ทำไมผิดศีลพระถึงบาปครับ ถามด้วยความสงสัย

 
Phongsakorn
วันที่  18 ต.ค. 2565
หมายเลข  44778
อ่าน  611

การการอวดอุตริมนุสยธรรม หรือ การจงใจปล่อยสุกกะ การพรากของเขียว หรือว่าผมเข้าใจผิดครับ ว่าอาบัติ กับ บาปคนละอย่างกัน


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
Phongsakorn
วันที่ 19 ต.ค. 2565

เพราะว่าไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อน

หรืออาบัติกับบาปต้องแยกกันครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 19 ต.ค. 2565

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระภิกษุ เป็นเพศที่ขัดเกลากิเลส เป็นอย่างยิ่ง ซึ่งจะต้องมีการศึกษาทั้งพระธรรมและพระวินัย ให้มีความเข้าใจอย่างถูกต้อง ถ้าทำผิดพระวินัย เรียกว่า ต้องอาบัติ มีโทษหนักเบา ตามควรแก่สิกขาบทนั้นๆ

อาบัติมีโทษอย่างหนัก เมื่อต้องเข้าแล้วขาดจากความเป็นภิกษุทันที ที่เรียกว่าปาราชิก ได้แก่เสพเมถุน (มีเพศสัมพันธ์ ไม่ว่าจะทางทวารหนัก ทางทวารเบา และทางปาก หรือแม้กระทั่งกับสัตว์ดิรัจฉาน ก็เป็นอาบัติปาราชิก) ลักขโมยของของผู้อื่นอันมีราคาได้ ๕ มาสกขึ้นไป (ราคา ๕ มาสก พิจารณาด้วยการเทียบน้ำหนักทองคำกับข้าวเปลือก ๒๐ เมล็ด คือเอาข้าวเปลือก ๒๐ เมล็ดมาชั่ง ได้น้ำหนักเท่าไหร่ น้ำหนักทองคำเท่านั้นตีเป็นเงินออกมา) ฆ่ามนุษย์ และ อวดอุตตริมนุสสธรรมซึ่งเป็นคุณวิเศษ ที่ไม่มีในตน

อาบัติ ที่มีโทษหนักอีกอย่างหนึ่ง คือ สังฆาทิเสส เมื่อต้องเข้าแล้ว ต้องประพฤติวัตรตามพระวินัยที่เรียกว่า วุฏฐานวิธี ต้องอาศัยคณะสงฆ์ จึงจะพ้นจากอาบัตินี้ได้ ตัวอย่างอาบัติสังฆาทิเสส เช่น ภิกษุมีจิตกำหนัด (ความใคร่) จับต้องกายหญิงต้องอาบัติสังฆาทิเสส ภิกษุพูดเกี้ยวหญิง (พาดพิงการเสพเมถุน) ต้องอาบัติสังฆาทิเสส เป็นต้น

อาบัติมีโทษเบา ต้องแสดงความผิดของตนต่อหน้าพระภิกษุด้วยกัน ที่เรียกว่า แสดงอาบัติ อันเป็นการแสดงถึงความจริงใจในการที่จะสำรวมระวังต่อไป จึงจะพ้นจากอาบัตินั้นได้ ตัวอย่างอาบัติเบาที่พอจะแก้ไขได้ด้วยการแสดงอาบัติ เช่น ภิกษุบริโภคอาหารในเวลาวิกาล (หลังเที่ยง) ภิกษุฉันอาหารโดยที่ไม่ได้รับประเคน เป็นต้น

กล่าวได้ว่า อาบัติที่มีโทษหนักสุดคือปาราชิก นั้น เป็นอาบัติที่แก้ไขไม่ได้ เมื่อต้องเข้าแล้วขาดจากความเป็นภิกษุทันที แต่อาบัติที่เหลือนอกจากนี้เป็นอาบัติที่แก้ไขได้ กล่าวคือ สามารถกระทำคืนให้เป็นผู้พ้นจากอาบัตินั้นๆ ได้ตามพระวินัย ความเป็นพระภิกษุยังคงอยู่ ไม่เป็นเครื่องกั้นสวรรค์และไม่เป็นเครื่องกั้นการบรรลุธรรมเมื่อได้กระทำคืนให้ถูกต้องตามพระวินัยแล้ว

สิกขาบทที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ มีมาก การล่วงละเมิดสิกขาบทแต่ละข้อมีโทษทั้งนั้น เริ่มตั้งแต่โทษหนักจนกระทั่งถึงโทษเบา ซึ่งไม่ว่าจะหนักหรือเบา ก็เป็นโทษด้วยกันทั้งนั้น เพราะเหตุว่า สิกขาบท ทุกข้อ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติเพื่อประโยชน์แก่พระภิกษุในการสำรวมระวัง งดเว้นในสิ่งที่พระองค์ทรงห้าม และ น้อมประพฤติในสิ่งที่พระองค์ทรงอนุญาต เพื่อขัดเกลากิเลสของตนเอง เป็นสำคัญ เพราะเพศบรรพชิตเป็นเพศที่จะต้องขัดเกลากิเลสเป็นอย่างยิ่ง

ถ้าย่อหย่อน ไม่สำรวมตามสิกขาบทที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ มีการต้องอาบัติประการต่างๆ ย่อมทำให้ตกไปจากคุณความดี ตกไปจากการรู้แจ้งอริยสัจจธรรม และ ตกจากสุคติภูมิไปสู่อบายภูมิ ด้วย ถ้าต้องอาบัติแล้ว ไม่ได้กระทำคืนให้ถูกต้องตามพระวินัย หากมรณภาพลงในขณะที่ยังปฏิญาณตนว่าเป็นพระภิกษุอยู่ เป็นผู้มีอบายภูมิเป็นที่ไปในเบื้องหน้า คือ ชาติถัดจากชาตินี้ไป ต้องเกิดในอบายภูมิเท่านั้น พระภิกษุก็เกิดในอบายภูมิได้

การต้องอาบัติของภิกษุ จะเรียกว่า บาปในเพศของภิกษุ ก็ย่อมได้ ความหมายของบาป คือ ชั่ว ไม่ดี เพราะทั้งหมดล้วนเป็นการกระทำที่ผิด ไม่เหมาะไม่ควรแก่เพศบรรพชิต บางอย่างเหมือนจะไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้ใครก็จริง แต่เป็นความประพฤติที่ไม่ควรแก่เพศบรรพชิต ก็ผิด ทั้งหมด ครับ

...ยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
chatchai.k
วันที่ 20 ต.ค. 2565

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
Phongsakorn
วันที่ 20 ต.ค. 2565

คำถามที่ผมจะถามต่อเกิดจากสงสัยนะครับไม่ได้จะดูหมิ่นแต่อย่างใด

แสดงว่าก่อนที่ยังไม่มีการบัญญัติพระวินัยเช่นการเป็นบัญญัติ ก็ไม่เป็นอะไร แต่พอมีการบัญญัติกลับเป็นบาป

บาปกรรมเป็นธรรมชาติไม่ใช่หรือครับ (ตามที่ผมเข้าใจ) ทำไมพอบัญญัติถึงกลายเป็นบาป

บาปบุญไม่มีใครสามารถกำหนดได้ไม่ใช่หรือครับ

ถามด้วยความสงสัยครับ อยากเข้าใจให้ทะลุปลอดโปร่ง

รบกวนทางมูลนิธิด้วยครับ

ถ้ามีพระสูตรรบกวนบอกหรืออ้างอิงไว้แล้วผมจะไปศึกษาเพิ่มครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
khampan.a
วันที่ 21 ต.ค. 2565

เรียนความคิดเห็นที่ ๔ ครับ

เรื่องพระวินัย เป็นเรื่องที่ละเอียดลึกซึ้งอย่างยิ่ง ทุกสิกขาบทที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติไว้ เป็นไปเพื่อประโยชน์ในการขัดเกลากิเลสทั้งหมด

ก่อนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติสิกขาบท ต้องมีเรื่องนั้นๆ เกิดขึ้นก่อน พระองค์จึงทรงประชุมสงฆ์ ทรงสอบถามความประพฤติของภิกษุรูปนั้น แล้วพระองค์จึงทรงบัญญัติเป็นสิกขาบท ให้ภิกษุทั้งหลายได้ศึกษา เพื่อไม่ทำสิ่งที่ไม่สมควรกับเพศบรรพชิต

ภิกษุผู้เป็นต้นบัญญัติ จะไม่เป็นอาบัติ แต่ก็ต้องพิจารณาว่า การกระทำสิ่งที่ไม่สมควร ย่อมเกิดจากจิตที่เป็นอกุศล อกุศล ย่อมไม่ดีอย่างแน่นอน และอกุศลทุกชนิด ไม่ดี ไม่ใช่สิ่งที่มีประโยชน์ มีแต่โทษ เท่านั้น ดังนั้น อกุศลทุกชนิด ทุกระดับ ทุกประเภท ก็คือ บาป ขึ้นอยู่กับว่า จะเป็นบาปในระดับใด

ยกตัวอย่าง ภิกษุผู้เป็นต้นบัญญัติในเรื่องฆ่าสัตว์ คือ พระอุทายี พระอุทายี ฆ่ากาเป็นอันมากเลย การฆ่าของพระอุทายี ย่อมเป็นปาณาติบาต ถึงแม้แต่ว่าท่านจะเป็นต้นบัญญัติ ไม่เป็นอาบัติ แต่อกุศลกรรม ความชั่วที่ก่อไว้ ก็เป็นอกุศลกรรม เป็นบาป

บุญ - บาป เป็นธรรมที่มีจริง ไม่มีใครเปลี่ยนแปลงความเป็นจริงของธรรมได้

บุญ เป็นสภาพธรรมที่ชำระจิตให้สะอาด จากที่เป็นอกุศล ก็ค่อยๆ เป็นกุศลขึ้นในชีวิตประจำวัน ซึ่งก็ไม่พ้นไปจากขณะที่จิตเป็นกุศล เป็นไปในทาน เป็นไปในศีล เป็นไปในการอบรมเจริญความสงบของจิต และเป็นไปในการอบรมเจริญปัญญา โดยที่ไม่มีตัวตนที่จะไปทำบุญ เพราะบุญอยู่ที่สภาพจิต จิตเป็นกุศล เป็นบุญ

ความหมายของบุญ ตามข้อความในอรรถกถา ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ ปฐมปีฐวิมาน ดังนี้

กุศลกรรมทั้งหลาย อันต่างโดยประเภท มี ทาน และ ศีลเป็นต้น ได้ชื่อว่า บุญ เพราะทำให้บังเกิดผลคือความที่น่าบูชา และ เพราะชำระชะล้างสันดานของตนเองให้หมดจด



บาป หมายถึง อกุศลธรรมทั้งหมด ซึ่งสภาพธรรมที่ไม่ดี ไม่งาม และให้โทษ มีผลที่เป็นทุกข์ ผู้มีปกติทำปาบย่อมเดือดร้อนทั้งในโลกนี้และในโลกหน้า ตามข้อความในพระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ดังนี้

"ผู้มีปกติทำบาป ย่อมเดือดร้อนในโลกนี้ ละไปแล้ว ย่อมเดือดร้อน
เขาย่อมเดือดร้อน ในโลกทั้งสอง, เขา ย่อมเดือดร้อนว่า
'กรรมชั่ว เราทำแล้ว,' ไปสู่ทุคติ ย่อมเดือดร้อนยิ่งขึ้น"

...ยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
Junya
วันที่ 26 ต.ค. 2565

กราบอนุโมทนาในกุศล และกราบขอบพระคุณอาจารย์คำปั่นมากค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
Phongsakorn
วันที่ 26 ต.ค. 2565

ขอบคุณทางมูลนิธิมากๆ ครับ สำหรับคำตอบ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ