ทรงแสดงโลภมูลจิตไว้ถึง ๘ ดวง

 
สารธรรม
วันที่  29 ก.ย. 2565
หมายเลข  44349
อ่าน  172

ในปริยัติได้ทรงแสดงโลภมูลจิตไว้ถึง ๘ ดวง

ดวงที่ ๑ คือ โสมนสฺสสหคตํ ทิฏฐิคตสมฺปยุตฺตํ อสงฺขาริกํ หมายความถึงสภาพจิตที่มีความยินดีต้องการ เกิดพร้อมกับโสมนัสเวทนา เป็นไปกับความเห็นผิด และเป็นลักษณะของโลภมูลจิตที่มีกำลังด้วย กล่าวคือ ได้เหตุได้ปัจจัยที่แก่กล้า จึงเกิดขึ้นได้ตามลำพังตนเองโดยไม่ต้องอาศัยการชักชวน การลังเลใดๆ ทั้งสิ้น

โลภทิฏฐิสัมปยุตต์มี ๔ ดวง เป็นโสมนัสเวทนา ๒ ดวง เป็นอุเบกขาเวทนา ๒ ดวง

โสมนัสเวทนา ๒ ดวง คือ เป็นอสังขาริก มีกำลังแรงกล้าด้วยตนเอง ๑ ดวง เป็นสสังขาริก คือ อาศัยการชักจูง ๑ ดวง

ส่วนอุเบกขาก็เหมือนกัน เวลาที่เกิดพร้อมกับความเห็นผิดแล้วก็มีกำลังกล้า ๑ ดวง และอาศัยการชักจูงอีก ๑ ดวง

ทิฏฐิเจตสิก หรือความเห็นผิดในสภาพธรรมมีมากมายต่างๆ กันออกไป ที่ได้ทรงแสดงไว้ในพระไตรปิฎกนั้นก็มีมาก แต่ก็ยังมีความเห็นผิดสำหรับผู้ที่แม้ว่าจะได้ศึกษาปริยัติแล้ว

โดยการศึกษา ปริยัติมีแต่ปรมัตถธรรม คือ สภาพที่เป็นจิตปรมัตถ์ เป็นเจตสิกปรมัตถ์ เป็นรูปปรมัตถ์ เป็นนิพพานปรมัตถ์ ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล มีแต่จิต เจตสิก รูป เป็นปรมัตถธรรมที่มีการเกิดขึ้นและดับไป แล้วก็มีนิพพานปรมัตถ์ ๔ ปรมัตถ์เท่านั้น

เพราะฉะนั้น จะกล่าวว่าผู้ที่ศึกษาเข้าใจในเรื่องของปรมัตถธรรม เรื่องของจิต เจตสิก รูป นิพพานแล้ว ไม่มีสักกายทิฏฐิ หรือว่า ไม่มีความเห็นผิดได้ไหม ก็ไม่ได้ เพราะนั่นเป็นเรื่องความเข้าใจในขณะที่เรียน แต่เวลาที่กำลังเห็น เป็นอย่างที่เรียนไหม

เวลาเรียน จักขุวิญญาณไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงสภาพที่เห็นสี จักขุวิญญาณเห็นรูปารมณ์ รูปารมณ์หมายความถึงสิ่งที่ปรากฏให้เห็นทางตา นี่โดยการศึกษา เป็นแต่จิตปรมัตถ์ เจตสิกปรมัตถ์ รูปปรมัตถ์ แต่เวลาเห็นจริงๆ ไม่ได้เป็นอย่างที่ศึกษา เห็นเป็นตัวตน เป็นสัตว์ บุคคล เป็นวัตถุสิ่งของต่างๆ

ถ้าบอกว่าโต๊ะ ผู้ที่ไม่ได้เจริญสติปัฏฐานก็ไม่สามารถที่จะแยกรูปที่ประชุมรวมกันให้กระจัดกระจายออกได้ว่า ไม่ว่าจะเป็นโต๊ะ เป็นเก้าอี้ เป็นคน เป็นสัตว์ เป็นอะไรทั้งสิ้นก็ตาม ถ้าปรากฏทางตาแล้ว ก็เป็นแต่เพียงรูปสี สีสันวรรณะต่างๆ ที่ปรากฏเฉพาะทางตาเท่านั้น และผู้ที่ไม่ได้เจริญสติ ก็ยังคงเป็นคน เป็นสัตว์ เป็นวัตถุ ควบคุมประชุมรวมกันเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดอยู่นั่นเอง

เพราะฉะนั้น การละ การขัดเกลากิเลสจะต้องทราบว่า ท่านเองถึงแม้ว่าจะได้ศึกษาพระธรรม แต่ถ้าไม่ได้เจริญสติ ไม่มีโอกาสที่จะละ หรือดับโลภมูลจิตที่เป็นทิฏฐิคตสัมปยุตต์ได้เลย แต่ผู้ที่เริ่มเจริญสติ ความรู้ลักษณะของนามและรูปมากขึ้น ชินขึ้น ชำนาญขึ้น คมขึ้น แล้วแต่ขั้นของปัญญา ถ้าปัญญามีความคมกล้า ทันทีที่สติระลึก ก็รู้ลักษณะของนามของรูปที่กำลังปรากฏโดยที่ไม่สับสน หรือไม่ปะปนกัน

เพราะฉะนั้น ท่านก็พิจารณาได้ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจที่เป็นโลภมูลจิต จะเป็นโสมนัส หรือจะเป็นอุเบกขา แล้วก็มีทิฏฐิสัมปยุตต์ หรือว่าเป็นทิฏฐิวิปปยุตต์ เป็นอสังขาริกมีความแรงกล้า มีกำลัง หรือว่าเป็นสสังขาริกที่ไม่มีความแรงกล้า ต้องอาศัยการชักจูง


ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...

แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 132


เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ