อาจารย์ช่วยตอบให้ผู้ที่จะเข้าห้องกัมมัฏฐานฟังด้วย

 
สารธรรม
วันที่  14 ต.ค. 2565
หมายเลข  44681
อ่าน  232

. อาจารย์บอกว่าไม่จำเป็นต้องเข้าห้องกัมมัฏฐาน ดิฉันคิดว่าการเข้าห้องกัมมัฏฐานก็ต้องไปอาศัยอาจารย์ที่จะให้ความรู้ต่อไปเหมือนกัน เพราะดิฉันเองก็มีความรู้ความเข้าใจน้อย ขอท่านอาจารย์ช่วยตอบให้ผู้ที่จะเข้าห้องกัมมัฏฐานฟังด้วย

สุ. ไม่ใช่ตอบให้ผู้เข้าห้องกัมมัฏฐาน ท่านที่เข้าใจลักษณะของสติ ท่านก็เจริญสติปัฏฐานกันเป็นปกติ ไม่ใช่ว่าจะชี้แจงสำหรับผู้ที่จะไปเข้าห้อง เพราะเหตุว่าในพระไตรปิฎกไม่มีเรื่องของการไปสู่สำนักปฏิบัติที่เป็นห้องเล็กๆ พระภิกษุท่านจะไปที่ไหนก็ได้ แล้วท่านก็เป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติ ถ้าสติไม่เริ่มระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏเดี๋ยวนี้ เมื่อไรจะรู้ชัดได้

. ที่อาจารย์พูดก็ถูก สำหรับคนที่จะพอเข้าใจบ้าง คนที่อ่านหนังสือพอเป็นมาบ้าง แต่สำหรับผู้ที่อ่านหนังสือไม่เป็น คิดว่ายังคงยาก เพราะฉะนั้น ดิฉันอยากจะพูดในฐานะที่เคยไปเข้าห้องกัมมัฏฐาน เข้าห้องกัมมัฏฐานกับไม่เข้าห้องกัมมัฏฐาน ความรู้สึกในการมีสตินั้นต่างกันมาก เมื่อเราอยู่ข้างนอกเราก็รู้เหมือนกัน แต่ไม่ใช่รู้อย่างในห้องกัมมัฏฐาน จึงเห็นคุณประโยชน์ในการเข้าห้องกัมมัฏฐานว่า นอกห้องกัมมัฏฐาน มีอารมณ์ภายนอกมากมายเหลือเกิน จนเราไม่สามารถจะย้อนกลับไปดูอารมณ์ภายในใจของเราได้ เป็นเหตุให้จิตออกไปข้างนอก ไปดูอารมณ์ข้างนอกหมด ไม่ได้ย้อนกลับมาดูในจิตของตัวเอง สมัยที่เข้าห้องกัมมัฏฐาน จิตถูกปิดบังเหลืออยู่แต่ภายใน อารมณ์ภายนอกไม่เข้ามากระทบเลย เหลือแต่อารมณ์ภายใน ขณะนั้นจิตก็ไปจับอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งได้ชัดเจน ฉะนั้นการไม่เข้าห้องกัมมัฏฐาน คงไม่ได้ประโยชน์อะไรเลยในชีวิต

นี่เป็นความคิดที่ดิฉันได้มาจากการเข้าห้องกัมมัฏฐาน และระลึกนึกถึงคุณของพระพุทธเจ้าว่า การที่พระองค์ให้อยู่ตามเคหะสถานหรือบ้านเรือนร้างนี้ เพราะเป็นอารมณ์โดดเดี่ยว ไม่กังวล หรือยุ่งต่ออารมณ์ใดๆ ภายนอก จึงสามารถรู้อารมณ์ปัจจุบันได้ชัดเจน ก็เป็นความจริงสำหรับผู้ปฏิบัติหรือเข้าถึงความจริง แล้ว ก็เข้าใจถูกต้อง แต่สำหรับผู้ที่ยังไม่ปฏิบัติเลย ทันทีทันใดจะให้รู้เลย ดิฉันว่ายาก แม้ในขณะนี้ เป็นปัจจุบันอารมณ์ สติสัมปชัญญะอะไรจะเกิด ดิฉันก็พอจะจับได้ เดี๋ยวนี้อกุศลหรือกุศลกำลังเกิดขึ้น สติระลึกได้ ความรู้สึกก็เคยจับอยู่เสมอเหมือนกัน ก็เป็นนัยหนึ่งตามที่ได้เคยเข้าห้องปฏิบัติมา

สำหรับผู้ที่อยู่ข้างนอก และไม่ได้ปฏิบัตินั้น ยังอีกมากมาย จะว่าเขาไม่รู้ เขาก็ว่าเขารู้ จะว่าเขารู้ เขาก็ยังไม่ค่อยเข้าใจชัดเจน ด้วยเหตุนี้แหละดิฉันจึงเห็นว่า การไม่เข้าห้องกัมมัฏฐานจะรู้ได้ก็สำหรับบุคคลที่เป็นอุคฆฏิตัญญู หรือบุคคลที่มีปัญญาใกล้จะหลุดพ้น หรือบารมีเปี่ยมแล้ว แต่สำหรับดิฉันเป็นปทปรมบุคคล มีความเข้าใจว่า จำเป็นต้องเข้าห้องกัมมัฏฐาน

สุ. แล้วเจริญอย่างไร จึงได้รู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ได้

ถ. ยังไม่ได้กล่าวถึงขณะนี้ แต่กล่าวถึง ขณะที่เคยได้ปัจจุบันอารมณ์ชัดเจนเป็นสันตติขาด การเห็นโดยลักษณะสันตติขาดนี้จึงรู้เงื่อนต้นและเงื่อนปลายแห่งสังสารวัฏฏ์ที่เราได้เวียนว่ายตายเกิด นี่เป็นหลักหนึ่ง

บุคคลผู้ไม่เคยเจริญสติ ย่อมไม่เข้าใจชัดเจนในอารมณ์ปัจจุบัน ยิ่งไปกว่านั้น ก็ไม่สามารถมีสติระลึกรู้ตามทันได้ เหมือนโจรผู้ร้ายเข้ามาในบ้านมาดึงเอาเราไปด้วย นี่เรียกว่าเราขาดสติสัมปชัญญะ แต่ถ้าเรามีสติสัมปชัญญะ ผู้ร้ายเข้ามา ผู้เฝ้าประตูก็ย่อมรักษาประตู หรือรู้ว่าขณะนี้ผู้ร้ายเข้าบ้านแล้ว นายประตูคือสตินั่นเอง เมื่อสติดี นายประตูเฝ้า โจรจะเข้ามา สติสัมปชัญญะก็ไม่ยอมให้เข้า มีหน้าที่คอยประหารอย่างเดียว นี่เรียกว่าเป็นผู้รู้แล้ว แต่ผู้ที่ไม่รู้ ก็คงไม่มีโอกาสที่จะไปฆ่า จะไปเผาผลาญให้พวกผู้ร้ายออกไปได้ นี่ก็เป็นนัยของพวกกิเลส

พวกที่ไม่เข้ากัมมัฏฐาน ดิฉันว่ายาก ดิฉันเห็นว่า การเข้าห้องกัมมัฏฐานนี้มีประโยชน์มากเท่าที่ดิฉันได้ผ่านมา นี่เอาความรู้สึกจากจิตใจมาพูดให้ฟัง เพราะฉะนั้น ดิฉันคัดค้านที่อาจารย์พูดที่ว่าไม่ต้องเข้าห้องกัมมัฏฐาน เปรียบห้องกัมมัฏฐานก็เหมือนกับโรงเรียน ถ้าการสร้างโรงเรียนแล้วไม่มีประโยชน์ คนทั้งหลายก็ย่อมไม่สร้างโรงเรียน หรือไม่สร้างห้องกัมมัฏฐาน ถ้าไม่ได้เป็นประโยชน์อะไร เพราะคนหนึ่งๆ สร้างสำนักหมดทุนเป็นแสน สามถึงสี่แสน หกแสนก็มีเท่าที่ดิฉันรู้มา เพราะฉะนั้น ถ้าไม่เป็นประโยชน์ ผู้สร้างก็คงไม่มีมหากุศลจิตอะไรมากมาย แต่ผู้สร้างเห็นประโยชน์อย่างยิ่งจึงสร้าง

สุ. ในพระไตรปิฎก มีท่านผู้ใดสร้างสำนักปฏิบัติสำหรับฆราวาสบ้าง ครั้งโน้นพระธรรมไม่คลาดเคลื่อนเลย ถ้าการเจริญสติปัฏฐานจะต้องทำอย่างนั้น ทำไมไม่ปรากฏในพระไตรปิฎกว่า ฆราวาสจะต้องไปจำกัดสถานที่หรืออะไรๆ หรือแม้ภิกษุ พระผู้มีพระภาคก็มิได้ทรงมีข้อบังคับกฎเกณฑ์ว่า จะต้องเจริญอยู่ในห้อง ขอคำอธิบายตอนนี้ด้วย


ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...

แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 159


เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ