อาตาปี สัมปชาโน สติมา

 
สารธรรม
วันที่  8 ต.ค. 2565
หมายเลข  44552
อ่าน  1,033

ถ. อาตาปีเป็นวิริยเจตสิก และสัมมาวายามะซึ่งมีอยู่ในมรรค ๘ ก็เป็นวิริยเจตสิกเหมือนกัน ท่านกล่าวว่าทั้ง ๒ ประเภทนี้ หมายถึงสัมมัปธาน ๔ ดังนั้นการปฏิบัติ ควรจะปฏิบัติประการใด

สุ. ใน ปปัญจสูทนี มีข้อความว่า

คำว่า อาตาปิ แปลว่า ผู้มีอาตาปะ มีเนื้อความว่า สิ่งใดเผากิเลสทั้งหลายในภพ ๓ สิ่งนั้นชื่อว่า อาตาปะ แปลว่า ผู้เผา

คำนี้เป็นชื่อแห่งความเพียร ผู้ใดมีอาตาปะ ผู้นั้นชื่อว่า อาตาปี

แต่ในสติปัฏฐาน ใช้พยัญชนะว่า อาตาปี สัมปชาโน สติมา

เพราะฉะนั้น คำว่าอาตาปีนั้น เผาอะไร

แก้ว่า เผาความไม่รู้

ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะวิริยเจตสิกที่เป็นอาตาปี ที่เป็นมรรคมีองค์ ๘ นั้น เกิดร่วมกับสัมมาสติและสัมมาทิฏฐิ ซึ่งเมื่อสัมมาสติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมใด หมายความว่าในขณะนั้นต้องมีความเพียร จึงได้ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้น

ท่านอาจจะเรียนเรื่องของจิต โดยที่ยังไม่ได้ศึกษาเรื่องของเจตสิก ท่านก็ไม่ทราบว่า ในขณะที่จิตดวงนั้นเกิด มีเจตสิกอะไรเกิดร่วมด้วย แต่ถ้าศึกษาเรื่องของเจตสิกแล้ว ท่านก็จะทราบว่า ในขณะที่จิตดวงนั้นเกิดมีเจตสิกอะไรเกิดร่วมด้วยเป็นไปในอารมณ์นั้น

เพราะฉะนั้น ท่านอาจจะคิดว่า เป็นตัวท่านที่กำลังพากเพียร มีความยึดถือรูปขันธ์บ้าง เวทนาขันธ์บ้าง สัญญาขันธ์บ้าง สังขารขันธ์บ้าง วิญญาณขันธ์บ้างว่าเป็นตัวตนที่กำลังพากเพียร นั่นไม่ใช่ลักษณะของสัมมาสติ หรือการเจริญมรรคมีองค์ ๘ ซึ่งถ้าเป็นลักษณะของสัมมาสติแล้ว สติเป็นสภาพที่ระลึกได้ ระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนั้น และในขณะที่สติระลึกนั้น ก็มี วิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วยแล้ว ไม่ใช่ว่าต้องมีความเป็นตัวตน เป็นอีกบุคคลหนึ่งที่กำลังพากเพียร หรือทุ่มเทความพากเพียรความจดจ้อง นั่นเป็นลักษณะของตัวตน

แต่ขณะใดที่สติระลึกรู้ลักษณะของกายว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ระลึกรู้ลักษณะของจิต ของเวทนา ของธรรม ในขณะนั้นมีวิริยะ และก็เป็นอาตาปี เป็นสัมมาวายาโม ที่เป็นมรรคมีองค์ ๘ เกิดแล้วด้วย ในขณะที่สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

เพราะฉะนั้น ที่ท่านยกขึ้นเป็นประธาน คือ สติ ใช้คำว่า มหาสติปัฏฐาน ยกสติซึ่งเป็นสภาพที่ระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนั้นขึ้นเป็นประธาน ซึ่งในขณะที่สติระลึกก็มีความเพียร มีวิริยเจตสิกซึ่งเป็นอาตาปี เป็นสัมมาวายาโมด้วย

สำหรับลักษณะของวิริยเจตสิก ใน อัฏฐสาลินี ซึ่งเป็น อรรถกถาคัมภีร์ ธรรมสังคณี มีข้อความว่า

วิริยเจตสิก มีอุตสาหะ เป็นลักษณะ

มีการอุปถัมภ์สหชาตธรรมทั้งหลาย เป็นรสะ (เป็นหน้าที่)

มีความไม่ท้อแท้ เป็นปัจจุปัฏฐาน (เป็นอาการที่ปรากฏ)

มีความสลดใจ เป็นปทัฏฐาน (เป็นเหตุใกล้)

ในขณะที่ระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ เป็นวิริยะแล้ว ไม่ใช่ความท้อแท้ใจ ถ้าเป็นความท้อแท้ใจก็ไม่ระลึก จะระลึกทำไม นาม รูป กาย เวทนา จิต ธรรม เพราะฉะนั้น บางท่านที่ไปพากเพียรจงใจด้วยความเป็นอัตตา เมื่อไม่ได้ผลสมดังความปรารถนา ไม่รู้ลักษณะของนามและรูป แต่ไปหวังที่จะประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไป เมื่อไม่ได้ประจักษ์ก็เกิดความท้อแท้ขึ้น จะเป็นสัมมาวายามะ จะเป็นอาตาปีได้ไหม ก็ไม่ได้ เพราะว่าลักษณะของวิริยะที่เป็นไปในกุศล มีความไม่ท้อแท้ใจเป็นปัจจุปัฏฐาน เป็นอาการที่ปรากฏ

ถึงแม้ว่าทางดำเนินมัชฌิมาปฏิปทาที่จะให้รู้ชัดในสภาพธรรม เพื่อการรู้แจ้งอริยสัจธรรมนั้น จะเป็นทางที่ไกลมาก สติระลึกรู้นามและรูปจนทั่ว เพื่อละความไม่รู้ทีละเล็กทีละน้อยจริงๆ ไม่ใช่ยังเก็บความไม่รู้ไว้ แล้วเพิ่มตัณหาความต้องการเข้าไปอีกสำหรับที่จะทำให้รู้ขึ้น โดยวิธีนั้นจะไม่ทำให้รู้อะไรเลย แต่ถ้าสติระลึกรู้ลักษณะของนามว่าเป็นนาม ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์บุคคล ระลึกรู้ลักษณะของรูปว่าเป็นรูป ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์บุคคล ในขณะนั้นก็ไม่ท้อแท้ที่จะระลึกและดำเนินหนทางมัชฌิมาปฏิปทา

สำหรับปทัฏฐาน คือ เหตุใกล้ให้เกิดนั้น มีความสลดใจเป็นปทัฏฐาน ซึ่งข้อนี้พระบาลีแสดงว่า

ผู้มีความสลดใจ ย่อมเริ่มตั้งความเพียรโดยปัญญา นัยหนึ่ง

อีกนัยหนึ่งนั้น หรือมีธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งการปรารภความเพียร เป็นปทัฏฐาน

มีนาม มีรูป ที่เกิดขึ้นปรากฏทำให้สติระลึก ความเพียรก็ทำให้ระลึกบ่อยๆ เนืองๆ เพื่อการที่จะรู้ชัดในสภาพธรรมที่ปรากฏ

สำหรับพยัญชนะที่ท่านได้ยินบ่อยๆ ใน โพธิปักขิยธรรม คือ สัมมัปธาน ๔ ใน วิภังคปกรณ์ ก็มีข้อความเรื่อง สัมมัปธาน ๔

สัมมัปธาน ๔ นั้น ได้แก่

สังวรปธาน เพียรป้องกันบาปอกุศลที่ยังไม่เกิดขึ้น มิให้เกิดขึ้น

ปหานปธาน เพียรละบาปอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว

ภาวนาปธาน เพียรเจริญกุศลที่ยังไม่เกิดขึ้นให้เกิดขึ้น

อนุรักขณาปธาน เพียรรักษากุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ไม่ให้เสื่อม

นี่เป็นกิจของวิริยะ ซึ่งเป็นไปพร้อมกันในขณะที่สติระลึกรู้ลักษณะของนามและรูป กาย เวทนา จิต ธรรม

สำหรับสังวรปธาน กิจที่ ๑ เพียรป้องกันบาปอกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดขึ้นมิให้เกิดขึ้น

ในขณะนี้สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ คือ ความเพียรที่จะไม่ให้อกุศลที่ยังไม่เกิดได้เกิดขึ้น เพราะเหตุว่าถ้าไม่เพียรอย่างนี้ อกุศลก็ย่อมเกิดเรื่อยๆ ถ้าสติไม่ระลึกรู้ว่าเป็นนามธรรมเป็นรูปธรรม ก็ไม่หมดกิเลส เพราะฉะนั้น การที่วิริยะเกิดขึ้นร่วมกับสติ เพียรระลึกรู้ว่า สภาพนั้นเป็นแต่เพียงนามธรรม เป็นแต่เพียงรูปธรรม ความเพียรในขณะนั้นทำกิจป้องกันอกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดขึ้นมิให้เกิดขึ้น


ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...

แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 149


เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ