สัปปุริสธรรม คือ ธรรมของผู้สงบกิเลส อสัปปุริสธรรม คือ ผู้ที่ไม่ใช่สัตบุรุษ

 
สารธรรม
วันที่  9 ต.ค. 2565
หมายเลข  44588
อ่าน  199

ขอกล่าวถึง มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสถ์ สัปปุริสสูตร ที่มีข้อความว่า

ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่พระวิหารเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี สมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย

ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสดังนี้ว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงสัปปุริสธรรม และอสัปปุริสธรรมแก่พวกเธอ เธอทั้งหลายจงฟังธรรมนั้น จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าวต่อไป

ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคว่า

ชอบแล้ว พระพุทธเจ้าข้า

สัปปุริสธรรม คือ ธรรมของผู้สงบกิเลส อสัปปุริสธรรม คือ ผู้ที่ไม่ใช่สัตบุรุษ

ข้อความต่อไปมีว่า

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสดังนี้ว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อสัปปุริสธรรมเป็นอย่างไร คือ อสัตบุรุษในโลกนี้เป็นผู้ออกจากสกุลสูง บวชแล้ว ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า เราเป็นผู้ออกจากสกุลสูง บวชแล้ว ส่วนภิกษุอื่นเหล่านี้มิใช่เป็นผู้ออกจากสกุลสูง บวชแล้ว อสัตบุรุษนั้นจึงยกตนข่มผู้อื่น เพราะความเป็นผู้มีสกุลสูงนั้น

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย นี้คือ อสัปปุริสธรรม

ส่วนสัตบุรุษแล ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ธรรม คือ ความโลภ ความโกรธ ความหลง ย่อมไม่ถึงความหมดสิ้นไปเพราะความเป็นผู้มีสกุลสูงเลย ถึงแม้ภิกษุไม่ใช่เป็นผู้ออกจากสกุลสูง บวชแล้ว แต่เป็นผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบ ประพฤติธรรมอันสมควร คนทั้งหลายก็ต้องบูชาสรรเสริญเธอในที่ นั้นๆ สัตบุรุษนั้นทำการปฏิบัติแต่ภายในเท่านั้น ไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น เพราะความเป็นผู้มีสกุลสูงนั้น

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย นี้คือ สัปปุริสธรรม

ขอให้สังเกตพยัญชนะ ละอาคารบ้านเรือนแล้ว เป็นผู้ที่ศรัทธาที่จะสละกิเลส แต่เป็นอสัปปุริสธรรม หรือเป็นอสัตบุรุษ

ข้อความต่อไปมีว่า

ความโลภ ความโกรธ ความหลง ย่อมไม่ถึงความหมดสิ้นไปเพราะความเป็นผู้มีสกุลใหญ่ เพราะความเป็นผู้มีโภคะมาก เพราะเป็นผู้ปรากฏมียศ เพราะเป็นผู้ได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร เพราะความเป็นพหูสูต เพราะความเป็นพระวินัยธร เพราะความเป็นพระธรรมกถึก เพราะเป็นผู้อยู่ป่าเป็นวัตร เป็นผู้ทรงผ้าบังสุกุลเป็นวัตร เที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร อยู่โคนไม้เป็นวัตร อยู่ป่าช้าเป็นวัตร อยู่กลางแจ้งเป็นวัตร ถือการฉันในอาสนะเดียวเป็นวัตร

ข้อความต่อไป

ความโลภ ความโกรธ ความหลง ย่อมไม่ถึงความหมดสิ้นไป เพราะได้ ปฐมฌาน เป็นต้นไป จนถึงเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน

สำหรับข้อความเรื่องการอยู่ป่า ซึ่งก็จะตรงกับปัญหาของท่านที่ข้องใจ ข้อความโดยตรงจากพระไตรปิฎกมีว่า

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีก อสัตบุรุษเป็นผู้อยู่ป่าเป็นวัตร ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า เราเป็นผู้อยู่ป่าเป็นวัตร ส่วนภิกษุอื่นเหล่านี้ไม่ใช่เป็นผู้อยู่ป่าเป็นวัตร อสัตบุรุษนั้นจึงยกตนข่มผู้อื่น เพราะความเป็นผู้อยู่ป่าเป็นวัตรนั้น

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย แม้นี้ก็คือ อสัปปุริสธรรม

ส่วนสัตบุรุษแล ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ธรรม คือ ความโลภ ความโกรธ ความหลง ย่อมไม่ถึงความหมดสิ้นไปเพราะความเป็นผู้อยู่ป่าเป็นวัตร ถึงแม้ภิกษุไม่ใช่เป็นผู้อยู่ป่าเป็นวัตร แต่เป็นผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบ ประพฤติธรรมอันสมควร คนทั้งหลายก็ต้องบูชาสรรเสริญเธอในที่นั้นๆ

สัตบุรุษนั้นทำการปฏิบัติแต่ภายในเท่านั้น ไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น เพราะความเป็นผู้อยู่ป่าเป็นวัตรนั้น

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย แม้นี้ก็คือ สัปปุริสธรรม

จะตรงกับข้อข้องใจของท่านไหมที่ว่า การปลีกตัวออกไปปฏิบัติวิปัสสนาเป็นอัตตามีกล่าวไว้ในพระสูตรไหน คัมภีร์ไหน ถ้ายังไม่หมดอัตตา ก็ต้องเป็นอัตตา ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ตาม เพราะฉะนั้น การที่จะละการยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นอัตตาได้ ก็ด้วยการเจริญสติปัฏฐานเป็นปกติ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนนั่นเอง และโดยเฉพาะในเรื่องของปฐมฌาน ข้อความในพระไตรปิฎกมีว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีก อสัตบุรุษสงัดจากกาม สงัดจาก อกุศลธรรม เข้าปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติ และสุขเกิดแต่วิเวกอยู่ ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า เราเป็นผู้ได้ปฐมฌานสมาบัติ ส่วนภิกษุอื่นเหล่านี้ไม่ใช่เป็นผู้ได้ปฐมฌานสมาบัติ อสัตบุรุษนั้นจึงยกตนข่มผู้อื่นด้วยปฐมฌานสมาบัตินั้น

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย แม้นี้ก็คือ อสัปปุริสธรรม

ถ้าไม่เจริญสติเป็นปกติแล้ว อยู่ป่าได้ฌาน ก็ยังเป็นเรา เป็นอสัตบุรุษ

เพื่อที่จะให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ขอกล่าวถึงข้อความอื่นๆ


ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...

แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 151

แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 152


เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ