ตักบาตรแล้วได้อะไร
ปกติตักบาตรเกือบทุกเข้า แต่วันนี้วันพระ จึงมีผู้มาร่วมตักบาตรเพิ่มขึ้น ทุกคนเป็นคนรุ่นใหม่ (คือยึดคำสอนแบบกระบวนการทางวิทยาศาสตร์เป็นสรณะ ทราบว่าพุทธศานาดีแต่ไม่ศึกษาและมีคำถามมากมายเกี่ยวกับศาสนาซึ่ง ต้องการแสวงหาคำตอบเป็นวิทยาศาสตร์) มีคำถามเกิดขึ้นคือ ตักบาตรแล้วได้อะไร จะตอบคำถามนี้อย่างไรจึงสมควรค่ะ
การทำบุญตักบาตร เป็นการเสียสละทรัพย์ของตนเพื่อบูชาคุณของพระอริยสงฆ์ขณะที่ถวายทานนั้นสภาพจิตเป็นจิตที่ดีงาม เป็นเหตุให้เกิดผลที่ดี (กุศลวิบาก) ผู้ที่ให้ทานย่อมเป็นปัจจัยให้มีโภคสมบัติในที่ตนเกิดแล้ว ดังข้อความในจูฬกัมมวิภังคสูตรว่า
เชิญคลิกอ่าน ... ผลของการให้ [จูฬกัมมวิภังคสูตร]
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต
ข้อความบางตอนจากสุมนสูตร
สุ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น่าอัศจรรย์ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ไม่เคยมีข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้อนี้กำหนดได้ว่า ควรให้ทาน ควรทำบุญ เพราะบุญเป็นอุปการะแม้แก่เทวดา แม้แก่มนุษย์ แม้แก่บรรพชิต.
พ. อย่างนั้นสุมนา อย่างนั้นสุมนา ควรให้ทาน ควรทำบุญ เพราะบุญเป็นอุปการะแม้แก่เทวดา แม้แก่มนุษย์ แม้แก่บรรพชิต.
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑
ข้อความบางตอนจากมัจฉริสูตร คนตระหนี่กลัวภัยใดย่อมให้ทานไม่ได้
ภัยนั้นนั่นแลย่อมมีแก่คนตระหนี่ผู้ไม่ให้ทาน คนตระหนี่ย่อมกลัวความหิวและความกระหายใด ความหิวและความกระหายนั้นย่อมถูกต้องคนตระหนี่นั้นนั่นแล ผู้เป็นพาลทั้งในโลกนี้ และในโลกหน้า ฉะนั้น
บุคคลควรกำจัดความตระหนี่อันเป็นสนิมในใจ ให้ทานเถิด เพราะบุญทั้งหลายย่อมเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลายในโลกหน้า.
การตักบาตรเป็นไปเพื่อการละกิเลส ความตระหนี่ ไม่ได้เพื่อจะเอาหรือได้อะไร พระสงฆ์เป็นผู้สืบทอดคำสั่งสอนของพระศาสดา เป็นผู้มักน้อย สันโดษ ทำความเพียรเพื่อละกิเลส ต้องอาศัยข้าวน้ำที่คฤหัสถ์นำมาถวาย ถ้าไม่มีใครใส่บาตรแล้ว พระสงฆ์จะดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างไร
บางคำตอบ วิทยาศาสตร์ ยังไปไม่ถึงและให้คำตอบไม่ได้ เพราะเกินกำลังความสามารถที่จำกัดของมนุษย์ เพียงเรื่องจิต วิทยาศาสตร์ ก็ไม่สามารถอธิบายได้โดยละเอียด ทุกคนรู้ว่ามีจิต แต่ก็หาจิตไม่เจอ จะตั้งสมมติฐาน ออกแบบการทดลอง แล้วเอาจิตไปวัด ชั่งตวง ผสม สรุปผล และตั้งเป็นทฤษฎีได้อย่างไร ไม่มีใครจับต้องจิตได้ยกตัวอย่างความโกรธ ทุกคนรู้ตัวเองเวลาโกรธ บางทีโกรธมาก บางทีโกรธน้อย บางทีไม่โกรธ บางทีดีใจที่โกรธ หรือบางทีเสียใจที่โกรธ สามารถวัดนามธรรมเหล่านี้เป็นปริมาตรโดยวิธีทางวิทยาศาสตร์ได้ไหม
แม้แต่จิตวิทยา ก็เป็นศาสตร์ที่ศึกษาพฤติกรรมของมนุษย์ที่เป็นผลมาจากจิตประเภทต่างๆ ที่บัญญัติขึ้นจากการศึกษาและสังเกต แต่ไม่รู้ถึงต้นตอว่า กว่าที่จะบุคคลจะมีการกระทำอะไรสักอย่างเกิดขึ้นนั้น ก็เป็นเพราะมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ยังไม่ทันจะประจักษ์จิตและเจตสิกก็เกิดดับไปแล้วหลายต่อหลายขณะ ส่วนการที่บุคคลจะต้องประสบพบเจอสิ่งต่างๆ รอบตัวตั้งแต่เกิดจนตายก็เป็นเรื่องของกรรม ต่อให้จัดสภาพแวดล้อมเพื่อปรับพฤติกรรมยังไงก็ไม่สามารถทำให้บุคคลนั้นหนีพ้นผลของกรรม
เวลาใครมีพฤติกรรมที่ไม่เป็นที่ยอมรับของสังคม นักจิตวิทยาก็หาทางปรับ หาทางแก้ เช่น การวางเงื่อนไขโดยให้การเสริมแรงบ้าง เมินเฉยบ้าง ลงโทษบ้าง แต่ก็ไม่เห็นจะทำให้ใครเป็นคนดีจริงๆ กลับยิ่งเป็นการพอกพูนอกุศลในผู้นั้น ให้ยิ่งทุกข์หนัก มีแต่ความเห็นผิด ยึดติดอยู่กับความเป็นตัวตนสมบูรณ์โดยความไม่รู้
ถ้าไม่ได้ศึกษาจากพระปัญญาคุณของผู้ที่รู้ความจริงที่สุดของชีวิตคือ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็จะมีแต่ความสงสัย จะทำอะไรสักอย่างในแต่ละวันก็ต้องมุ่งหาผลก่อน หากมุ่งหาผลอย่างเดียวแต่ไม่ศึกษาถึงเหตุที่ถูก การจะเฉไปในทางที่ผิดก็ง่ายจริงๆ ครับ
พระพุทธศาสนาให้คำตอบที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อมวลมนุษย์ โดยเฉพาะ ผู้ที่ศึกษาถูกและปฏิบัติถูกจริงๆ ที่จะเป็นผู้ที่รู้ได้เฉพาะตน คุณ udomjit ควรตอบตามความจริงที่ได้ศึกษาโดยไม่จำเป็นต้องตอบให้อิงเกณฑ์ของวิทยาศาสตร์ครับ เพราะถึงจะพยายามพูดโน้มน้าวเชื่อมโยงให้เกี่ยวข้องกับสิ่งที่เขาเคยเรียนมายังไง แต่ถ้าผู้นั้นไม่คิดจะศึกษาเพราะยังไม่เห็นประโยชน์จริงๆ ก็เห็นจะเข้าใจตรงกันได้ยากครับ
ขอบพระคุณทุกท่านเป็นอย่างยิ่ง และขออนุญาตนำไปจัดบอร์ด ด้วยขณะนี้กำลังเชิญชวนนิสิตตักบาตรน้อมบุญแด่แม่ค่ะ
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
ตักบาตรได้อะไร ก็ต้องถามตัวเองก่อนว่า ตักบาตรทำไม การกระทำทุกอย่างต้องมีจุดประสงค์ เพื่อได้บุญ หรือเพราะเป็นสิ่งที่ดีจึงทำ เพราะรู้ว่าเรามีความตระหนี่ จึงทำ เพราะรู้ว่าเพศบรรพชิต หรือที่เรียกว่า ภิกษุ (แปลว่าผู้ขอ) ย่อมอยู่ได้ด้วยอาศัยอุบาสก อุบาสิกา อุปถัมภ์ เช่น ปัจจัย ๔ มี อาหาร เป็นต้น เพราะเป็นเพศ (บุุคคล) ที่ดำรงหรือสืบทอดพระศาสนา เป็นประธานในพุทธบริษัท เพราะเป็นหน้าที่ของอุบาสก อุบาสิกาที่ดี
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัยเรื่อง คนที่ไม่ตระหนี่ มีศรัทธา คนที่เป็นคนดีย่อมอนุเคราะห์หรือแสดงธรรมให้กับบุคคลที่ศรัทธาและไม่ตระหนี่ก่อน
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้าที่ 173
ข้อความบางตอนจาก สีหสูตร
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนสีหะ ถ้าอย่างนั้น จักย้อนถามท่านในปัญหาข้อนี้ก่อน ท่านพึงพยากรณ์ปัญหาข้อนั้นตามชอบใจท่าน ดูก่อนสีหะท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ในเมืองเวสาลีนี้ มีบุรุษอยู่ ๒ คน คนหนึ่งไม่มีศรัทธา ตระหนี่ ถี่เหนียว พูดเสียดสี คนหนึ่งมีศรัทธา เป็นทานบดี ยินดีให้ความสนับสนุน ดูก่อนสีหะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน พระอรหันต์ทั้งหลาย เมื่อจะอนุเคราะห์พึงอนุเคราะห์คนไหนก่อน จะเป็นคนไม่มีศรัทธา ตระหนี่ ถี่เหนียว พูดเสียดสี หรือคนที่มีศรัทธา เป็นทานบดี ยินดีให้ความสนับสนุน.
สี. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ คนที่ไม่มีศรัทธา ตระหนี่ถี่เหนียว พูดเสียดสี พระอรหันต์ทั้งหลายเมื่ออนุเคราะห์ จักอนุเคราะห์คนนั้นก่อนอย่างไรได้ ส่วนที่มีศรัทธา เป็นทานบดี ยินดีให้ความสนับสนุน พระอรหันต์ทั้งหลายเมื่ออนุเคราะห์ พึงอนุเคราะห์คนนั้นก่อนเทียว.
พ. ดูก่อนสีหะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน พระอรหันต์ทั้งหลายเมื่อเข้าไป พึงเข้าไปหาใครก่อน จะเป็นคนที่ไม่มีศรัทธา ตระหนี่ถี่เหนียว พูดเสียดสี หรือคนที่มีศรัทธา เป็นทานบดียินดีให้ความสนับสนุน.
สี. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ คนที่ไม่มีศรัทธา ตระหนี่ถี่เหนียว พูดเสียดสีพระอรหันต์ทั้งหลายเมื่อเข้าไปหา จักเข้าไปหาคนนั้นก่อนอย่างไรได้ ส่วนคนที่มีศรัทธา เป็นทานบดี ยินดีให้ความสนับสนุน พระอรหันต์ทั้งหลายเมื่อเข้าไปหา พึงเข้าไปหาคนนั้นก่อนเทียว.
พ. ดูก่อนสีหะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน พระอรหันต์ทั้งหลายเมื่อแสดงธรรม พึงแสดงแก่คนไหนก่อน จะเป็นคนที่ไม่มีศรัทธา. ตระหนี่ถี่เหนียว พูดเสียดสี หรือคนที่มีศรัทธา เป็นทานบดียินดีให้ความสนับสนุน.
สี. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ คนที่ไม่มีศรัทธา ตระหนี่ถี่เหนียว พูดเสียดสี พระอรหันต์ทั้งหลายเมื่อแสดงธรรม จักแสดงแก่คนนั้นก่อนอย่างไรได้ ส่วนคนที่มีศรัทธา เป็นทานบดี ยินดีให้ความสนับสนุน พระอรหันต์ทั้งหลายเมื่อแสดงธรรม พึงแสดงแก่คนนั้นก่อนเทียว.
พ. ดูก่อนสีหะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน กิตติศัพท์อันงามของคนไหน พึงขจรไป จะเป็นคนที่ไม่มีศรัทธา ตระหนี่ ถี่เหนียว พูดเสียดสี หรือคนที่มีศรัทธา เป็นทานบดี ยินดีให้ความสนับสนุน.
สี. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ คนที่ไม่มีศรัทธา ตระหนี่ถี่เหนียว พูดเสียดสี กิตติศัพท์อันงามของตนนั้น จักขจรไปได้อย่างไร ส่วนคนที่มีศรัทธา เป็นทานบดี ยินดีให้ความสนับสนุน กิตติศัพท์อันงามของคนนั้นเทียวพึงขจรไป.
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย เรื่อง อุบาสก อุบาสิกาที่ดี
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้าที่ 81 ข้อความบางตอนจาก หานิสูตร
อุบาสกใดไม่ขาด การเยี่ยมเยียนภิกษุผู้อบรมตน ไม่ละเลยการฟังอริยธรรม ศึกษาอยู่ในอธิศีล มีความเลื่อมใส เจริญยิ่งๆ ขึ้นไปในภิกษุทั้งหลาย ไม่ตั้งจิต ติเตียนปรารถนาฟังสัทธรรม ไม่แสวงหาเขต บุญอื่นภายนอกศาสนานี้ และกระทำสักการะ ก่อนในเขตบุญในศาสนานี้ อุบาสกนั้นซ่องเสพธรรมอันไม่เป็นที่ตั้งแห่งความเสื่อม อันเราแสดง ดีแล้ว ๗ ประการนี้แล ย่อมไม่เสื่อมจากสัทธรรม.
ขออุทิศกุศลให้สรรพสัตว์
ชีวิตบรรพชิตอยู่ได้ต้องอาศัยการบิณฑบาตเลี้ยงชีพ การตักบาตร เป็นการดำรงรักษาศาสนาอย่างหนี่ง เพื่อให้พระภิกษุอยู่ได้ การตักบาตรเป็นกุศล เป็นบุญ เมื่อเราทำเหตุดี ผลก็ดีค่ะ ที่สำคัญทุกครั้งที่เราให้ทานเป็นการขจัดกิเลสคือ ความตระหนี่
ขอบูชาคุณพระรัตนตรัย
ขออนุโมทนากับความคิดเห็นของทุกท่านค่ะ
ขอนุโมทนาค่ะ
พระธรรมนี้เป็นไปเพื่อละคลายจริงๆ หาศาสตร์ใดในโลกนี้ที่จะสอนให้ละคลายได้ยาก จนได้มาพบพระธรรมนี่แหละค่ะ