อกุศลธรรมที่ทำกิจเป็น คันถะ เป็นเครื่องผูก
ต่อไปเป็นอกุศลธรรมที่ทำกิจเป็น คันถะ เป็นเครื่องผูก อกุศลเจตสิกมี ๑๔ ประเภทก็จริง แต่ว่ามีกิจการงานหน้าที่ตามประเภทของตนๆ อย่างอกุศลธรรมที่เป็นเครื่องผูก ผูกไว้ มัดไว้ ได้แก่ อภิชฌากายคันถะ ๑ พยาปาทกายคันถะ ๑ สีลัพพตปรามาสกายคันถะ ๑ อิทังสัจจาภินิเวสกายคันถะ ๑
อภิชฌากายคันถะ ได้แก่ ความยินดีพอใจ เพ่งเล็งทั่วไปในอารมณ์ทั้งหลาย
ถ้าทราบเรื่องของโลภะแล้ว จะเห็นได้ว่า ทำกิจทุกประการ ไม่ว่าจะเป็น อาสวะ สะสมหมักดองไว้ โลภะก็เป็นอย่างนั้น หรือว่าโอฆะ กั้นไว้ไม่ให้พ้นไปจากวัฏฏะ โลภะก็ทำกิจนั้น เป็นโยคะ เป็นเครื่องที่ตรึงไว้ ประกอบไว้ โลภะก็ทำอย่างนั้น เป็นคันถะ เป็นเครื่องผูกมัด ไม่ให้พ้นไป โลภะก็ทำอย่างนั้น
แต่ในหมวดของคันถะ ไม่ได้แบ่งแยกเป็นกาม หรือภวะ แต่รวมเป็น อภิชฌากายคันถะ หมายความถึงความยินดีพอใจ เพ่งเล็งทั่วไปในอารมณ์ทั้งหลาย ได้แก่ โลภเจตสิกที่เกิดกับโลภมูลจิตทั้ง ๘ ดวง
ที่สงเคราะห์นัยการศึกษาขั้นปริยัติ กับนัยของการปฏิบัติ ก็เพื่อให้ทราบเรื่องของจิตตานุปัสสนา ทุกท่านมีจิต แต่จิตของท่านในวันหนึ่งๆ เป็นจิตประเภทใดบ้าง ถ้าสติไม่เกิดขึ้น ไม่ระลึกรู้ก็จะไม่ทราบ จิตตานุปัสสนา หมายความถึงสติที่ระลึกรู้ลักษณะสภาพของจิตบ่อยๆ เนืองๆ จึงจะเห็นจิตในจิต ไม่ยึดถือว่าเป็นตัวตน สัตว์ บุคคล ไม่ว่าจะเป็นจิตใดๆ ทั้งสิ้น แม้ว่าจะเป็นสราคจิตเกิดขึ้น ก็จะต้องระลึกรู้
สำหรับคันถะที่ ๒ คือ พยาปาทกายคันถะ ความไม่แช่มชื่น ความไม่พอใจ เพราะว่ามีผู้ทำความเสื่อมเสียให้กับตัวท่าน หรือว่ามีผู้ที่ทำความเสื่อมเสียให้กับผู้ที่เป็นที่รักของท่าน หรือว่ามีผู้ทำความเจริญให้กับผู้ไม่เป็นที่รักของท่าน
ไม่ใช่เพียงแต่บุคคลอื่นจะทำสิ่งที่ไม่ดีเป็นความเสื่อมเสียให้กับตัวท่านเท่านั้น แต่ยังกว้างขวางครอบคลุมขยายไปถึงทั้งบุคคลซึ่งไม่เป็นที่รักและบุคคลซึ่งเป็นที่รักด้วย เป็นต้นว่าถ้ามีใครทำความเสื่อมเสียให้กับบุคคลผู้เป็นที่รัก หรือว่าหมู่คณะก็ได้ ถ้าท่านคลุกคลีเป็นพวกพ้องกับหมู่คณะใด และท่านก็มีความรู้สึกว่ามีบุคคลอื่นจะทำความเสื่อมเสียให้กับพวกพ้อง หรือว่าบุคคลที่ท่านสนิทสนมคุ้นเคยด้วย จิตใจของท่านเป็นอย่างไร ไม่แช่มชื่นแล้ว หรือว่าตรงกันข้ามบุคคลผู้นั้นไม่เป็นที่รัก แต่ว่ามีบุคคลอื่นทำความเจริญให้กับบุคคลซึ่งไม่เป็นที่รักของท่าน ความไม่พอใจ ความไม่แช่มชื่นก็เกิดขึ้นได้ เป็นคันถะผูกไว้ไม่ให้ไปสู่มรรคมีองค์ ๘ หรือทำให้สติไม่ระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปตามความเป็นจริง
แต่ถ้าท่านเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติ ท่านจะต้องระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปทั้งปวงที่เกิดกับท่าน ถ้าเกิดความไม่แช่มชื่นขึ้นเพราะมีผู้อื่นทำความเสื่อมเสียให้กับท่าน ผู้ที่เจริญมรรคมีองค์ ๘ สติระลึกรู้สภาพของจิตใจในขณะนั้น เป็นจิตตานุปัสสนาได้ ทุกอย่างทุกวันที่เกิดขึ้นเป็นไปนั้น ก็เป็นเพราะการสะสมของแต่ละบุคคล ทำให้แต่ละบุคคลกระทำกายอย่างนั้น วาจาอย่างนั้น สติก็ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้นตามความเป็นจริง
สำหรับคันถะที่ ๓ คือ สีลัพพตปรามาสกายคันถะ ซึ่งได้แก่ข้อประพฤติปฏิบัติที่ผิดทางจากมรรคมีองค์ ๘ ทั้งหมดเป็นสีลัพพตปรามาสกายคันถะ เพราะเหตุว่าผู้ที่จะละสีลัพพตปรามาสกายคันถะได้หมดสิ้นเป็นสมุจเฉทได้นั้น คือ พระโสดาบันบุคคล ต้องเป็นผู้ที่รู้แจ้งอริยสัจธรรมจึงจะละสีลัพพตปรามาสกายคันถะได้ ถ้าท่านไม่สำเหนียก สังเกตว่า สิ่งที่ท่านกำลังประพฤติปฏิบัติอยู่นี้ผิดหรือถูก ท่านก็ละสีลัพพตปรามาสคันถะไม่ได้
ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...