ในกายานุปัสสนาสติปัฏฐานนั้นมี ๑๔ บรรพ

 
สารธรรม
วันที่  16 ต.ค. 2565
หมายเลข  44759
อ่าน  1,579

ถ. ผมได้เคยเรียนถามอาจารย์ว่า กายานุปัสสนาสติปัฏฐานที่ท่านแยกออกเป็นบรรพต่างๆ มีถึง ๑๔ บรรพนั้นเพื่อประโยชน์อะไร อาจารย์ก็ได้ชี้แจงว่า เพื่อประโยชน์มิให้หลงลืมสติ แต่ก็ยังมีข้อสงสัยอยู่อีกประการหนึ่ง คือ ในกายานุปัส-สนาสติปัฏฐานทั้งหมดนั้นก็รู้เพียงสภาพธรรมที่เย็น ที่ร้อน ที่อ่อน ที่แข็ง ที่ตึง ที่ไหวเท่านั้นเอง ซึ่งในธาตุมนสิการที่เป็นบรรพหนึ่งของกายานุปัสสนาสติปัฏฐานก็มีสภาพธรรมอย่างนี้ปรากฏ ทำไมจะต้องไปรู้เย็น ร้อน อ่อน แข็ง เคร่ง ตึง ไหว ที่ปรากฏอยู่ในบรรพอื่นๆ อีก

สุ. ในกายานุปัสสนาสติปัฏฐานนั้นมี ๑๔ บรรพ บรรพแรก คือ อานาปานบรรพ บรรพที่ ๒ คือ อิริยาบถบรรพ บรรพที่ ๓ คือ สัมปชัญญบรรพ บรรพที่ ๔ คือ ปฏิกูลมนสิการบรรพ บรรพที่ ๕ คือ ธาตุมนสิการบรรพ บรรพที่เหลือนั้น คือ นวสีวถิกาบรรพ

ซึ่งในการที่ปัญญาจะรู้สภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนนั้น ก็จะต้องรู้ปรมัตถธรรม

คำว่า ”ปรมัตถธรรม” หมายความถึงธรรมที่มีจริง ลักษณะสภาพของธรรมที่เป็นปรมัตถ์นั้นไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน แต่มีสภาพ มีสภาวะลักษณะเฉพาะของตนๆ

ปรมัตถธรรม มี ๔ คือ จิตปรมัตถ์ ๑ เจตสิกปรมัตถ์ ๑ รูปปรมัตถ์ ๑ นิพพานปรมัตถ์ ๑ ที่เรากล่าวกันว่า จิต เจตสิก รูป นิพพาน

จิต ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

เจตสิก ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

รูป ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

นิพพาน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

เพราะฉะนั้น เวลาที่ไม่ได้รู้สภาวะลักษณะของธรรมที่เป็นปรมัตถธรรม ก็มีความเข้าใจผิด ยึดถือสภาพธรรม คือ จิต เจตสิก รูป ว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน ด้วยเหตุนี้ ใน มหาสติปัฏฐาน ในกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน จึงมีบรรพเพื่อให้พิจารณาสิ่งที่เคยยึดถือว่าเป็นตัวตนแต่ละบรรพไป อย่างเช่น ถ้าไม่เจริญสติ ลมหายใจที่ปรากฏกระทบเป็นส่วนของกายก็เป็นเรา มีเรา มีตัวตน และลมหายใจนั้นก็เป็นส่วนของเราด้วย ฉะนั้น เพื่อที่จะละคลายการยึดถือลมหายใจที่ปรากฏ จึงให้พิจารณาลักษณะของสภาพธรรมที่เคยยึดถือว่าเป็นลมหายใจของเรา สภาวะลักษณะของลมหายใจนั้น ร้อน หรือเย็น เบา หรือไหว หรือตึง ปรากฏแล้วก็หมดไป


ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...

แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 172


เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ