ในอริยสัจธรรมนั้นมีถึง ๓ รอบ (146)
มีท่านผู้ฟังท่านหนึ่งเป็นฆราวาสที่พรั่งพร้อมด้วยวงศาคณาญาติ ท่านกล่าวว่า ตั้งแต่ท่านได้เจริญสติและฟังการเจริญสติปัฏฐาน ท่านอัดเทปแล้วฟังทบทวนด้วยความเข้าใจว่า ท่านได้เริ่มเข้าใจข้อปฏิบัติในการเจริญสติปัฏฐาน
ในอริยสัจธรรมนั้นมีถึง ๓ รอบ รอบแรก คือ สัจจญาณ รอบที่ ๒ คือ กิจจญาณ รอบที่ ๓ คือ กตญาณ
สำหรับรอบที่ ๑ คือ สัจจญาณ หมายความถึงการฟังเรื่องของอริยสัจธรรม เรื่องของทุกขอริยสัจจ์ว่า สิ่งใดเป็นทุกข์ สภาพใดเป็นทุกข์ นามและรูปที่กำลังปรากฏ ไม่ว่าจะเป็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เป็นทุกข์ เพราะไม่เที่ยง นี่คือสิ่งที่จะต้องรู้ชัด จะต้องรู้แจ้ง และท่านผู้นั้นก็รู้เรื่องของ สมุทยสัจจ์ คือ จะต้องละความต้องการยินดี วิธีที่จะละมีหนทางเดียวเท่านั้น เอกายนมัคโค คือ สติระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทันทีเท่านั้น มิฉะนั้นแล้วท่านจะถูกตัณหาพาวน โดยที่ท่านไม่ได้รู้สึกตัวเลยว่า ขณะนั้นท่านต้องการอะไรหรือเปล่า
ท่านผู้นั้นกล่าวว่า ชีวิตของท่านพรั่งพร้อมแวดล้อมไปด้วยวงศาคณาญาติ ท่านก็ถูกชักชวนให้ไปที่นั่น ให้ทำอย่างนี้ ให้เห็นสิ่งนั้น ให้เที่ยวที่นั่น ให้รู้อย่างนั้น อย่างนี้ ท่านก็รู้สึกเบื่อหน่ายต่อการที่จะต้องไปในวงสังคม ท่านต้องการที่จะปลีกตนเพื่อที่จะได้ฟังเทปและเจริญสติ เพราะเห็นว่าเป็นประโยชน์มาก ความจริงที่คิดอย่างนั้น ยังไม่ได้ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แต่ว่าในขณะที่ท่านรู้สึกว่าท่านเบื่อหน่าย ไม่อยากจะพบวงศาคณาญาติ แต่การที่ท่านจะไปพบใครหรือไม่ไปพบใคร ก็ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เป็นจิตประเภทหนึ่งที่ทำให้ท่านกระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด ไม่ว่าจะเป็นทางกาย หรือทางวาจาก็ตาม
ในขณะที่กำลังคิดอย่างนั้นก็ดี กำลังอยู่ท่ามกลางญาติพี่น้องมิตรสหายก็ดี สติควรจะระลึกลักษณะของนามและรูปที่กำลังปรากฏ แทนที่จะกลุ้มใจเบื่อหน่าย เมื่อไปแล้วก็เกิดวิตก เบื่อ ไม่อยากจะพูดกับคนนั้น ไม่อยากจะพบกับคนนี้ อยากจะกลับไปบ้านเสียเร็วๆ จะได้ฟังเทป จะได้เจริญสติ
แต่ทำไมสติไม่ระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปที่กำลังปรากฏในขณะนั้น แสดงให้เห็นได้ว่า เป็นความต้องการอย่างละเอียด ซึ่งไม่ใช่ต้องการรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ
ในวันหนึ่งๆ มีท่านผู้ใดบ้างที่ไม่ได้อยู่ตามลำพัง ในห้องน้ำ ในห้องนอน หรือว่าเวลารับประทานอาหาร บางครั้งที่ไม่มีญาติ ไม่มีมิตรสหาย ไม่มีแขก ท่านก็รับประทานอาหารตามลำพัง สติระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปบ้างไหม มากไหม ในชีวิตจริงๆ ขอให้ระลึกว่า สติระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปมากไหม ในปีแรกๆ หรือในตอนเริ่มต้น แม้เป็นบรรพชิตอย่างท่านพระราหุล พระผู้มีพระภาคก็ยังต้องเสด็จมาทรงโอวาทที่จะไม่ให้กล่าวมุสา แม้เพื่อหัวเราะกันเล่น
ทุกคนมีชีวิตจริงๆ ที่จะพิสูจน์สอบทานธรรมได้ว่า ท่านก็มีชีวิตที่อยู่ตามลำพังบางกาล บางเวลา แล้วสติเกิดบ่อยไหม ระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปบ่อยไหม ถ้าสติเกิดไม่บ่อย ไม่ระลึกรู้ลักษณะของนามและรูป ไม่ว่าท่านจะเป็นฆราวาสอยู่ที่บ้าน หรือท่านจะเป็นบรรพชิตอยู่ที่วัดวาอาราม ก็โดยนัยเดียวกัน ด้วยเหตุนี้การเจริญสติจึงต้องเจริญให้มาก
ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...