ผู้ที่เป็นอุปัชฌาย์ต้องรู้กิจที่ควรกระทำในการให้กุลบุตรบวช

 
สารธรรม
วันที่  12 ต.ค. 2565
หมายเลข  44647
อ่าน  173

ตติยสมันตปาสาทิกา อรรถกถาพระวินัย มหาวรรค วรรณนา บรรพชาวินิจฉัย มีข้อความว่า

ผู้ที่เป็นอุปัชฌาย์ที่จะให้กุลบุตรบวชนั้น จะต้องรู้กิจที่ควรกระทำในการให้กุลบุตรบวช

ถ้าฟังอย่างนี้ เหมือนไม่เกี่ยวข้องกับการเจริญสติปัฏฐานเลย บางท่านก็แยกพระวินัยไปปิฎกหนึ่งเลย แต่ท่านไม่ทราบเลยว่า ชีวิตของบรรพชิตนั้นเป็นเรื่องของการเจริญสติปัฏฐานในเพศของบรรพชิต เพราะฉะนั้น มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ได้ทรงแสดงไว้ในพระวินัย ก็จะเป็นประโยชน์เกื้อกูลให้ท่านเข้าใจในการเจริญสติปัฏฐานชัดเจนยิ่งขึ้น แม้ในการบรรพชาอุปสมบทนั้น ผู้ที่เป็นอุปัชฌาย์ที่จะให้กุลบุตรบวช ก็จะต้องรู้กิจที่ควรกระทำในการให้กุลบุตรบวช

ข้อความใน ตติยสมันตปาสาทิกา มีว่า

เพราะว่าอุตสาหะของผู้ที่ใคร่จะบวชเป็นของรุนแรงก่อน แต่ภายหลังได้เห็นผ้ากาสายะและมีดโกนผมเข้า จะตกใจและหนีไปเสียจากที่นั่นก็ได้ เพราะเหตุนั้น อุปัชฌาย์เองนั้นแล ควรนำไปยังท่าสำหรับอาบ ถ้ากุลบุตรนั้นไม่เป็นเด็กนัก พึงบอกว่า จงอาบเสีย ส่วนผมของเขาพึงถือเอาดินเหนียวสระให้เองทีเดียว ฝ่ายกุลบุตรที่ยังเป็นเด็กย่อม อุปัชฌาย์พึงลงน้ำ ขัดสีด้วยโคมัย และดินเหนียว อาบให้เอง ถ้าว่าเขาเป็นหิดด้าน หรือฝีอยู่บ้าง มารดาไม่เกลียดบุตรฉันใด อุปัชฌาย์ไม่พึงเกลียดฉันนั้นทีเดียว พึงให้อาบขัดสี ตั้งแต่มือและเท้าจนถึงศีรษะเป็นอันดี

นี่เป็นชีวิตปกติหรือเปล่า

ถามว่า เพราะเหตุไร คือ ทำไมจึงต้องทำอย่างนั้นด้วย

ตอบว่า เพราะว่าด้วยอุปการะเพียงเท่านี้ กุลบุตรทั้งหลายจะเป็นผู้มีความรักแรงกล้า มีความเคารพมากในอาจารย์และอุปัชฌาย์ และในพระศาสนา จะเป็นผู้ไม่หวนกลับเป็นธรรมดา จะบรรเทาความเบื่อหน่ายที่เกิดขึ้นเสีย อยู่ไปจนพระเถระ จะเป็นผู้กตัญญูกตเวที

พยัญชนะมีว่า จะบรรเทาความเบื่อหน่ายที่เกิดขึ้นเสีย แม้แต่เป็นบรรพชิต มีศรัทธาที่แรงกล้าที่จะบวช แต่อาจจะเบื่อหน่ายได้

ข้อความต่อไปมีว่า

ในเวลาที่ให้อาบน้ำ หรือในเวลาปลงผมและหนวด ควรพึงสอน ตจปัญจกกัมมัฏฐานให้

ตจปัญจกกัมมัฏฐาน คือ ให้ระลึกถึงผม ขน เล็บ ฟัน หนัง

และเมื่อบอก พึงชี้แจงให้ชัดเจนถึงข้อที่ส่วนทั้ง ๕ นั้น เป็นของไม่สะอาด น่าเกลียด ปฏิกูลด้วยอำนาจสี สัณฐาน กลิ่น ที่อาศัย และโอกาส หรือข้อที่ส่วนทั้ง ๕ นั้น ไม่ใช่ผู้เป็นอยู่ ไม่ใช่สัตว์ ก็ถ้าในกาลก่อน เขาเป็นผู้เคยพิจารณาสังขาร เจริญภาวนามา เป็นเหมือนฝีที่แก่เต็มที่ คอยรอการบ่งด้วยหนาม และเหมือนดอกปทุมที่แก่คอยรอพระอาทิตย์ขึ้น ทีนั้นเมื่อการพิจารณากัมมัฏฐาน สักว่าเขาปรารภแล้ว ญาณที่จะบดกิเลสให้แหลกไปเพียงดังภูเขานั้นแล ย่อมเป็นไปราวกะอาวุธของพระอินทร์ แล่งภูเขาให้แหลกละเอียดไปฉะนั้น เขาย่อมบรรลุพระอรหัตในเวลาปลงผมเสร็จทีเดียว จริงอยู่แต่แรกทีเดียว กุลบุตรเหล่าใดเหล่าหนึ่งได้สำเร็จพระอรหัตในขณะปลงผมเสร็จ กุลบุตรเหล่านั้นทั้งหมดได้การฟังเห็นปานนี้ อาศัยนัยซึ่งอาจารย์ผู้เป็นกัลยาณมิตรให้ จึงได้สำเร็จ ไม่ได้อาศัยแล้ว หาสำเร็จไม่ เพราะเหตุนั้นอุปัชฌาย์จึงควรกล่าวถ้อยคำเช่นนั้นแก่เขา

เป็นชีวิตปกติหรือเปล่า ไม่ได้สอนให้ทำอย่างอื่นที่คลาดเคลื่อนจากการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงเลย ไม่ได้จำกัดสถานที่ ไม่ได้จำกัดเวลาว่า การรู้แจ้งอริยสัจธรรมนั้นต้องที่ไหนและขณะใด ขึ้นอยู่กับเหตุ คือ การเจริญสติ การพิจารณาสังขาร การอบรมภาวนามามากแล้ว ท่านเคยได้ยินคำว่าบารมีบ่อยๆ ท่านผู้นั้นบรรลุเพราะได้เจริญอบรมบารมีมามากแล้ว ตราบใดที่ยังไม่ถึงฝั่ง สติที่เกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปแต่ละขณะ ก็คือ บารมีที่จะให้ถึงฝั่งนั่นเอง

เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ท่านท้อถอย ถ้าท่านเข้าใจแล้ว อวิชชาและตัณหาก็จะไม่พาให้ท่านคลาดเคลื่อนไปจากการที่สติจะระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่เกิดปรากฏในขณะนี้


ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...

แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 156


เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ