การเจริญสติปัฏฐานรู้สภาพธรรมทุกอย่างตามปกติในชีวิตประจำวัน

 
สารธรรม
วันที่  28 ก.ย. 2565
หมายเลข  44330
อ่าน  203

ก่อนที่จะกล่าวถึงจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานประการต่อไป เพื่อไม่ข้ามการพิจารณาจิต บางท่านคิดว่า การเจริญสติปัฏฐานนั้น บิณฑบาตไม่ได้ ถ้าเข้าใจอย่างนั้นจะไม่ตรงกับพระธรรมวินัยเลย ซึ่งตามพระธรรมวินัยแล้ว การเจริญสติปัฏฐานเป็นการรู้สภาพธรรมทุกอย่างตามปกติในชีวิตประจำวัน

มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ ปิณฑปาตปาริสุทธิสูตร ข้อ ๘๓๗ มีข้อความว่า

ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับ ณ พระวิหารเวฬุวัน เขตพระนครราชคฤห์ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมแก่ท่านพระสารีบุตร ซึ่งมีข้อความว่า

ภิกษุนั้นพึงพิจารณาดังนี้ว่า เราเข้าไปบิณฑบาตยังบ้านทางใด เที่ยวบิณฑบาตไปในประเทศใด และกลับจากบิณฑบาตแต่บ้านทางใด ในทางและประเทศนั้นๆ เรามีความพอใจ หรือความกำหนัด หรือความขัดเคือง หรือความลุ่มหลง หรือแม้ความกระทบกระทั่งทางใจในรูปที่รู้ได้ด้วยจักษุบ้างไหม ในเสียงที่รู้ได้ด้วยโสตะ ในกลิ่นที่รู้ได้ด้วยฆานะ ในรสที่รู้ได้ด้วยชิวหา ในโผฏฐัพพะที่รู้ได้ด้วยกาย ในธรรมารมณ์ที่รู้ได้ดัวยมโนบ้างไหม

ถ้าพิจารณาอยู่ รู้อยู่อย่างนี้ว่า มีความพอใจ หรือความกำหนัด หรือความขัดเคือง หรือความลุ่มหลง หรือแม้ความกระทบกระทั่งทางใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ภิกษุนั้นพึงพยายามละอกุศลธรรมอันลามกนั้นเสีย แต่ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่ รู้อย่างนี้ว่า ไม่มีความพอใจ หรือความกำหนัด หรือความขัดเคือง หรือความลุ่มหลง หรือแม้ความกระทบกระทั่งทางใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ภิกษุนั้นพึงเป็นผู้ศึกษาเนืองๆ ทั้งกลางวันและกลางคืนในกุศลธรรมทั้งหลาย อยู่ได้ด้วยปีติ และปราโมทย์นั้น นั่นแล

ไม่ว่าพระภิกษุจะบิณฑบาตในทางใด ในประเทศใด ย่อมเป็นผู้พิจารณาอยู่ รู้อย่างนี้ว่า มีความพอใจ หรือความไม่พอใจ หรือความขัดเคืองที่เกิดจากทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจหรือไม่ ถ้ามี ก็เป็นผู้ที่เพียรพยายามละด้วยการเจริญสติ ถ้าไม่เจริญสติก็ละไม่ได้ หรือถ้าไม่มี ภิกษุนั้นพึงเป็นผู้ศึกษาเนืองๆ ทั้งกลางวันและกลางคืนในกุศลธรรมทั้งหลาย อยู่ได้ด้วยปีติ และปราโมทย์นั้น นั่นแล

ในกุศลธรรมทั้งหลาย แสดงให้เห็นว่า แล้วแต่อัธยาศัยจริงๆ ไม่มีการกะเกณฑ์เป็นกฎว่า จะต้องให้ทำอย่างนั้น หรือจะต้องทำอย่างนี้ เป็นผู้ที่ศึกษาเนืองๆ ทั้งกลางวันและกลางคืนในกุศลธรรมทั้งหลาย

ข้อความต่อไปพระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร สารีบุตร ประการอื่นยังมีอีก ภิกษุพึงพิจารณาดังนี้ว่า เราละกามคุณ ๕ ได้แล้วหรือหนอ

ดูกร สารีบุตร ถ้าภิกษุพิจารณารู้อย่างนี้ว่า เรายังละกามคุณ ๕ ไม่ได้เลย ภิกษุนั้นพึงพยายามละกามคุณ ๕

ดูกร สารีบุตร แต่ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่อย่างนี้ว่า เราละกามคุณ ๕ ได้แล้ว ภิกษุนั้นพึงเป็นผู้ศึกษาเนืองๆ ทั้งกลางวันและกลางคืนในกุศลธรรมทั้งหลาย อยู่ด้วยปีติ และปราโมทย์นั้น นั่นแล

การเจริญสติปัฏฐานต้องพิจารณามาก เมื่อสติระลึกรู้ลักษณะของนามของรูปแล้ว ยังเป็นผู้ที่รู้จักตัวเองถูกต้องชัดเจนตามความเป็นจริงว่า เป็นผู้ที่ละกามคุณ ๕ แล้วหรือยัง เมื่อเป็นผู้ที่ยังไม่ละ ก็จะต้องพยายามละกามคุณ ๕ แต่ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่อย่างนี้ว่า เราละกามคุณ ๕ ได้แล้ว ภิกษุนั้นพึงเป็นผู้ศึกษาเนืองๆ ทั้งกลางวันและกลางคืนในกุศลธรรมทั้งหลาย อยู่ด้วยปีติ และปราโมทย์นั้น นั่นแล

ข้อความต่อไปมีว่า

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ภิกษุพึงพิจารณาดังนี้ว่า เราละนิวรณ์ ๕ ได้แล้วหรือหนอ

การละในพระพุทธศาสนานั้น ไม่ใช่ละเพียงแค่ชั่วครู่ชั่วยาม แต่ละเป็นสมุจเฉท เพราะเหตุว่านิวรณ์คืออกุศลธรรม อกุศลจิตที่จะหมดสิ้นหรือดับได้จริงๆ ก็ด้วยการเจริญสติปัฏฐาน ไม่ใช่เพียงระงับยับยั้งไว้ด้วยการเจริญสมาธิเท่านั้น

ต่อไป พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ภิกษุพึงพิจารณาดังนี้ว่า เรากำหนดรู้อุปาทานขันธ์ ๕ ได้แล้วหรือหนอ

ทรงเตือนอยู่ตลอดเวลาให้รู้จักความจริง ไม่ใช่ให้หลงเข้าใจผิด เพราะเหตุว่าต้องระลึกเนืองๆ ว่า ละกามคุณ ๕ ได้แล้วหรือยัง เมื่อยังละไม่ได้ก็ต้องรู้ และนิวรณ์ ๕ ละได้แล้วหรือยัง ก็ต้องรู้ตามความเป็นจริง และที่จะละนิวรณ์ ๕ ได้นั้น โดยไม่รู้อุปาทานขันธ์ ๕ ละไม่ได้แน่ จึงได้ตรัสว่า ภิกษุพึงพิจารณาดังนี้ว่า เรากำหนดรู้อุปาทานขันธ์ ๕ ได้แล้วหรือหนอ

ทรงโอวาทมาถึงพุทธบริษัทสมัยนี้ด้วย ที่จะให้รู้ตามความเป็นจริงว่า รู้อุปาทานขันธ์ ๕ แล้วหรือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณที่มีอยู่เป็นประจำ รู้หรือยัง ถ้ายังไม่รู้ ก็เพียรพยายามที่จะรู้


ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...

แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 130


เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ