การปฏิบัตินั้น เหตุกับผลต้องตรงกัน

 
สารธรรม
วันที่  16 ต.ค. 2565
หมายเลข  44707
อ่าน  338

. กระผมได้มีโอกาสสนทนากับท่านผู้หนึ่งที่บอกว่า เจริญสติปัฏฐานได้ผล ท่านบอกว่า ท่านเจริญโดยวิธีรู้รูป รู้นามตามทวารทั้ง ๖ ที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง คือ ทางตา ทางหูท่านให้กำหนดที่นาม เพราะสักกายทิฏฐิอยู่ที่นี่

ผมก็เรียนถามท่านต่อไปว่า การกำหนดกายานุปัสสนาสติปัฏฐานนี้ ในฐานะของอิริยาบถควรจะกำหนดอย่างไร ท่านบอกว่ากำหนดโดยวิธีรู้รูป เป็นรูปนั่ง รูปยืน รูปเดิน รูปนอน คือ สำหรับผู้มีปัญญาน้อยก็ต้องรู้อย่างนี้ไปก่อน ต้องรู้ให้ชินเสียก่อน

ถามถึงเสียงว่ารู้อย่างไร ท่านบอกว่า กำหนดที่เสียง รู้ที่เสียงเรื่อยไป รู้ว่าเป็นเสียงอย่างเดียว ไม่ต้องรู้ว่าเป็นเสียงอะไรทั้งนั้น ส่วนรูปท่านก็บอกว่า ผู้มีปัญญาอ่อนต้องรู้ทั้งแท่งก่อน

ถามถึงที่ท่านบอกว่าท่านรู้แล้ว ท่านได้ผล ได้ผลอย่างไร ท่านก็บอกว่า ก็รู้รูปรู้นามตามความเป็นจริงที่เกิดขึ้น และท่านก็กล่าวว่า นี่แหละเป็นญาณ

อีกคนหนึ่ง ที่เคยเล่าไปแล้ว ท่านบอกว่า รูปนาม คือ รูปยืน เดิน นั่ง นอน อะไรๆ ต่างๆ เหล่านี้ ท่านก็กำหนดไปตลอดเวลา ๖ วันนั้น ท่านบอกว่าเป็นสมาธิทั้งหมดเลย จนกระทั่งวันที่ ๗ ท่านระลึกได้ว่า ไม่ถูก ใช้ไม่ได้ ท่านก็กำหนดที่จิต แต่กำหนดที่จิตนี้กำหนดอะไรก็ไม่รู้ รู้แต่ว่าอึดอัดเหลือเกิน ผมก็บอกว่าเป็นเวทนา ทำไมท่านไม่รู้ ท่านบอกว่าตอนนั้นไม่รู้ พออึดอัดๆ แล้วก็ล้มลง ตอนล้มลงดูเสมือนว่า จิตมิได้สั่งให้รูปทรงอยู่เสียแล้ว รูปจึงล้มลงไปเพราะมัวกำหนดที่จิตอยู่

สุ. จะเห็นได้ว่า การปฏิบัตินั้น เหตุกับผลต้องตรงกัน ถ้าเหตุเป็นอย่างนี้ ผลก็คือ ไม่ได้มีความรู้อะไร เพราะว่าข้อปฏิบัติไม่ใช่ระลึกรู้สภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง

สำหรับผู้ที่ดูรูปทั้งแท่ง เป็นท่านั่ง ท่านอน ท่ายืน ท่าเดิน มีโอกาสจะรู้ปฐวีธาตุ เตโชธาตุ อาโปธาตุ วาโยธาตุ และอากาสธาตุไหม เวลาที่ธาตุลม ที่ตึงหรือไหวไป ที่กำลังปรากฏที่ส่วนหนึ่งส่วนใดก็ตาม เป็นทั้งแท่งหรือเปล่า เวลาที่ไหวกำลังปรากฏ ก็ปรากฏหลายๆ กลาป แต่ว่าลักษณะไหวเท่านั้น เวลาที่อ่อนกำลังปรากฏ ก็หลายๆ กลาป แต่ว่าลักษณะอ่อนเท่านั้น ผู้ที่รู้ชัดยิ่งขึ้นตามความเป็นจริงจะไม่มีความสงสัยในอรรถที่ได้ทรงแสดงไว้เลย เป็นเรื่องปกติธรรมดาจริง แต่ว่าอารมณ์นั้นลึกซึ้ง อารมณ์นั้นละเอียด ซึ่งท่านที่ประจักษ์ลักษณะของอารมณ์ถูกต้องตามความเป็นจริง ท่านก็เข้าใจได้ในความลึกซึ้งของอารมณ์นั้น

ที่บอกว่ากำลังนั่ง แต่ไม่ให้รู้อ่อน แข็ง เย็น ร้อน ตึง ไหว ท่านก็ปฏิเสธพระไตรปิฎก จะไปรู้ทั้งแท่งรวมกัน ก็ไม่มีโอกาสที่จะรู้อากาสธาตุหรือความเป็นกลาป กลุ่มของรูปหลายๆ กลุ่มที่ปรากฏรวมกันอย่างละเอียด


ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...

แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 164


เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ