ทรงโอวาทให้ท่านพระราหุล ระลึกรู้ลักษณะของนามและรูป เนืองๆ บ่อยๆ

 
chatchai.k
วันที่  16 ต.ค. 2565
หมายเลข  44753
อ่าน  166

มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ ภิกขุวรรค มหาราหุโลวาทสูตร มีข้อความว่า

ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน เวลาเช้าเสด็จเข้าไปบิณฑบาตยังพระนครสาวัตถี มีท่านพระราหุลตามเสด็จไป ณ เบื้องพระปฤษฎางค์ พระผู้มีพระภาคทรงผินพระพักตร์ไปรับสั่งกับท่านพระราหุลว่า

รูปอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นอดีต เป็นอนาคต และเป็นปัจจุบัน เป็นภายในก็ดี เป็นภายนอกก็ดี หยาบก็ดี ละเอียดก็ดี เลวก็ดี ประณีตก็ดี อยู่ในที่ไกลก็ดี อยู่ในที่ใกล้ก็ดี รูปทั้งปวงนี้ พึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา ดังนี้

ซึ่งท่านพระราหุลก็ได้อบรมอินทรีย์มามาก พร้อมที่จะได้บรรลุความเป็นพระอรหันต์ในชาตินั้น ข้อความใน ปปัญจสูทนี อรรถกถามัชฌิมนิกาย อธิบายว่า

พระผู้มีพระภาคทรงตรึกว่า ท่านพระราหุลนั้นเห็นว่า ตนงาม ซึ่งการที่มีความคิดเห็นอย่างนี้ ก็เป็นการที่ดำเนินไปผิดทาง เปรียบเหมือนคนที่เดินทางไกลหลงทิศ ก็จะไม่ให้เห็นประโยชน์ตน ประโยชน์บุคคลอื่น และประโยชน์ทั้งสอง แต่นั้นกิเลสก็จะให้ถือปฏิสนธิในอบายภูมิได้ ในกามภูมิก็ได้ ตกไปในสังสารวัฏฏ์อันหาที่สุดและเบื้องต้นไม่ได้ เพราะว่าความโลภนี้ก่อให้เกิดสิ่งมิใช่ประโยชน์ ความโลภยังจิตให้กำเริบ

ในความรู้สึกของคนธรรมดาทั่วไปอาจจะคิดว่า เป็นเรื่องเล็กน้อย อย่างท่านพระราหุลมีความเห็นว่า ตัวของท่านนั้นงาม เพราะเหตุว่าเมื่อความโลภนั้นเกิดขึ้นแล้ว ก็เป็นภัยที่เกิดขึ้นในภายใน ชนย่อมไม่รู้ภัยนั้น คนที่ละโมภย่อมไม่รู้อรรถ ย่อมไม่เห็นธรรม ความโลภครอบงำนรชนในกาลใด ในกาลนั้นความมืดมนย่อมมี

ปปัญจสูทนี อรรถกถามัชฌิมนิกาย ได้อุปมาว่า

ผู้ที่สะสมอุปนิสัยมาแล้วนั้น อุปมาเหมือนกับเรือใหญ่ที่มีรัตนะมาก แต่ว่าน้ำก็ยังซึมเข้าไปได้ตามร่องแตก ควรที่จะได้อุดร่องที่แตกของเรือนั้นโดยเร็ว ฉันใด พระผู้มีพระภาคก็ทรงโอวาทให้ท่านพระราหุลได้ระลึกรู้ลักษณะของนามและรูป เนืองๆ บ่อยๆ ฉันนั้น

เป็นสิ่งที่จะเห็นได้ว่า ไม่ควรเป็นผู้ประมาทเลย ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่สะสมอุปนิสัยมามากน้อยเท่าไรก็ตาม และสำหรับท่านที่ยังไม่อุปมาเหมือนเรือใหญ่ที่มีรัตนะมาก ก็ยิ่งเป็นความจำเป็นที่จะต้องเจริญกุศล สะสมรัตนะ คือ บุญบารมีต่างๆ ที่จะให้รู้แจ้งอริยสัจธรรม ไม่ใช่ว่า เป็นผู้ที่ประมาทและไม่เจริญกุศล

ขอกล่าวถึงข้อความใน ปปัญจสูทนี อรรถกถามัชฌิมนิกาย ต่อไป

เมื่อท่านพระราหุลได้กลับไปเจริญอานาปานสติ ตอนเย็นก็ได้ไปเฝ้ากราบทูลถามพระผู้มีพระภาคถึงการเจริญภาวนาว่า เจริญอย่างไรจึงจะมีผลมาก มีอานิสงส์มาก

ในอรรถกถามีคำอธิบายว่า

มีคำถามว่า เพราะเหตุไร พระผู้มีพระภาคอันท่านพระราหุลทูลถามถึง อานาปานสติ จึงตรัสรูปกัมมัฏฐาน คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม และอากาสธาตุ

ปปัญจสูทนี อรรถกถามัชฌิมนิกาย อธิบายว่า

ได้ทราบว่า พระผู้มีพระภาคทรงมีพระดำริว่า เพราะอาศัยอัตภาพ ความกำหนัดด้วยอำนาจฉันทราคะจึงเกิดขึ้นแก่ท่านพระราหุล แม้ในหนหลังพระองค์ก็ได้ตรัสรูปกัมมัฏฐานโดยสังเขปแก่ท่านพระราหุลแล้ว แต่ก็จักทรงจำแนกแจกแจง อัตภาพโดยอาการ ๔๐ จักทำฉันทราคะซึ่งอาศัยอัตภาพนั้น ให้ถึงความเป็นธรรมที่ไม่เกิดขึ้นแก่ท่านพระราหุล

ในท้ายของพระสูตร เมื่อจะทรงแสดงความเป็นผู้คงที่แก่ท่านพระราหุล พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า

ผู้ที่ไม่กำหนัดในอิฏฐารมณ์ ไม่ขัดเคืองในอนิฏฐารมณ์ ชื่อว่า ผู้คงที่ ใครๆ ชื่อว่า ไม่เป็นผู้คงที่ ด้วยเหตุเหล่านี้ คือ ด้วยความคิดว่า เราเป็นผู้เกิดในตระกูลสูง เป็นพหูสูต เป็นผู้มีลาภ พระราชา มหาอำมาตย์ของพระราชา ย่อมคบค้าสมาคมเรา เราจึงจักเป็นผู้คงที่

ส่วนการที่จะเป็นผู้คงที่ เวลาที่ประสบกับสิ่งที่เป็นปฏิกูล น่ารังเกียจ ไม่น่าพอใจ ก็เพราะเจริญเมตตา หรือน้อมระลึกถึงสภาพความเป็นธาตุของสิ่งที่เป็นปฏิกูลนั้น ทำให้จิตใจไม่รังเกียจ หรือไม่เดือดร้อน

สำหรับในอิฏฐารมณ์ คือ อารมณ์ที่น่าพอใจ ถ้าจะเป็นผู้คงที่ได้ ก็เป็นผู้ที่เจริญอสุภะ ระลึกถึงความไม่งาม หรือมิฉะนั้น ก็น้อมระลึกถึงความไม่เที่ยงของอิฏฐารมณ์นั้น

นอกจากนั้น ยังได้ทรงแสดงถึงการไม่ยินดียินร้าย ละเว้นทั้งในสิ่งที่ปฏิกูลและไม่ปฏิกูลได้ ก็ด้วยการเป็นผู้ที่มีสติระลึกรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง

นอกจากทรงแสดงในมหาสติปัฏฐานสูตรแล้ว ยังทรงแสดงในสูตรอื่นๆ ซึ่งจะทำให้เกิดวิริยะในการเจริญสติ เห็นคุณของการเจริญสติ แต่ถ้าท่านจะพิจารณาชีวิตจริงๆ ของท่าน ท่านก็จะทราบว่า ยังมีอกุศลอีกมากมายเหลือเกิน ในพระไตรปิฎกทรงแสดงธรรมฝ่ายดีทุกขั้น ตั้งแต่เบื้องต้นจนกระทั่งถึงขั้นสูงที่สุด แต่การที่สาธุชนจะประพฤติปฏิบัติตามได้นั้น ไม่ใช่ว่าจะปฏิบัติตามได้ครบถ้วนทั้งหมด ต้องค่อยๆ สะสมเจริญอบรม

เพราะฉะนั้น บางท่านจะได้ยินได้ฟังข้อความในพระไตรปิฎกที่สรรเสริญ การไม่คลุกคลี ท่านปฏิบัติตามได้มากน้อยแค่ไหน และชีวิตจริงๆ ของท่านเป็นอย่างไร ท่านยังคงเป็นอุบาสก อุบาสิกา ฆราวาส ท่านต้องเป็นตัวของท่านจริงๆ ไม่ได้หลอกลวงใคร ไม่ได้มีมายาเป็นอีกบุคคลหนึ่ง แต่เป็นชีวิตจริงๆ ของท่านที่เจริญสติปัฏฐานในเพศของอุบาสก อุบาสิกา รักษาศีล ๕ และสามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ ส่วนท่านผู้ใดมีเหตุมีปัจจัย มีอุปนิสัยที่จะเป็นอุบาสก อุบาสิการักษาศีล ๘ ท่านก็มีโอกาสที่จะเจริญอบรมกุศลให้มากยิ่งขึ้น ด้วยการเจริญสติ-ปัฏฐาน และบรรลุคุณธรรมเป็นพระอริยบุคคล และสำหรับผู้ที่ละอาคารบ้านเรือนได้แล้วจริงๆ จะเป็นผู้ที่สามารถครองเพศของความเป็นพระอรหันต์ได้

แต่ชีวิตของท่านแต่ละคน แตกต่างกันไปตามเหตุปัจจัยที่ได้สะสมมา ท่านก็เจริญสติเป็นปกติ ฟังเรื่องของทาน เห็นคุณ เห็นประโยชน์ และทราบว่าการเจริญสติปัฏฐานนั้น ต้องอบรมบำเพ็ญกุศลบารมีทุกประการทั้งปวง เพราะฉะนั้น ก็แล้วแต่ว่า ท่านสามารถที่จะประพฤติได้มากน้อยเท่าไร และเจริญสติเป็นปกติ


ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...

แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 170


เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ