ทาน ๘ ประการนี้ ๘ ประการเป็นไฉน คือ

 
สารธรรม
วันที่  16 ต.ค. 2565
หมายเลข  44739
อ่าน  191

สำหรับการเจริญสติปัฏฐานเป็นปกติในชีวิตประจำวัน แม้ในขณะที่เป็นกุศลจิต และในขณะที่ให้ทาน เพื่อที่ให้ได้รู้จักตัวท่านอย่างแท้จริง

ขอกล่าวถึงข้อความในพระไตรปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต ทานสูตรที่ ๑ มีว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ทาน ๘ ประการนี้ ๘ ประการเป็นไฉน คือ

บางคนเตรียมไว้ให้ทาน ๑

บางคนให้ทานเพราะกลัว ๑

บางคนให้ทานเพราะนึกว่า เขาให้แก่เราแล้ว ๑

บางคนให้ทานเพราะนึกว่า เขาจักให้ตอบแทน ๑

บางคนให้ทานเพราะนึกว่า ทานเป็นการดี ๑

บางคนให้ทานเพราะนึกว่า เราหุงหากิน ชนเหล่านี้หุงหากินไม่ได้ เราหุงหากินได้ จะไม่ให้ทานแก่ชนเหล่านี้ผู้ไม่หุงหากิน ไม่สมควร ๑

บางคนให้ทานเพราะนึกว่า เมื่อเราให้ทาน กิตติศัพท์อันงามย่อมฟุ้งไป ๑ บางคนให้ทานเพื่อประดับปรุงแต่งจิต ๑

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ทาน ๘ ประการนี้แล

ท่านที่เคยให้ทานมาแล้ว เป็นไปในลักษณะใดบ้างใน ๘ อย่างนี้

มโนรถปูรณี อรรถกถาอังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต มีคำอธิบายว่า

การให้ทานประการที่ ๑

บางท่านนั้นเป็นผู้ที่ตระเตรียมไว้พร้อมที่จะให้ทาน มีอุปนิสัยที่ได้สะสมมาในการที่จะระลึกถึงบุคคลอื่น ในการที่จะสละวัตถุที่ท่านมี จะมากหรือจะน้อยก็ตาม แต่เป็นผู้พร้อมที่จะให้ได้ เวลาที่มีผู้ที่สมควรแก่การรับ ท่านก็ไม่ลำบากใจ ไม่วุ่นวายใจ เพราะเหตุว่าท่านยังไม่ได้ตระเตรียมวัตถุที่จะให้ไว้

อย่างเช่น บางท่านอาจจะเตรียมน้ำไว้สำหรับคนเดินทางที่หิวกระหายมา เตรียมอาหาร เตรียมขนม เตรียมเสื้อผ้า ของใช้ ซึ่งพร้อมที่จะอุปการะเกื้อกูลกับบุคคลอื่น ซึ่งสมควรแก่การที่จะได้รับการเกื้อกูลนั้นๆ นี่เป็นท่านที่เตรียมไว้ให้ทาน

ประการที่ ๒ คือ บางคนให้ทานเพราะกลัว

ไม่ได้หมายความว่า ให้อย่างโจรผู้ร้ายมาขู่เข็ญไป อย่างนั้นไม่ใช่ทาน เพราะไม่มีเจตนาให้

สำหรับทาน ถ้ากล่าวถึงสภาพธรรมได้แก่ เจตนาที่เป็นเหตุให้ ชื่อว่า ทาน

ถ้าให้โดยไม่มีเจตนา ตกไป หายไป จะกล่าวว่าเป็นทานได้ไหม ไม่ได้ ไม่มีเจตนาที่จะให้

เจตนา เป็นเจตสิกธรรมชนิดหนึ่ง เป็นความจงใจ เป็นความตั้งใจ เพราะ ฉะนั้น เจตนาที่เป็นเหตุให้นั้น ชื่อว่า ทาน

ทานมีความหมาย ๓ อย่าง คือ จาคเจตนา เจตนาให้ ๑ วิรัติ คือ เจตนาเว้นทุจริต ซึ่งได้แก่ศีล เป็นอภัยทานทั้งหมด ๑ และมุ่งหมายถึงไทยธรรม คือ วัตถุที่ให้ มีข้าว น้ำ เป็นต้น ๑

แต่สำหรับเรื่องของบุญกิริยา ที่กล่าวถึงทานนั้นมุ่งหมาย จาคเจตนา คือ เจตนาให้วัตถุเป็นทาน

เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ว่าของหายไป ตกหล่นไปก็จะเป็นทาน หรือว่า ถูกข่มขู่ก็ให้ไป แล้วกล่าวว่าเป็นทานก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้น ที่เป็นทานเพราะบางคนนั้นให้ทานเพราะกลัว กลัวในที่นี้ หมายความถึงกลัวครหา กลัวว่าจะเสื่อมเสียชื่อเสียงว่า ผู้นี้ไม่ใช่ทายก ผู้นี้ไม่ใช่ผู้ให้ บางคนกลัวอย่างนั้นจึงให้ ก็เป็นเจตนาให้เหมือนกัน แต่ว่าให้เพราะอะไร สภาพธรรมที่เกิดปรากฏเป็นของจริงในขณะนั้น ก็เป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง จะเพราะกลัวครหา กลัวว่าจะเป็นที่ติเตียนว่าไม่ใช่ทายก ไม่ใช่ผู้ให้จึงได้ให้ แต่การให้นั้น คนอื่นไม่สามารถจะรู้ได้ แต่ผู้ที่เจริญสติรู้ได้ขณะนั้นก็เป็นแต่เพียงนามธรรมชนิดหนึ่ง

ประการที่ ๓ คือ บางคนให้ทานเพราะนึกว่า เขาให้แก่เราแล้ว

การให้มีหลายลักษณะ บางทีให้ด้วยคิดว่า เมื่อก่อนนี้ผู้นี้ได้ให้สิ่งนี้แก่เรา ก่อน จึงให้เป็นการตอบแทน การให้เป็นเรื่องดี แต่ถ้าคนนั้นไม่เคยให้อะไรเราเลย เราจะไม่ให้เขาอย่างนั้นหรือ เป็นเรื่องของแต่ละคน เพราะจิตของท่านสะสมมาที่จะคิดจะนึกอย่างไร ห้ามไม่ได้ แต่สติสามารถระลึกรู้ลักษณะของการให้ว่า ขณะที่ให้ไปในแต่ละครั้งนั้น เป็นเพราะเหตุใด

การที่ให้เพราะว่าผู้นั้นเคยให้สิ่งนั้นแก่เราก่อน ก็เป็นการดี ถูกต้อง เป็นเรื่องของความกตัญญูกตเวที แต่อย่าให้เพราะความจำใจ ที่จำเป็นต้องให้ เพราะว่าผู้นั้นเคยให้ก่อน

ประการที่ ๔ คือ บางคนให้ทานเพราะนึกว่า เขาจักให้ตอบแทน

ให้เขาก่อนแล้วเขาจักให้เราบ้าง อย่างนี้ไม่ดี เพราะหวังผลตอบแทน ถ้าคิดอย่างนี้ขึ้นมา ยับยั้งได้ไหม ไม่ได้ แต่สติระลึกรู้ว่า แม้การคิดอย่างนั้น ก็เป็นแต่เพียงนามธรรมชนิดหนึ่ง

ประการที่ ๕ คือ บางคนให้ทานเพราะนึกว่า ทานเป็นการดี

มีการอบรมสั่งสอนกุลบุตร กุลธิดาตั้งแต่เด็กให้สละวัตถุ เพื่อไม่ให้ติดข้อง ไม่ให้ตระหนี่ ให้เกื้อกูลกันสำหรับสัตว์โลกที่เกิดมาร่วมทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกัน เมื่อมีการสอน มีการอบรมว่า สิ่งใดดี สิ่งนั้นก็ควรประพฤติปฏิบัติตาม บางท่านจึงให้ทาน เพราะนึกว่าทานเป็นการดี

ประการที่ ๖ คือ บางคนให้ทานเพราะนึกว่า เราหุงหากิน ชนเหล่านี้หุงหากินไม่ได้ เราหุงหากินได้ จะไม่ให้ทานแก่ชนเหล่านี้ ผู้ไม่หุงหากิน ไม่สมควร

นี่เป็นการเอื้อเฟื้อ

ประการที่ ๗ คือ บุคคลให้ทานเพราะนึกว่า เมื่อเราให้ทาน กิตติศัพท์อันงามย่อมฟุ้งไป

อยากได้อะไรหรือเปล่าจึงได้ให้ ตราบใดที่ตัวตนยังไม่หมด ก็ยังมีการยึดถืออย่างเหนียวแน่น ซึ่งจะขัดเกลาให้หมด คลายลงไปได้ก็ด้วยการเจริญสติ

ประการที่ ๘ คือ บางคนให้ทานเพื่อประดับปรุงแต่งจิต


ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...

แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 168


เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ