อาจารย์สอนว่า ให้รู้เย็น ร้อน อ่อน แข็ง มีอยู่ในพระสูตรไหน

 
สารธรรม
วันที่  9 ต.ค. 2565
หมายเลข  44590
อ่าน  182

ขอตอบคำถามข้อ ๒ ที่ว่า ผมเคยได้ยินว่า ในสติปัฏฐานให้รู้ว่า นั่ง ยืน เดิน นอน ในท่าทางอาการ แต่อาจารย์สอนว่า ให้รู้เย็น ร้อน อ่อน แข็ง มีอยู่ในพระสูตรไหน

ขอกล่าวถึง ทีฆนิกาย มหาวรรค มหาสติปัฏฐานสูตร โดยตรง

ใน อิริยาบถบรรพ มีข้อความว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่ง ภิกษุเมื่อเดินก็รู้ชัดว่าเราเดิน เมื่อยืนก็รู้ชัดว่าเรายืน เมื่อนั่งก็รู้ชัดว่าเรานั่ง เมื่อนอนก็รู้ชัดว่าเรานอน เมื่อเธอตั้งกายไว้ ด้วยอาการอย่างใดๆ ก็รู้ชัดอาการอย่างนั้นๆ ดังพรรณนามาฉะนี้

ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกาย ในกายภายในบ้าง พิจารณาเห็นกาย ในกายภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นกาย ในกายทั้งภายในทั้งภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือ ความเกิดขึ้นในกายบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือ ความเสื่อมในกายบ้าง ย่อมอยู่

อีกอย่างหนึ่ง สติของเธอที่ตั้งมั่นอยู่ว่า กายมีอยู่ก็เพียงสักว่าความรู้ เพียงสักว่าอาศัยระลึกเท่านั้น เธอเป็นผู้อันตัณหาและทิฏฐิไม่อาศัยอยู่แล้ว และไม่ถือมั่นอะไรๆ ในโลก

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่า พิจารณาเห็นกายในกายอยู่

จบ อิริยาบถบรรพ

สำหรับคำถามของท่านผู้ข้องใจที่ถามว่า ผมเคยได้ยินว่า ในสติปัฏฐานให้รู้ว่า นั่ง ยืน เดิน นอน ในท่าทางอาการ แต่อาจารย์สอนว่าให้รู้ เย็น ร้อน อ่อน แข็ง มีอยู่ในพระสูตรไหน

ก็มีอยู่ในพระไตรปิฎก แม้ใน มหาสติปัฏฐาน นี้เอง เพราะเหตุว่าข้อความมีว่า อีกข้อหนึ่ง ภิกษุเมื่อเดินก็รู้ชัดว่าเราเดิน

พยัญชนะใช้คำว่า รู้ชัด หมายความว่า รู้ตามปกติ ตามสภาพธรรมที่กำลังเป็นจริง ขณะนี้ทุกท่านกำลังนั่งอยู่ ทรงอยู่ในลักษณะอาการอย่างไร ถ้ามีความรู้ชัดในสภาพธรรมที่ทรงอยู่ ตั้งอยู่ในอาการนั้น ท่านจะต้องรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏซึ่งไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ในขณะนั้นตามความเป็นจริง

พยัญชนะที่ว่า ภิกษุเมื่อเดินก็รู้ชัดว่าเราเดิน คำว่า เรา เป็นคำสมมติที่หมายความว่า ไม่ใช่บุคคลอื่น แต่เวลาที่บุคคลนั้นเองกำลังเดิน ก็มีความรู้ชัด ความรู้ชัดต้องเป็นความรู้ตามปกติ เพราะเหตุว่าที่กำลังเดินอยู่ ถ้าระลึกที่กาย ส่วนที่เป็นกายที่กำลังเดินมีลักษณะอย่างไร ก็มีลักษณะเย็นที่เกิดขึ้นปรากฏ หรือว่าถ้ามีสภาพลักษณะที่อ่อน ที่ตึง ที่ไหวเกิดขึ้นปรากฏ เพราะฉะนั้น ที่ว่าให้รู้ท่าทางมีกล่าวไว้ที่ไหน ไม่มีเลย เพราะเหตุว่าพยัญชนะบอกว่า ภิกษุเมื่อเดินก็รู้ชัดว่าเราเดิน เมื่อยืนก็รู้ชัดว่าเรายืน เมื่อนั่งก็รู้ชัดว่าเรานั่ง เมื่อนอนก็รู้ชัดว่าเรานอน เมื่อเธอตั้งกายไว้ด้วยอาการอย่างใดๆ ก็รู้ชัดอาการอย่างนั้นๆ

อาการอย่างนั้นๆ ต้องเป็นสภาพธรรมที่มีลักษณะปรากฏ ไม่ใช่ไม่ปรากฏแล้วก็ไปนึกเอา แต่จะต้องมีความรู้ชัดในอาการของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้น

ข้อความต่อไปเพิ่มความชัดเจนขึ้นอีกว่า

ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกาย ในกายภายในบ้าง พิจารณาเห็นกาย ในกายภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นกาย ในกายทั้งภายในทั้งภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นธรรม ...บ่งแล้วใช่ไหมว่า เป็นสภาพที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เป็นสภาพธรรมที่มีจริงที่ปรากฏ จึงได้พิจารณาเห็นธรรม คือ ความเกิดขึ้นในกายบ้าง

ถ้าไม่เกิดขึ้นจะปรากฏไหม สภาพธรรมทั้งหลายที่กำลังปรากฏ ที่ปรากฏเพราะเหตุว่าเกิดขึ้นจึงได้ปรากฏ เพราะฉะนั้น เวลาที่พิจารณากาย ก็พิจารณาเห็นธรรม คือ ความเกิดขึ้นในกายบ้าง

พิจารณาเห็นธรรม คือ ความเสื่อมในกายบ้าง ถ้ากำลังพิจารณาอยู่ สิ่งที่กำลังปรากฏก็หมดไปเป็นความเสื่อม ย่อมอยู่

อีกอย่างหนึ่ง สติของเธอที่ตั้งมั่นอยู่ว่า กายมีอยู่ก็เพียงสักว่าความรู้

เพราะมีความรู้ในขณะนั้น กายจึงเป็นอารมณ์ จึงมีปรากฏได้ เพราะสติกำลังระลึกรู้สภาพที่กำลังปรากฏในขณะนั้น

กายมีอยู่ก็เพียงสักว่าความรู้ เพียงสักว่าอาศัยระลึกเท่านั้น เธอเป็นผู้อันตัณหาและทิฏฐิไม่อาศัยอยู่แล้ว และไม่ถือมั่นอะไรๆ ในโลก

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แลภิกษุชื่อว่า พิจารณาเห็นกายในกายอยู่

เพราะฉะนั้น ทุกท่านจะต้องเทียบเคียงสภาพธรรมตามความเป็นจริงทั้ง ๓ ปิฎก คือ ทั้งพระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก และพระอภิธรรมปิฎกด้วย ในพระ อภิธรรมปิฎกได้แสดงลักษณะของรูปไว้ทั้งหมด ๒๘ รูป และใน ๒๘ รูป สิ่งที่สติควรระลึกรู้ได้แก่รูปอะไร ถ้าเป็นกายปสาทแล้วต้องรู้สภาพที่อ่อน ที่แข็ง ที่เย็น ที่ร้อน ที่ตึง ที่ไหว ซึ่งมีเป็นปกติธรรมดา เมื่อลักษณะนั้นมีจริง สติควรระลึกไหม ควรรู้ไหม เพราะเป็นสภาพธรรมซึ่งมิใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เกิดขึ้นแล้วก็ปรากฏ เมื่อเกิดแล้วก็หมดไป

เพราะฉะนั้น ขอให้ท่านที่เข้าใจว่าจะต้องรู้ในท่าทางอาการ ตรวจสอบเทียบเคียงกับพระไตรปิฎกว่า การที่ท่านกล่าวว่าในขณะที่ยืนก็ตาม เดินก็ตาม นั่งก็ตาม นอนก็ตาม ที่ว่าให้รู้ท่าทางนั้นมีอยู่ในปิฎกไหน เพราะในรูปปรมัตถ์จะต้องเป็นสิ่งที่มีปรากฏจริงๆ ซึ่งสำหรับเรื่องของกายานุปัสสนาสติปัฏฐานในอิริยาบถบรรพนี้ ไม่ว่าจะนั่ง จะนอน จะยืน จะเดินก็ตาม ผู้ที่รู้ชัดในสภาพธรรมที่ปรากฏที่กาย ก็จะไม่พ้นไปจากสภาพลักษณะเย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหว

เพราะฉะนั้น ผู้ที่ไม่ได้รู้ลักษณะของรูปและนามตามปกติ แต่ไปเข้าใจว่า มี ท่านั่งจริงๆ แต่ไม่รู้รูปทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจตามปกติ ไม่ได้รู้อะไร เพราะมัวแต่ไปสร้างให้ความรู้สึกเกิดขึ้นว่าเป็นรูปเท่านั้น บังสภาพธรรมของรูปที่กำลังปรากฏนิดเดียวแล้วก็ดับไป ไม่ว่าจะเย็น ก็ปรากฏนิดหนึ่ง ร้อน ก็ปรากฏนิดหนึ่ง เสียง ก็ปรากฏนิดหนึ่ง นี่เป็นสภาพธรรมตามความเป็นจริงที่จะต้องระลึกรู้

ก็ขอให้พิจารณาเทียบเคียงข้อปฏิบัติของท่านกับความเป็นจริงว่า สิ่งที่ท่านเข้าใจว่าเป็นความจริงแล้ว เป็นการรู้แล้วนั้น ถูกต้องหรือไม่ ถ้าไม่ใช่ความรู้ที่ถูกต้อง ควรจะทิ้งเสีย แล้วเจริญความรู้ที่ถูกต้อง


ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...

แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 152


เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ