ไม่ว่าจะระลึกอย่างไรก็ตาม สติก็มีลักษณะ คือ การระลึกเท่านั้น
ถ. ที่ท่านอาจารย์เคยแนะว่า การเจริญสติปัฏฐาน คือ การเจริญสติ โดยไม่จำกัดเวลา ไม่จำกัดสถานที่ ไม่จำกัดอารมณ์ ไม่จำกัดว่าจะอยู่ในอิริยาบถใดๆ ก็ตาม เจริญได้ทั้งสิ้น
ผมอ่านใน ปปัญจสูทนี อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ ใน กายาคติสูตร ท่านกล่าวว่า สติปัฏฐานนี้มีอยู่อย่างเดียว ด้วยอำนาจแห่งการระลึก และด้วยอำนาจแห่งการรวมลงเป็นอันเดียวกัน แต่แยกเป็น ๔ ด้วยอำนาจแห่งอารมณ์ นี่ตอนหนึ่ง
ท่านเปรียบเทียบว่า เปรียบเหมือนกับว่าเมืองนี้มีประตูอยู่ ๔ ประตู มีประตูทิศตะวันออก ประตูทิศใต้ ทิศตะวันตก ทิศเหนือ พ่อค้านำสินค้ามาจากทิศตะวันออก คงเป็นสินค้าเฉพาะบางประเภทที่มีทางทิศตะวันออก ทางทิศตะวันตกก็สินค้าบางประเภท ทางเหนือ ทางใต้ก็สินค้าแต่ละประเภทๆ คงไม่ใช่สินค้าที่เหมือนกัน
ท่านเปรียบเทียบนิพพานว่าเหมือนกับเมือง โลกุตตรมรรค ประกอบด้วยองค์ ๘ เปรียบเหมือนประตูเมือง อารมณ์ทั้ง ๔ มีกาย เป็นต้น เปรียบเหมือนทิศตะวันออก ที่เวไนยสัตว์ทั้งหลายมาด้วยอำนาจกายานุปัสสนา อบรมกายานุปัสสนา อันจำแนกออกเป็น ๑๔ อย่าง แล้วก็เข้าสู่นิพพานแห่งเดียวกันกับที่มาจากทิศอื่น
ประตูทิศใต้ท่านก็เปรียบอย่างนี้เหมือนกัน คือ เปรียบกับการเจริญเวทนา ก็เข้าสู่นิพพานอันเดียวกัน หรือประตูทางทิศตะวันตก การเจริญจิตตานุปัสสนาที่อาจารย์กำลังอธิบายอยู่เดี๋ยวนี้ ก็เป็นทางที่เข้าสู่นิพพานได้เหมือนกัน หรือการเจริญธัมมานุปัสสนาซึ่งเป็นประตูทางทิศเหนือ ก็เป็นการเจริญเพื่อเข้าสู่นิพพานได้เหมือนกัน ที่ท่านอธิบายอย่างนี้ เสมือนหนึ่งว่าการเจริญสติปัฏฐานนั้น เจริญเฉพาะอย่างๆ เฉพาะประตู เช่น ประตูตะวันออกเจริญเฉพาะกายานุปัสสนา ประตูตะวันตกเฉพาะจิตตานุปัสสนา ประตูทางใต้เฉพาะเวทนานุปัสสนา ประตูทิศเหนือเฉพาะธัมมานุปัสสนา
ฟังดูแล้วรู้สึกว่า จะขัดกับที่ท่านอาจารย์ให้แนวทางไว้ ผมก็ยังไม่แน่ใจว่า จะเป็นการเน้น หรือเป็นการแยกแยะอย่างไร ท่านบอกว่า เป็นการเข้าสู่นิพพานแห่งเดียวกัน ด้วยอริยมรรคทั้งนั้น เกิดแต่อำนาจการเจริญกายานุปัสสนา หรือ จิตตานุปัสสนา หรือเวทนานุปัสสนา หรือธัมมานุปัสสนา แต่ละทางๆ ไป ไม่ใช่ว่า เจริญทั้งกายาด้วย จิตตาด้วย เวทนาด้วย ธัมมาด้วย ในอรรถกถาท่านอธิบายไว้คล้ายๆ อย่างนี้ ผมไม่ค่อยแน่ใจ ขออาจารย์ช่วยอธิบายด้วย
สุ. ข้อความในปปัญจสูทนีตอนนี้ ซึ่งเป็นอรรถกถาสติปัฏฐานสูตร ดิฉันก็ตั้งใจไว้แล้วว่า จะนำมาให้ท่านผู้ฟังได้ทราบข้อความโดยตรง เพราะบางทีท่านเองผ่านพยัญชนะข้อความนี้แล้วอาจจะเข้าใจตามพยัญชนะ ตามความคิดเห็นของท่านเองได้
ปปัญจสูทนีแปล มีข้อความว่า
สติปัฏฐานมีอย่างเดียว ด้วยอำนาจแห่งการระลึก คือ สติเป็นลักษณะสภาพธรรมที่ระลึก และด้วยอำนาจแห่งการรวมลงเป็นอันเดียวกัน
ไม่ว่าจะระลึกอย่างไรก็ตาม สติก็มีลักษณะ คือ การระลึกเท่านั้น
แต่แยกออกเป็น ๔ ด้วยอำนาจแห่งอารมณ์ดังนี้ เหมือนอย่างว่า ในเมืองมี ๔ ประตู พวกพ่อค้ามาจากทิศตะวันออก ซื้อสินค้าอันมีอยู่ทางทิศตะวันออก แล้ว ก็เข้าสู่ประตูเมืองตะวันออก มาจากทิศใต้ ทิศตะวันตก ทิศเหนือ ได้สินค้าอันมีอยู่ทางทิศนั้นๆ แล้วก็เข้าไปสู่เมืองทางประตูนั้นๆ ฉันใด ข้อนี้ก็ฉันนั้น
คือ นิพพานเปรียบเหมือนเมือง โลกุตตรมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ เปรียบเหมือนประตูเมืองใหญ่ อารมณ์ทั้ง ๔ มีกายเป็นต้น เหมือนทิศตะวันออกเป็นต้น คนทั้งหลายมาทางทิศตะวันออก ถือเอาของที่เกิดขึ้นทางทิศตะวันออกแล้ว ก็เข้าสู่เมืองทางประตูทิศตะวันออก ฉันใด เมื่อเวไนยสัตว์ทั้งหลายมาด้วยอำนาจกายานุปัสสนา อบรมกายานุปัสสนา อันแจกออกไปเป็น ๑๔ อย่างแล้ว ก็เข้าไปสู่นิพพานแห่งเดียวกัน ด้วยอริยมรรคอันเกิดด้วยอานุภาพแห่งการเจริญกายานุปัสสนาฉันนั้น
คนทั้งหลายมาจากทิศใต้ ถือเอาของที่เกิดในทิศใต้แล้ว ก็เข้าสู่เมืองทางประตูทิศใต้ ฉันใด เวไนยสัตว์ทั้งหลายมาด้วยเวทนานุปัสสนา เจริญเวทนานุปัสสนา อันแจกออกไปเป็น ๙ อย่าง แล้วก็เข้าไปสู่นิพพานแห่งเดียวกัน ด้วยอริยมรรคอันเกิดด้วยอานุภาพแห่งการเจริญเวทนานุปัสสนาฉันนั้น
คนทั้งหลายมาจากทิศตะวันตก ถือเอาของที่เกิดในทิศตะวันตกแล้ว ก็เข้าสู่เมืองทางประตูทิศตะวันตก ฉันใด เวไนยสัตว์มาด้วยจิตตานุปัสสนา เจริญจิตตานุปัสสนา อันแจกออกไปเป็น ๑๖ อย่าง แล้วก็เข้าไปสู่นิพพานแห่งเดียวกัน ด้วยอริยมรรคอันเกิดด้วยอานุภาพแห่งการเจริญจิตตานุปัสสนาฉันนั้น
คนทั้งหลายมาจากทิศเหนือ ถือเอาของที่เกิดในทิศเหนือแล้ว ก็เข้าสู่เมืองทางประตูทิศเหนือ ฉันใด เวไนยสัตว์มาด้วยธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน เจริญธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน อันแจกออกไปเป็น ๕ อย่าง แล้วก็เข้าไปสู่นิพพานแห่งเดียวกัน ด้วยอริยมรรคอันเกิดด้วยอานุภาพแห่งการเจริญธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานฉันนั้น
ควรทราบว่า พระผู้มีพระภาคทรงแสดงสติปัฏฐานไว้เพียง ๔ เท่านั้น ด้วยอำนาจแห่งการระลึก และด้วยอำนาจแห่งการเข้าไปรวมในที่แห่งเดียวกัน และด้วยอำนาจแห่งการยึดหน่วงสติปัฏฐานอย่างเดียวกันอย่างนี้
เมือง ได้แก่ พระนิพพานซึ่งมีทางเข้า ๔ ทาง ๔ ประตู จะเข้าประตูทิศตะวันออก หรือทิศตะวันตก หรือทิศเหนือ หรือทิศใต้ ก็เข้าประตูเดียว ฉันใด ไม่ว่าผู้นั้นจะเจริญกายานุปัสสนาในขณะก่อนที่จะถึงนิพพาน ก่อนที่จะเข้าเมือง มีกายานุปัสสนาสติปัฏฐานเป็นอารมณ์ก็ได้ จะมีเวทนาเป็นอารมณ์ เป็นเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานก็ได้ หรือจะมีจิตเป็นอารมณ์ เป็นจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานก็ได้ หรือจะมีธรรมเป็นธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานเป็นอารมณ์ก็ได้
แล้วแต่ว่าขณะนั้นอินทรีย์แก่กล้าที่มรรคจิตจะเกิด ขณะนั้นกำลังมีอะไรเป็นอารมณ์ กำลังมีกายเป็นอารมณ์ หรือว่ากำลังมีเวทนาเป็นอารมณ์ หรือว่ากำลังมีจิตเป็นอารมณ์ หรือว่ากำลังมีธรรมเป็นอารมณ์ แต่ถ้าท่านผู้ฟังจะถือตามพยัญชนะที่ฟังดูแล้วคล้ายๆ กับว่า เจริญกายานุปัสสนาสติปัฏฐานอย่างเดียวก็ได้ นั่นก็เป็นการเข้าใจของท่านผู้ฟังเอง เพราะอะไร เพราะกายานุปัสสนาเป็นการระลึกรู้รูปธรรม แต่ญาณขั้นที่ ๑ นามรูปปริจเฉทญาณ เป็นการรู้ลักษณะที่ต่างกันของนามธรรมและรูปธรรม เพราะฉะน้น จะเจริญกายานุปัสสนา รู้รูปอย่างเดียวได้ไหม
ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...