เห็นประโยชน์ของการมีเมตตา
การอบรมเจริญเมตตา ต้องเริ่มจากเป็นผู้ที่ใคร่ (ฉันทะ) ที่จะอบรมเจริญเมตตา ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้น ซึ่งต้องเป็นเรื่องของปัญญาที่เห็นประโยชน์ของการมีเมตตา ถ้าเราไม่เห็นประโยชน์ว่าควรมีเมตตา ก็จะไม่เริ่มที่จะมีเมตตากับบุคคลต่างๆ เลย ค่อยๆ อบรมจากบุคคลที่เป็นที่เคารพ เช่น อาจารย์ ก่อน เมตตาย่อมเกิดได้ง่ายกว่าบุคคลอื่น สำหรับบุคคลที่ยังไม่ค่อยมีเมตตา เท่าไหร่ ก็เริ่มจากบุคคลที่ควรเคารพนับถือครับ จนเมตตามีกำลัง ก็สามารถมีเมตตาแม้แต่คนที่เขาไม่ชอบเรา หรือทำความเสียหายกับเราก็มีเมตตากับเขาได้
แต่ประการที่สำคัญที่สุดคือ ต้องเริ่มเห็นประโยชน์ว่าควรมีเมตตากัน (ฉันทะ) ตรงนี้แหละ จะเป็นจุดเริ่มต้นให้มีเมตตามากขึ้น จนถึงอัปมัญญา (ไม่เจาะจง ไม่มีประมาณ) ใครจะทำอะไรกับเรา ไม่เป็นไร แต่เราควรให้คนนั้นมีความสุขด้วยการกระทำของเรา
"ใครจะทำอะไรกับเรา ไม่เป็นไร แต่เราควรให้คนนั้นมีความสุขด้วยการกระทำของเรา" คือ การอ่อนน้อมถ่อมตน มีเมตตานั่นเองครับ ดังที่ท่านพระสารีบุตรเปรียบตัวท่านเองว่า เป็นเหมือนกับผ้าเช็ดธุลี แม้ท่านจะเป็นถึงอัครสาวกผู้เลิศด้านปัญญาด้วยบำเพ็ญบารมีมานาน แต่ท่านก็ยังเป็นผู้ที่อ่อนน้อมถ่อมตนอย่างมากต่อทุกๆ คนในสมัยนั้น แม้จะมีใครมาลองดีในความเป็นพระอรหันต์โดยการทำร้ายร่างกายท่าน ท่านก็ไม่โกรธเคือง แต่ปุถุชนอย่างเรายังสามารถจะเป็นไม่ถึงขั้นนั้นได้ ถ้าตอนนี้เรายังเป็นเหมือนผ้าไหมกาสีสวยๆ อยู่ ไม่มีฉันทะที่จะยอมโดนเอาไปเช็ดของสกปรกเกินไป ก็ควรจะมีฉันทะยอมโดนเช็ดทั้งของที่สะอาดบ้าง และของที่สกปรกไม่มากบ้าง ให้ได้ทีละน้อยๆ ไปก่อน สักวันก็จะเป็นเหมือนผ้าเช็ดธุลีดังท่านพระสารีบุตรเอง ซึ่งก็ต้องอดทนจริงๆ
ขออนุโมทนา
ถ้าวันนี้ผ้าไหมจะเริ่มเป็นผ้าเช็ดธุลีได้บ้างแล้วสำหรับสหายธรรมทุกท่าน
ขณะใดที่เราคิดถึงคนที่เขาเคยทำให้เราไม่ชอบใจ หรือคนนั้นเป็นคนไม่ดีหลายอย่างเราก็มีเมตตาได้ อภัยให้ได้ ช่วยเขาทุกทางที่จะให้เขาตั้งตนใหม่ได้ นั่นคือ เมตตา เมตตาคือความรู้สึกที่เป็นมิตรด้วยใจจริงค่ะ
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
ขอให้ทุกท่าน เริ่มเห็นประโยชน์ แม้การมีเมตตากัน ไม่ประมาทแม้กุศลมีประมาณน้อย และเมตตาก็เป็นบารมีหนึ่ง ในบารมี ๑๐ อบรมได้ ด้วยการฟังพระธรรมและมีความพอใจ ฉันทะที่จะอบรมอันเป็นจุดเริ่มที่จะมีเมตตา ขาดบารมี ๑๐ ก็ไม่ถึงฝั่ง คือพระนิพพาน เริ่มกันเถอะนะ
ขออุทิศกุศลให้สรรพสัตว์
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
เรื่อง พระสารีบุตรถูกตี แต่ ...
[เล่มที่ 43] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท
เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้าที่ 437
ข้อความบางตอนจาก
เรื่องพระสารีบุตรเถระ
พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภพระสารีบุตรเถระ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "น พฺราหฺมณสฺส" เป็นต้น.
พระเถระถูกพราหมณ์ตี
ได้ยินว่า มนุษย์เป็นอันมากในที่แห่งหนึ่ง กล่าวคุณกถาของพระเถระว่า "น่าชม พระผู้เป็นเจ้าของพวกเรา ประกอบแล้วด้วยกำลังคือขันติ เมื่อชนเหล่าอื่นด่าอยู่ก็ตาม ประหารอยู่ก็ตาม แม้เหตุสักว่าความโกรธ ย่อมไม่มี"
ครั้งนั้น พราหมณ์มิจฉาทิฏฐิคนหนึ่ง ถามว่า " ใครนั่น ไม่โกรธ"
พวกมนุษย์ พระเถระของพวกฉัน
พราหมณ์ บุคคลผู้ยั่วให้ท่านโกรธ จักไม่มีกระมัง
พวกมนุษย์ พราหมณ์ ข้อนั้น หามีไม่
พราหมณ์ ถ้าเช่นนั้น เราจักยั่วให้ท่านโกรธ.
พวกมนุษย์ ถ้าท่านสามารถไซร้ ก็จงยั่วให้พระเถระโกรธเถิด
พราหมณ์นั้น คิดว่า "เอาละ เราจักรู้กิจที่ควรทำ" ดังนี้แล้ว เห็นพระเถระเข้าไปเพื่อภิกษา จึงเดินไปโดยส่วนข้างหลัง ได้ให้การประหารด้วยฝ่ามืออย่างแรงที่กลางหลัง
พระเถระมิได้คำนึงถึงเลยว่า "นี่ชื่ออะไรกัน" เดินไปแล้ว ความเร่าร้อนเกิดขึ้นทั่วสรีระของพราหมณ์. เขาตกลงใจว่า "แหมพระผู้เป็นเจ้าสมบูรณ์ด้วยคุณ" ดังนี้แล้ว หมอบลงแทบเท้าของพระเถระ เรียนว่า "ขอท่านจงอดโทษแก่กระผมเถิด ขอรับ" เมื่อพระเถระกล่าวว่า "นี่ อะไรกัน" จึงเรียนว่า "กระผมประหารท่านเพื่อประสงค์จะทดลองดู"
พระเถระกล่าวว่า "ช่างเถิด เราอดโทษให้ท่าน"
พราหมณ์จึงเรียนว่า "ท่านผู้เจริญ ถ้าท่านอดโทษให้กระผมไซร้" ก็ขอจงนั่งรับภิกษาในเรือนของกระผมเถิด" ดังนี้แล้ว ได้รับบาตรของพระเถระ ฝ่ายพระเถระได้ให้บาตรแล้ว.พราหมณ์นำพระเถระไปเรือนอังคาสแล้ว.
ขออุทิศกุศลให้สรรพสัตว์
เห็นประโยชน์ของเมตตาอย่างยิ่งค่ะ แต่ทำไมต้องมีเหตุให้รู้สึกว่าขาดเมตตาเสมอ เช่น อบรมคน รู้ทั้งรู้ก็ยังอบรมด้วยอารมณ์โกรธ วาจาก็ไม่งาม แม้ไม่มีคำหยาบแต่ถ้อยคำก็รุนแรง ตัวเราก็รู้สึกหยาบ คนฟังก็รู้สึกแรงแล้วต้องมานั่งละอาย และเสียใจ เช่นนี้เกิดบ่อย รู้สึกเหนื่อยและเสียใจมาก แต่ไม่หลาบจำ มีเหตุอีกก็ทำอีก
อนุโมทนาต่อทุกท่านที่แสดงความคิดเห็นค่ะ
อยากจะมีเมตตาให้กับคนที่เราคิดว่าเขาทำร้ายเราให้เหมือนกับตอนที่ยังไม่โกรธเคืองกัน เช่นนี้ แต่ขณะนี้เหตุการณ์ไกลเกินกว่าที่จะดีกันได้ดังเดิม ไม่ทราบว่าเขาทุกข์ร้อนหรือเปล่า แต่เรารุ่มร้อนมากที่มีความโกรธ และคิดว่าเมตตาจะช่วยจิตใจในขณะนื้ได้ (เราเองก็ไม่มั่นใจว่าสิ่งที่เรารับรู้มาว่าเขาทำร้ายเราเป็นความจริงหรือไม่ แต่ต่างฝ่ายต่างต่อว่ากันด้วยถ้อยคำที่ผู้ถือศีลไม่ควรกล่าว)
รูปธรรมนามธรรมที่ดับไปแล้ว เป็นของใคร? ไม่เป็นของใครใช่ไหมครับ ไม่ใช่ตัวตนด้วย ทั้งๆ ที่สภาพนามธรรมที่คิด เกิดขึ้นตั้งอยู่แล้วก็ดับไป เร็วยิ่งกว่าเสี้ยววินาที แต่กระนั้นเราก็ยังเก็บมาคิด คิดแล้วคิดอีกจนดูเหมือนจะคิดต่อกันเป็นเรื่องราว ยาวเป็นวันเป็นเดือน เป็นปี บางท่านก็อาจจะยาวจนถึงวันที่จะจากโลกนี้ไปก็เป็นได้
"มีสักครั้งไหมที่สติเกิดคั่นกระแสของบัญญัติ โดยมีปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์สักขณะทางทวารใดทวารหนึ่ง โดยที่ไม่ได้ไปเลือก หรือตั้งใจที่จะให้สติเกิด"
ท่านเคยแปลกใจไหมว่า การฟังพระธรรมและน้อมเข้ามาพิจารณา จนเกิดความเข้าใจของท่านเองในระดับหนึ่ง ได้ช่วยให้ "ความรักรุนแรง" หรือ "ความโกรธเกลียดชิงชัง" ที่เคยเกิดกับท่านในอดีตเบาบางลงไปได้มาก รวมทั้งความต้องการที่จะให้ใครมารักท่าน เชิดชูท่าน สรรเสริญคุณงามความดีของท่าน ก็น้อยลงเช่นกัน หรือ การคิดสงสัยว่าใครจะคิดอกุศลกับท่านอยู่ ขณะนี้ก็จะเป็นเพียงสิ่งที่ผ่านเข้ามาแล้วก็ผ่านไป ไม่สามารถเป็นเหตุให้ท่านเกิดความโศก ร่ำไรรำพัน ถึงการกระทำที่ไม่ควรในอดีตมากเท่าแต่ก่อน
ไม่ควรแปลกใจเลย เพราะไม่ใช่ท่านแน่นอน ที่ไปทำอะไรกับเหตุปัจจัยที่ปรุงแต่ง แต่ที่ถูกคือ เป็น "ปัญญา" ที่ได้ละคลายความเป็น "ตัวตน" ที่ท่านเคยรักนักรักหนา และหลงยึดถือมานานว่าเป็นของเรา ไม่ใช่ของใคร ปัญญานั้นแหละที่ทำให้ท่านมีความมั่นคงในธรรมยิ่งขึ้น และปัญญาอีกนั้นแหละที่จะนำพาท่านออกจากอภิชฌา โทมนัส และอกุศลธรรมอันลามกทุกประการได้ เมื่อเหตุมีแล้ว ผลก็ย่อมจะต้องมีในภายหน้าโดยที่ไม่ต้องหวังที่จะให้เกิดหรือไม่ให้เกิดตามใจตน ถึงกระนั้นก็ยังเป็นจิรกาลภาวนาจริงๆ พึงอดทนพากเพียรเพราะขันธ์ ๕ นี้ มีไว้ก็เพียงเพื่อให้ท่านได้ศึกษาถึงสภาพธรรมเท่านั้น
ชีวิตแสนจะสั้นเพียงชั่วขณะจิตเดียว ควรไหมกับการเสียเวลาโกรธใคร ทั้งๆ ที่เขาก็ไม่ได้มีสภาพที่ปรากฏ ในขณะที่จิตของท่านมีเพียงบัญญัติเป็นอารมณ์
ขออนุโมทนาค่ะ
ความโกรธเป็นโทษ เมตตาเป็นประโยชน์ แต่ดิฉันก็มักหลงลืมสติโกรธอยู่บ่อยๆ ค่ะ
ขออนุโมทนาและขอบพระคุณทุกท่านค่ะ โดยเฉพาะ ajarnkruo จะอ่านข้อความของท่านจนกว่าจะเข้าใจค่ะ
ถ้าโลกเราขาดเมตตา โลกนี้คงร้อนเป็นไฟ เพราะไฟคือโลภะ ไฟคือโทสะ ไฟคือโมหะ เพราะฉะนั้น เมตตาจึงเป็นเครื่องค้ำจุนโลก ค่ะ
สาระสำคัญ
การอบรมเจริญเมตตานั้นจะเป็นไปได้เมื่อรู้ ... ลักษณะของเมตตา คือ ไมตรี
ความรู้สึกเป็นมิตร ความสนิทสนม ความเกื้อกูล ความนำประโยชน์สุขมาให้ ขณะใดที่เมตตาเกิด ขณะนั้นจิตอ่อนโยนปราศจากมานะซึ่งเป็นสภาพธรรมที่ยกตน สำคัญตน และข่มบุคคลอื่น การอบรมเจริญเมตตาจริงๆ นั้น จะขัดเกลาอกุศลธรรมหลายอย่าง ปกติอาจจะไม่รู้สึกตัวว่ามีมานะ อิสสา มัจฉริยะ โทสะและอกุศลธรรมอื่นๆ มากน้อยแค่ไหน เมื่ออบรมเจริญเมตตาขึ้น อกุศลธรรมเหล่านั้นก็จะละคลายลงน้อยไปด้วย
หนังสือเล่มนี้ คุณWannee.s ให้มา ดีมากๆ อ่านแล้วยิ้ม เวลาหลับก็ฝันดีคะ