พระผู้มีพระภาคทรงอุปมาการเจริญอินทรีย์ทางหู จมูก ลิ้น กาย ใจ
สำหรับทางหู ก็โดยนัยเดียวกัน พระผู้มีพระภาคทรงอุปมาว่า
ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง ดับความชอบใจ ความไม่ชอบใจ ทั้งความชอบใจและความไม่ชอบใจอันเกิดขึ้นแล้วอย่างนี้ ได้เร็วพลันทันทีโดยไม่ลำบาก เหมือนอย่างบุรุษมีกำลัง ดีดนิ้วมือโดยไม่ลำบากฉะนั้น
สำหรับทางจมูกทรงอุปมาว่า
ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง ดับความชอบใจ ความไม่ชอบใจ ทั้งความชอบใจและไม่ชอบใจอันเกิดขึ้นแล้วอย่างนี้ ได้เร็วพลันทันทีโดยไม่ลำบาก ทรงอุปมาเหมือนอย่างหยาดน้ำกลิ้งไปบนใบบัว ย่อมไม่ติดในที่ๆ กลิ้งไปสักน้อยหนึ่งฉะนั้น
สำหรับทางลิ้น พระผู้มีพระภาคทรงอุปมาว่า
ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง ดับความชอบใจ ความไม่ชอบใจ ทั้งความชอบใจและไม่ชอบใจอันเกิดขึ้นแล้วอย่างนี้ ได้เร็วพลันทันทีโดยไม่ลำบาก เหมือนอย่างบุรุษมีกำลัง ตะล่อมก้อนเขฬะไว้ตรงปลายลิ้น แล้วถ่มไปโดยไม่ลำบากฉะนั้น
ถ้าเป็นพระดำรัสโดยตรง จะไม่มีเลยที่จะให้กั้นไว้ คือ ทั้งความชอบใจและไม่ชอบใจอันเกิดขึ้นแล้ว ก็ให้สติระลึกรู้ แล้วก็ดับได้โดยเร็วพลันทันทีโดยไม่ลำบาก
สำหรับทางกาย พระผู้มีพระภาคทรงอุปมาว่า
เหมือนอย่างบุรุษมีกำลัง เหยียดแขนที่คู้ หรือคู้แขนที่เหยียด โดยไม่ลำบาก ฉะนั้น
สำหรับทางใจ ทรงอุปมาว่า
เหมือนบุรุษมีกำลัง หยัดหรือสบัดหยาดน้ำ ๒ หรือ ๓ หยาด ลงในกระทะเหล็กที่ร้อนจัดตลอดวัน ความหยัดลง คือ ความตกลงแห่งหยาดน้ำยังช้า ทันทีนั้นหยาดน้ำนั้นจะถึงความสิ้นไป แห้งไปเร็วทีเดียวฉะนั้น
ข้อความที่ได้กล่าวถึงเป็นตอนต้นใน อินทรียภาวนาสูตร
ข้อความต่อไปมีว่า
พระเสขะผู้ยังปฏิบัติอยู่ เมื่อเกิดความชอบใจ ไม่ชอบใจ ย่อมอึดอัดเบื่อหน่าย เกลียดชังความชอบใจความไม่ชอบใจนั้น แต่พระอริยะผู้เจริญอินทรีย์แล้ว ย่อมเป็นผู้วางเฉยในสิ่งนั้นๆ อยู่อย่างมีสติสัมปชัญญะได้
แสดงให้เห็นว่า การเจริญสติปัฏฐานจะต้องเจริญมากมายสักเพียงใด จะต้องรู้ทั่วจริงๆ ปกติจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นกาย เป็นเวทนา เป็นจิต ก็ข้ามไม่ได้ ถ้าไม่ระลึก ไม่มีทางที่จะรู้ชัด
ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...