สัญญาวิปลาส จิตตวิปลาส ทิฏฐิวิปลาส

 
สารธรรม
วันที่  30 ก.ย. 2565
หมายเลข  44436
อ่าน  413

อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต วิปัลลาสสูตร มีข้อความว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สัญญาวิปลาส จิตตวิปลาส ทิฏฐิวิปลาส ๔ ประการนี้ ๔ ประการเป็นไฉน คือ

สัญญาวิปลาส จิตตวิปลาส ทิฏฐิวิปลาส ในสิ่งที่ไม่เที่ยงว่าเที่ยง ๑ ในสิ่งที่เป็นทุกข์ว่าเป็นสุข ๑ ในสิ่งที่ไม่ใช่ตนว่าเป็นตน ๑ ในสิ่งที่ไม่งามว่างาม ๑

สัญญาวิปลาส จิตตวิปลาส ทิฏฐิวิปลาส ๔ ประการนี้แล

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สัญญาไม่วิปลาส จิตไม่วิปลาส ทิฏฐิไม่วิปลาส ๔ ประการนี้ ๔ ประการเป็นไฉน

คือ สัญญาไม่วิปลาส จิตไม่วิปลาส ทิฏฐิไม่วิปลาส ในสิ่งที่ไม่เที่ยงว่า ไม่เที่ยง ๑ ในสิ่งที่เป็นทุกข์ว่าเป็นทุกข์ ๑ ในสิ่งที่ไม่ใช่ตนว่าไม่ใช่ตน ๑ ในสิ่งไม่งามว่าไม่งาม ๑

สัญญาไม่วิปลาส จิตไม่วิปลาส ทิฏฐิไม่วิปลาส ๔ ประการนี้แล

เวลาเห็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดแล้วไม่ประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไป ก็ยังมีนิจจ-วิปลาส คือ ยังมีความเห็นผิดว่าเที่ยงในสิ่งที่ไม่เที่ยง มีความเห็นผิดว่าเป็นตัวตนในสิ่งที่ไม่ใช่ตัวตน มีความเห็นผิดในสิ่งที่เป็นทุกข์ว่าเป็นสุข มีความเห็นผิดในสิ่งที่ไม่งามนั้นว่างาม

เพราะฉะนั้น เมื่อยังมีวิปลาสอยู่ ก็ต้องเจริญสติปัฏฐานทั้ง ๔ เพื่อละวิปลาสทั้ง ๔ ขณะไหนที่จิตไม่วิปลาส ทิฏฐิไม่วิปลาส สัญญาไม่วิปลาส ก็ในเวลาที่ประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไป ซึ่งมีอนิจจสัญญาแทนนิจจสัญญา แต่ถ้ายังไม่ประจักษ์ก็ยังคงเป็นสัญญาวิปลาส จิตตวิปลาส ทิฏฐิวิปลาส ซึ่งจะหมดได้ก็ต่อเมื่อเจริญสติปัฏฐานทั้ง ๔ เพราะเหตุว่าทุกท่านมีวิปลาสทั้ง ๔ แล้วมีจริตทั้ง ๒ คือ ตัณหาและทิฏฐิ


ที่มา ...

แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 139

รับฟัง และ อ่านเพิ่มเติม

สัญญาวิปลาส จิตตวิปลาส ทิฏฐิวิปลาสนี้ มี ๔ ประการ*

ขณะที่เข้าใจ เป็นการเริ่มต้นละวิปลาส*


เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ