สัมปชัญญบรรพ เพื่อให้สติระลึกรู้ปรมัตถธรรม

 
สารธรรม
วันที่  16 ต.ค. 2565
หมายเลข  44762
อ่าน  356

บรรพต่อไป สัมปชัญญบรรพ

มีนั่ง มีนอน มียืน มีเดิน แต่ไม่ใช่อิริยาบถนาน เป็นอิริยาบถชั่วครั้งชั่วคราว เดินไปหน่อยหนึ่ง นั่งนิดหนึ่ง ยืนหน่อยหนึ่ง นอนหน่อยหนึ่ง ซึ่งควรเป็นผู้ที่มีสติระลึกรู้ลักษณะสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้นตามความเป็นจริง

ในสัมปชัญญบรรพ ไม่ใช่อิริยาบถนาน จึงมีทั้งคู้ มีทั้งเหยียด มีทั้งเหลียว มีทั้งพูด มีทั้งนิ่ง หมายความว่า ตลอดเวลาที่มีสภาพธรรมเกิดปรากฏตามความเป็นจริง ไม่ควรหลงลืมสติ เพราะถ้าหลงลืมสติจะยึดถือสภาพธรรมนั้นว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนของเราต่อไปอีก

ด้วยเหตุนี้จึงมีสัมปชัญญบรรพในกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เพื่อให้สติระลึกรู้ปรมัตถธรรมที่มีสภาวะลักษณะที่ปรากฏที่กาย ถ้าระลึกที่กายก็เป็นกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน กำลังเหลียว กำลังแล กำลังคู้ กำลังเหยียด กำลังพูด ถ้าไม่มีธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม เหลียวได้ไหม คู้เข้าได้ไหม เหยียดออกได้ไหม พูดได้ไหม ไม่ได้ เพราะฉะนั้น การที่สติระลึกรู้ที่กาย แต่ไม่มีลักษณะของธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลมปรากฏให้รู้ได้นั้น เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ไม่ใช่ความรู้ชัด เพราะเหตุว่าไม่ได้มีลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏให้ปัญญาได้รู้ชัดจริงๆ ว่า สภาพธรรมนั้นมีลักษณะอย่างไร แต่เพราะสภาพธรรมนั้นเป็นของจริง จิตไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เจตสิกไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน รูปทั้งหมดไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

เมื่อสิ่งต่างๆ เหล่านี้มี สติระลึกรู้สภาพปรมัตถธรรมที่มีลักษณะปรากฏ ถ้าระลึกที่กายก็เป็นกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน


ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...

แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 172


เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ