วิริยะ คือ อาตาปี สัมมัปธานที่เกิดขึ้นนั้น ทำกิจทั้ง ๔
ที่จริงแล้ว ในขณะที่สติระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมหรือรูปธรรม วิริยะ คือ อาตาปี สัมมัปธานที่เกิดขึ้นนั้น ทำกิจทั้ง ๔
กิจที่ ๑ คือ เพียรป้องกันอกุศลที่ยังไม่เกิดขึ้นมิให้เกิดขึ้น เพราะรู้ว่าจะต้องเกิด ถ้าไม่เพียรระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปตามความเป็นจริงอย่างนี้ โลภะก็ต้องเกิด โทสะก็ต้องเกิด โมหะก็ต้องเกิด การที่ยึดถือสภาพของนามและรูปว่าเป็นตัวตนก็ไม่ดับหมดสิ้น เพราะฉะนั้น ทางเดียวที่จะดับไม่ให้อกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดไม่ให้เกิด คือ สติระลึก สัมมาวายามะก็เป็นไปกับสติ สัมมัปธานนั้นเป็นไปพร้อมกับสติ เป็นมรรคองค์หนึ่งในมรรคมีองค์ ๘
กิจที่ ๒ ของสัมมัปธาน คือ เพียรละบาปอกุศลธรรมที่เกิดแล้ว
ใครห้ามบาปอกุศลธรรมไม่ให้เกิดได้บ้าง เมื่อมีเชื้อของโลภะ โลภะก็ต้องเกิด เมื่อมีเชื้อของโทสะ โทสะก็ต้องเกิด เมื่อยังมีเชื้อของกิเลสใดๆ ที่ได้สะสมมา กิเลสนั้นๆ ก็ต้องเกิด ตามเหตุตามปัจจัย ซึ่งทางเดียวที่จะเพียรละบาปอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว คือ สติระลึกรู้ลักษณะนั้นว่า เป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง ขณะที่สติเกิดระลึกรู้ ขณะนั้นเป็นกุศลจิต เพราะฉะนั้น ก็เป็นการละอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นในขณะนั้นได้
กิจที่ ๓ ของสัมมัปธาน คือ เพียรเจริญกุศลที่ยังไม่เกิดขึ้นให้เกิดขึ้น
กุศลธรรมมีหลายอย่าง ทานเกิดขึ้นแล้ว เกิดขึ้นอีก ศีลเกิดขึ้นแล้ว ก็เกิดขึ้นอีก แต่สัมมาทิฏฐิ ปัญญาที่รู้ชัดในสภาพนามธรรมและรูปธรรมว่าไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ที่จะเป็นญาณแต่ละขั้นนั้นเกิดแล้วหรือยัง ถ้าสติไม่ระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปในขณะนั้น ก็เพียรไปในทานซึ่งเกิดแล้วก็เกิดอีก กี่ภพ กี่ชาติ ก็มีทานอีก
ศีล ก็เพียรไปในศีล กี่ภพ กี่ชาติ ก็มีการวิรัติ มีการประพฤติตามศีล แต่ว่า ภาวนาปธานนั้น เพียรเจริญกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดขึ้นให้เกิดขึ้น ญาณต่างๆ วิปัสสนาญาณต่างๆ ความรู้ชัดเกิดแล้วหรือยัง ญาณใดเกิดแล้ว ญาณใดยังไม่เกิด หรือว่าญาณทั้งหมดยังไม่เกิดเลย เพียงแต่เป็นผู้ที่ปรารภสติ ระลึกรู้ลักษณะของนามและรูป เพื่อที่จะให้กุศลธรรมที่ยังไม่เกิดขึ้นนั้นให้เกิดขึ้น
ถ. (ไม่ได้ยิน)
สุ. ไม่ต้องเป็นห่วงสัมมัปธาน ๔ เพราะว่าขณะใดที่สติระลึกรู้สภาพที่เป็นนามว่าไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน มีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย เป็น อาตาปี เป็นสัมมัปธานทั้ง ๔ เป็นสัมมาวายามะ ซึ่งเป็นมรรคมีองค์ ๘ ในขณะนั้น ไม่ต้องมีตัวตนไปจัดทำ ๔ กิจ แต่วิริยเจตสิกในขณะนั้นทำกิจทั้ง ๔ ในขณะที่สติระลึกรู้ว่า สภาพนั้นเป็นนามธรรม เป็นรูปธรรม ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล
กิจที่ ๔ ของสัมมัปธาน กิจสุดท้าย คือ อนุรักขณาปธาน เพียรรักษากุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วไม่ให้เสื่อม
ถ้าท่านระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมครั้งหนึ่ง ประเภทหนึ่ง ระลึกรู้ลักษณะของรูปธรรมชนิดหนึ่ง ทวารหนึ่ง และไม่ระลึกอีกบ่อยๆ ก็ไม่รู้ชัด ปัญญาก็ไม่แจ่มแจ้ง ซึ่งทางที่จะทำให้กุศลที่เกิดขึ้นแล้วไม่เสื่อม คือ ระลึกรู้สภาพของนามและรูปบ่อยๆ เนืองๆ
ถ. สัมมัปธานที่อาจารย์อธิบายไปแล้ว ก็พอเข้าใจได้ว่า วิริยเจตสิกนี้ เวลาเกิดร่วมกับสตินั้นทำกิจ ๔ อย่าง อย่างหนึ่งคอยกัน อย่างหนึ่งกำจัด อย่างหนึ่งทำให้เจริญ อีกอย่างทำหน้าที่รักษา เกิดขึ้นทีเดียวพร้อมกันเลย
มีบางท่านไปเจริญสติในที่บางแห่ง ท่านบอกว่าต้องนั่งจนรู้สึกเมื่อยแล้วจึงจะเปลี่ยน การนั่งจนให้รู้สึกเมื่อยจึงจะเปลี่ยนเช่นนี้ จะเรียกว่าสัมมัปธาน หรืออย่างไรครับ
สุ. ชีวิตจริงๆ เป็นปกติเป็นอย่างนั้นหรือเปล่า ชีวิตทุกๆ วันเป็นปกติธรรมดาเป็นอย่างนั้นหรือเปล่า การเจริญสติปัฏฐาน คือ การเป็นผู้มีปกติเจริญสติ ไม่ใช่เป็นผู้ผิดปกติทำวิปัสสนา ขณะใดที่ท่านเป็นปกติอยู่ และสติระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปทีละอย่างที่กำลังเกิดขึ้นปรากฏในขณะนั้น นั่นเป็นการที่สัมมาสติเกิดขึ้นระลึกเพื่อรู้ แล้วก็ละการที่เคยยึดถือนามรูปใดๆ ที่เกิดกับท่านว่าเป็นตัวตน
ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...