พระภิกษุให้ไวยวัจจกรมอบสิ่งของหรือปัจจัยแก่ฆราวาส
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น
ถ้ามีพระภิกษุบางรูปได้รับ ปัจจัยต่างๆ ก็ดี เช่น ข้าวของ เครื่องใช้ต่างๆ เป็นต้น จากฆารวาส และก็ไม่ได้ใช้ บางครั้งกระผมก็เคยได้ยินว่า มีการมอบให้วัดที่ธุระกันดารบ้าง และก็มีการมอบไปให้กับแม้กระทั่งฆราวาสที่ตกทุกข์ได้ยากบ้าง ซึ่งอาจดำเนินการโดยไวยาวัจกร ก็ได้ อย่างนี้ ไม่ทราบว่าในอดีตสมัยพุทธกาล มีการกระทำเช่นนี้ หรือไม่อย่างไร และการกระทำเช่นนี้เป็นไปตามพระธรรมวินัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือไม่อย่างไร กราบขออาจารย์วิทยากร ให้ความกรุณา แก้ปัญหานี้ด้วยครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ประเด็นที่พิจารณา แยกเป็น ๒ ประเด็น คือ ประเด็นแรก ภิกษุ มอบวัตถุสิ่งของให้กับภิกษุด้วยกัน และ อีกประเด็นหนึ่ง คือ ภิกษุมอบวัตถุสิ่งของให้กับฆราวาส ที่ตกทุกข์ได้ยาก โดยผ่านไวยาวัจกร (ผู้ขวนขวายทำสิ่งที่เป็นประโยชน์กับพระภิกษุ)
สำหรับประเด็นแรก นั้น ภิกษุสามารถดำเนินการได้เลย แบ่งปันวัตถุสิ่งของที่เหมาะควรแก่สมณะ ที่ตนเองได้รับมา แก่ภิกษุด้วยกันได้เลย ไม่ว่าจะอยู่ในวัดเดียวกันหรืออยู่ในถิ่นต่างๆ ถ้าหากไม่สะดวก จะให้ไวยาวัจกร ดำเนินการให้ ก็ย่อมได้ ในกรณีนี้ ไม่ผิดพระวินัยแต่อย่างใด
ประเด็นที่สอง การสงเคราะห์คฤหัสถ์ พิจารณาตามพระวินัย ตามที่เข้าใจ ดังนี้
อาหารที่ภิกษุได้มาจากการบิณฑบาตบ้าง หรือ มีผู้ถวายโดยตรงบ้าง หากท่านฉันแล้วหรือแบ่งไว้ฉันแล้วหรือได้แบ่งให้เพื่อนภิกษุสามเณรด้วยกันแล้ว ส่วนที่เหลือก็สามารถสละให้ผู้อื่นได้ ต่อจากนั้นคนวัดหรือไวยาวัจกร นำไปแจกต่อได้ อย่างนี้ก็สามารถที่กระทำได้ เพราะภิกษุสะสมอาหารไม่ได้อยู่แล้ว
อีกทั้งในกรณีที่หากมีคนป่วยมาหรือมีคนมาขอความช่วยเหลือที่วัดในเรื่องอาหารหรือยารักษาโรคถ้าภิกษุมีอาหารหรือยารักษาโรคก็สามารถที่จะสละให้ได้ ณ ขณะนั้น หรือแม้อาหารที่ภิกษุได้มาโดยที่ตนเองยังไม่ได้ฉันหรือยังไม่ได้แบ่งไว้ฉันหรือยังไม่ได้แบ่งให้เพื่อนภิกษุสามเณรด้วยกัน ซึ่งเรียกว่า อนามัฏฐบิณฑบาต (หมายถึง อาหารที่ภิกษุได้รับมาจากคฤหัสถ์โดยที่ตนเองหรือบรรพชิตรูปอื่นยังไม่ได้ถือเอาส่วนแรกก่อน) ก็สามารถที่จะสละให้แก่บิดามารดา คนเลี้ยงดูบิดามารดา ไวยาวัจกรซึ่งเป็นผู้ขวนขวายทำประโยชน์แก่ภิกษุ รวมไปถึงแม้บุคคลผู้เตรียมตัวจะบวช ได้เลย ไม่เป็นการยังศรัทธาของผู้ถวายให้ตกไป จึงไม่เป็นโทษเลยในส่วนนี้ แล้วต่อไปก็เป็นกิจหน้าที่ของบิดามารดาเป็นต้น ที่จะสามารถนำไปทำประโยชน์ต่อได้ ซึ่งภิกษุไม่ได้ดำเนินการเอง แต่ถ้าเป็นในกรณีอาหารที่ภิกษุได้มาโดยที่ตนเองยังไม่ได้ฉันหรือยังไม่ได้แบ่งไว้ฉันหรือยังไม่ได้แบ่งให้เพื่อนภิกษุสามเณรด้วยกันแล้วภิกษุนำไปให้แก่ผู้อื่นนอกเหนือจากบุคคลที่กล่าวข้างต้นมีมารดาบิดาเป็นต้น เป็นสิ่งที่ไม่ควร เพราะเป็นการทำให้บุคคลผู้ถวายเกิดความเสียใจหรือเป็นการยังศรัทธาของผู้ถวายให้ตกไปนั่นเอง ภิกษุใดยังศรัทธาของผู้ถวายให้ตกไป ต้องอาบัติทุกกฏ ตามข้อความในพระวินัยปิฎก มหาวรรค ดังนี้ ว่า
ภิกษุไม่พึงทำศรัทธาไทย (ศรัทธาของผู้ถวาย) ให้ตกไป รูปใดให้ตกไป ต้องอาบัติทุกกฏ
ในสมันตปาสาทิกา อรรถกถา พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ มีข้อความที่กล่าวถึง
อนามัฏฐบิณฑบาตไว้ว่า ควรให้แก่ใครได้บ้าง ดังนี้
ถามว่า อนามัฏฐบิณฑบาต ควรให้แก่ใคร ไม่ควรให้แก่ใคร?
แก้ว่า ควรให้แก่มารดาและบิดาก่อน
ก็หากว่าบิณฑบาตนั้นจะเป็นของมีราคาตั้งกหาปณะ ก็ไม่จัดว่าเป็นการยังศรัทธาไทยให้ตกไป ควรให้แม้แก่คนเหล่านี้ คือ พวกคนบำรุงมารดาบิดา ไวยาวัจกร คนปัณฑุปลาส (คนผู้เตรียมตัวจะบวช) บรรดาคนเหล่านั้น สำหรับคนปัณฑุปลาส จะใส่ในภาชนะให้ ก็ควร เว้นคนปัณฑุปลาสนั้นเสีย จะใส่ในภาชนะให้แก่คฤหัสถ์เหล่าอื่น แม้เป็นมารดาบิดา ก็ไม่ควรเพราะว่า เครื่องบริโภคของบรรพชิตตั้งอยู่ในฐานะเป็นเจดีย์ของพวกคฤหัสถ์
อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า อนามัฏฐบิณฑบาตนี้ พึงให้แก่โจรผู้ลือชื่อบ้าง ทั้งแก่อิสรชนบ้าง ผู้เข้ามาถึง (ที่วัด) เพราะเหตุไร? เพราะเหตุว่า ชนเหล่านั้นแม้เมื่อไม่ให้ ก็โกรธว่า ไม่ให้ แม้เมื่อจับต้องให้ ก็โกรธว่า ให้ของที่เป็นเดน ชนเหล่านั้นโกรธแล้วย่อมปลงจากชีวิตเสียบ้าง ย่อมทำอันตรายแก่พระศาสนาบ้าง
ดังนั้น ภิกษุสามารถสละวัตถุสิ่งของให้กับไวยาวัจกรได้ ต่อจากนั้น ไวยาวัจกร ก็ดำเนินการต่อไป อย่างนี้ ไม่ทำให้ภิกษุผิดพระวินัยแต่อย่างใด ครับ
...ยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ...
กราบอนุโมทนาครับ ในความรู้เรื่องพระวินัย คำตอบนั้นละเอียดชัดเจนดีครับ
ถ้าพระภิกษุนั้นดำเนินการเอง คือนำอนามัฏฐบิณฑบาตให้กับบุคคลอื่นที่ไม่ใช่ พ่อ แม่ คนดูแลพ่อแม่ ไวยาวัจกร คนเตรียมบวช โจรที่พร้อมจะปล้นทำร้าย เป็นต้น ตามที่กล่าวไว้ข้างต้น ก็คือ ภิกษุนั้นจะต้องอาบัติ ทุกกฏ เพราะเป็นผู้ทำศรัทธาของผู้ถวายทานให้ตกไป
ขอถวายความนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
อ้างอิงข้อความใน สัตตปัพพบุพพสิกขา บุพพสิกขาวรรณนา พระอมราภิรักขิต (อมโร เกิด) วัดบรมนิวาส
รจนา สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงชำระ
ว่าดังนี้
ก็แลปฏิสันถารจะพึงทำแก่ใคร ไม่พึงทำแก่ใคร อันปฏิสันถารนี้ พึงทำแก่คนผู้มาถึงวิหารเข้าแล้ว จะเป็นอาคันตุกะคนมาใหม่ หรือคนจน หรือโจร หรือคนเป็นอิสระ คนใดคนหนึ่งก็ตาม จำจะต้องทำ จะพึงทำอย่างไร เห็นอาคันตุกะเสบียงหมด มาถึงวิหารเข้า พึงให้น้ำกิน ให้น้ำมันทาเท้า เขามาถึงเข้าในกาลเช้า พึงให้ข้าวต้มข้าวสวย เขามาถึงในวิกาล ถ้าข้าวสารมีไซร้ พึงให้ข้าวสาร อย่าพึงกล่าวว่า ท่านมาถึงในอันใช่เวลา ท่านจงไปเสียเถิด พึงให้ที่นอน กรรมทั้งปวง อย่าพึงหวังสิ่งใดสิ่งหนึ่งเลยทำเถิด จิตคิดว่าวิสัยมนุษย์ย่อมเป็นผู้ให้จตุปัจจัย เมื่อเราสงเคราะห์อย่างนี้ จักเลื่อมใสเข้าบ่อยๆ แล้วจักทำอุปการะ จิตอย่างนี้อย่าให้เกิดขึ้น ก็แลโจร แม้ของสงฆ์ก็พึงให้เถิด เพื่อจะกันมิให้ทำลายของสงฆ์อื่น ในอรรถกถาท่านเล่าเรื่องราวภิกษุสงเคราะห์แก่โจรด้วยของสงฆ์ไว้หลายเรื่อง เพื่อจะแสดงอานิสงส์แห่งปฏิสันถาร ผู้ประสงค์จะรู้ พึงดูเอาเถิด พึงปฏิบัติในปฏิสันถารดังว่ามานี้
...
อธิบายถึง การปฏิสันถารต้อนรับของภิกษุ ถ้าเป็นคนหนึ่งคนใดในข้อความที่แสดงไว้ เช่น โจร เป็นต้น มาในเวลาวิกาล (หลังเที่ยงจนถึงอรุณขึ้นของวันใหม่) อย่าพึงกล่าวถึงผู้มาว่า มาถึงในเวลาที่ไม่สมควรคือ มาในเวลาวิกาล หรือพึงไล่ไป แต่พึงให้ที่นอน แม้การสงเคราะห์ช่วยเหลือประการต่างๆ ไม่ควรคิดว่า จะได้การตอบแทนใดๆ จากผู้รับ แต่สงเคราะห์เพื่อประโยชน์สุขของผู้รับจริงๆ
...
ขอกราบอนุโมทนาครับ