในวินัยของพระอริยะ ย่อมเป็นอีกอย่างหนึ่ง
ขอให้ท่านพิจารณาข้อความที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ส่วนการเจริญอินทรีย์อันไม่มีวิธีอื่นยิ่งกว่าในวินัยของพระอริยะ ย่อมเป็นอีกอย่างหนึ่ง
แสดงว่า ถ้าเป็นวิธีอื่นแล้วไม่สามารถที่จะทำให้รู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ พระองค์ได้ทรงแสดงการเจริญอินทรีย์อันไม่มีวิธีอื่นยิ่งกว่า ถ้าจะมีบุคคลหนึ่งบุคคลใดกล่าวค้านการเจริญสติปัฏฐาน ไม่ตรงตามที่ได้ทรงแสดงไว้ ผู้นั้นย่อมเข้าใจว่า มีการเจริญอบรมวิธีอื่นยิ่งกว่าวิธีที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงไว้แล้ว
ท่านพระอานนท์ทูลว่า
ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้สุคต เป็นกาลสมควรแล้วที่พระผู้มีพระภาคจะทรงแสดงการเจริญอินทรีย์อันไม่มีวิธีอื่นยิ่งกว่าในวินัยของพระอริยะ ภิกษุทั้งหลายฟังต่อพระผู้มีพระภาคแล้ว จักทรงจำไว้
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร อานนท์ ถ้าเช่นนั้นเธอจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าวต่อไป
ท่านพระอานนท์ทูลรับพระผู้มีพระภาคว่า
ชอบแล้ว พระพุทธเจ้าข้า
พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสดังนี้ว่า
ดูกร อานนท์ ก็การเจริญอินทรีย์อันไม่มีวิธีอื่นยิ่งกว่าในวินัยของพระอริยะ เป็นอย่างไร
ดูกร อานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เกิดความชอบใจ ความไม่ชอบใจ ทั้ง ความชอบใจและความไม่ชอบใจขึ้น เพราะเห็นรูปด้วยจักษุ เธอรู้ชัดอย่างนี้ว่า เราเกิดความชอบใจ ความไม่ชอบใจ ทั้งความชอบใจและไม่ชอบใจขึ้นแล้วเช่นนี้ ก็สิ่งนั้นแล เป็นสังขตะหยาบ อาศัยกันเกิดขึ้น ยังมีสิ่งซึ่งละเอียดประณีต นั่นคือ อุเบกขา เธอจึงดับความชอบใจ ความไม่ชอบใจ ทั้งความชอบใจและไม่ชอบไจ อันเกิดขึ้นแล้วนั้นเสีย อุเบกขาจึงดำรงมั่น
ดูกร อานนท์ ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง ดับความชอบใจ ความไม่ชอบใจ ทั้งความชอบใจและไม่ชอบใจอันเกิดขึ้นแล้วอย่างนี้ ได้เร็วพลันทันทีโดยไม่ลำบาก เหมือนอย่างบุรุษมีตาดีกระพริบตา ฉะนั้น อุเบกขาย่อมดำรงมั่น
ดูกร อานนท์ นี้เราเรียกว่า การเจริญอินทรีย์ในรูปที่รู้ได้ด้วยจักษุอย่างไม่มีวิธีอื่นยิ่งกว่าในวินัยของพระอริยะ
ถ้าท่านสังเกตข้อความว่า ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งดับความชอบใจ ความไม่ชอบใจ ทั้งความชอบใจและไม่ชอบใจอันเกิดขึ้นแล้วอย่างนี้ ได้เร็วพลันทันทีโดยไม่ลำบากเกิดขึ้นแล้ว ไม่ใช่ไปพยายามไม่ให้เกิด ถ้าไปพยายามไม่ให้เกิด ไม่ใช่การเจริญสติ ไม่ใช่การเจริญปัญญา
และที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า นี้เราเรียกว่า การเจริญอินทรีย์ในรูปที่รู้ได้ด้วยจักษุอย่างไม่มีวิธีอื่นยิ่งกว่าในวินัยของพระอริยะ เพราะฉะนั้น ถ้าใครจะให้กั้นไว้ ก็ไม่ตรงตามที่ได้ทรงแสดงไว้ ทั้งความชอบใจ ทั้งความไม่ชอบใจ ไม่ใช่ให้เจาะจงเลือกว่าจะระลึกรู้เฉพาะความชอบใจ คือ โลภะ ถึงแม้ความไม่ชอบใจเป็นของจริงเกิดขึ้น สติก็ระลึกรู้ด้วย จึงจะสามารถดับความชอบใจ ความไม่ชอบใจได้โดยเร็วพลันทันทีโดยไม่ลำบากเพราะสติเกิดขึ้น ถ้าสติไม่เกิดขึ้น ความชอบใจก็ต่อไปอีกนาน ความไม่ชอบใจก็ต่อไปอีกนาน แต่เพราะเหตุว่าสติเกิดขึ้น ก็สามารถที่จะดับความชอบใจ ความไม่ชอบใจได้เร็วพลันทันทีโดยไม่ลำบาก
สำหรับทางตาเป็นการเห็น พระผู้มีพระภาคก็ได้ทรงอุปมาว่า เหมือนอย่างบุรุษมีตาดีกระพริบตาฉะนั้น
สติไวไหม เร็วไหมที่จะต้องระลึกรู้ เพราะความชำนาญ ถ้าไม่ชำนาญก็มีความพอใจ ความชอบใจ ความไม่ชอบใจ วันหนึ่งๆ ไหลไปมากขึ้นเรื่อยๆ โดยที่สติไม่ระลึกรู้ แต่ผู้ใดที่อบรมเจริญสติเป็นปกติ จนกระทั่งมีความชำนาญ เวลาที่ความชอบใจเกิดขึ้น ก็สามารถระลึกรู้ได้โดยเร็วพลันทันทีโดยไม่ลำบาก อุปมาเหมือนคนตาดีที่กระพริบตาฉะนั้น
ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...