ทาน จะมีผลมากหรือน้อย แล้วแต่เหตุ คือ ความบริสุทธิ์ของจิต

 
สารธรรม
วันที่  18 ต.ค. 2565
หมายเลข  44783
อ่าน  190

. ทาน แปลว่า การให้ มีพยัญชนะหลายอย่าง ทานก็ดี จาคะก็ดี หรือบริจาคก็ดี เหล่านี้นั้นมีความหมายเหมือนกันหรือต่างกันประการใด นี่เป็นข้อหนึ่ง และเท่าที่ศึกษามา การให้ ท่านบอกว่าผู้ให้ต้องบริสุทธิ์ วัตถุที่ให้ต้องบริสุทธิ์ และผู้รับต้องบริสุทธิ์ จิตมีเจตนาที่จะให้นั้น ทั้งก่อนให้ ทั้งกำลังให้ หรือว่าภายหลังให้แล้ว ก็จะต้องเป็นไปโดยลำดับที่ดีที่งามทั้งนั้น ทานนั้นจึงจะมีผลมาก มีอานิสงส์มาก นี่ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่ง ขออาจารย์ช่วยอธิบายด้วย

สุ. ขอเชิญท่านผู้รู้ภาษาบาลีช่วยกรุณาชี้แจงความหมายของศัพท์ที่ได้กล่าวถึงแล้วด้วย

คามิกะ. คำว่า ทาน กับ บริจาค นั้น ท่านถามว่าต่างกันอย่างไร มีในพุทธพจน์ด้วย

คำว่า ทาน คือ ทานะ ถามว่า ความหมายเหมือนกับบริจาคไหม เรานำของไปถวายพระเรียกว่า ถวายทานบ้าง บริจาคบ้าง โดยเนื้อความก็น่าจะเหมือนๆ กัน แต่โดยพยัญชนะต่างกัน ยกตัวอย่างว่า

“สพฺพทานํ ธมฺมทานํ ชินาติ” ทานํ ก็คือ ทาน การให้ธรรมชนะการให้ทั้งปวง ตามความเข้าใจของผม คำว่า ให้ทาน อาจจะเป็นวัตถุ เราให้สิ่งโน้นสิ่งนี้อาจจะเรียกว่าทานได้ แต่คำ บริจาค นั้นมีในพุทธพจน์ว่า มตฺตา สุขปริจาคา ปสฺเส เจ วิปุลํ สุขํ จ เชมตฺตา สุขํ ธีโร สมฺปสฺสํ วิปุลํ สุขํ

หมายความว่า เพราะบริจาค เพราะเสียสละ บริจาคะ น่าจะแปลว่าเสียสละ เพราะเสียสละสิ่งเล็กๆ น้อยๆ พึงเห็นสุขอันไพบูลย์ วิปุลํ คือไพบูลย์ นักปราชญ์พึงสละสุขพอประมาณเสียเพื่อจะได้สุขอันไพบูลย์ ศัพท์บาลีเป็นอย่างนี้ และยังมีบารมี ๑๐ ทัศ มีแต่ทานบารมี จาคบารมีไม่มี แต่ในอริยทรัพย์ ๗ มี สททาธนํ สีลธนํ หิริธนํ โอตฺตปฺปธนํ........

จาโค คือ จาคะ มีในทศพิธราชธรรม ทานํ สีลํ จาคํ คือ ธรรมสำหรับพระราชาประพฤติ มีให้ทาน มีศีล มีจาคะด้วย เพราะฉะนั้น จาคะ กับทาน โปรดพิจารณาดูทั้งตัวหนังสือและเนื้อความก็อาจจะผิดกัน

ทานผมเข้าใจว่า หมายถึงให้สิ่งที่เป็นวัตถุภายนอก ส่วนจาคะเสียสละภายใน ที่เรียกว่าละกิเลส แต่ว่าเมื่อทำทานก็ต้องมีการสละ ละกิเลสแน่ๆ แต่เขาเรียกจาคะกับทาน (ทานะ) ต่างกัน จะผิดถูกประการใดก็กรุณาด้วย ผมเรียนมา ๕๐ กว่าปีแล้ว

สุ. เรื่องทานเป็นกุศลขั้นต้น แต่ทาน การให้ของแต่ละท่านมีในลักษณะที่ ต่างๆ กันตามความวิจิตรของจิต ซึ่งพระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงสภาพธรรมตามความเป็นจริงถึงลักษณะของการให้ของแต่ละบุคคล และยังได้พูดถึงผลของการให้และอานิสงส์ของการให้ พร้อมทั้งรายละเอียดต่างๆ ด้วย

อย่างในคราวก่อนได้พูดถึงการให้แก่ท่านผู้มีศีล มีผลมาก การให้แก่ผู้ทุศีลไม่มีผลมาก ซึ่งท่านผู้ฟังก็ได้ทราบว่า ท่านผู้มีศีลนั้นหมายความถึงพระอรหันต์ และบางท่านซึ่งยังมีกิเลส มีความหวัง มีความผูกพันในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะมากเหลือเกิน ก็จะต้องการผล ใคร่ที่จะได้พบพระอรหันต์เพื่อจะได้ถวายทาน เพื่อให้เกิดผลมาก ก็เป็นเรื่องของจิตใจซึ่งวิจิตรมาก

เพราะฉะนั้น การที่จะให้จิตบริสุทธิ์ด้วยในขณะที่ให้ทานนั้น ควรจะเป็นใน ลักษณะใด ทำไมจึงกล่าวว่า การถวายทานแก่พระอรหันต์มีผลมาก เพราะเหตุว่าผู้รับก็เป็นผู้ที่มีจิตบริสุทธิ์ เมื่อถวายทานไปแล้ว ผู้รับจะไม่ทำความเดือดร้อนให้บุคคลใดเลย นี่เป็นทางฝ่ายปฏิคาหก คือ ผู้รับ แต่ทางฝ่ายผู้ให้ จิตของท่านที่จะทะนุบำรุงพระธรรมวินัย ส่งเสริมการประพฤติการปฏิบัติธรรมของผู้ที่จะขจัดกิเลสให้หมดสิ้น ท่านก็ต้องเป็นผู้ที่มีปัญญา รู้ว่าสิ่งใดควรสิ่งใดไม่ควร

ในครั้งกระโน้นมีผู้ที่นับถือคำสอนอื่นมาก เพราะฉะนั้น ท่านเหล่านั้นก็ให้ทาน บำรุงปริพาชกเดียรถีย์ต่างๆ จิตใจของท่านเหล่านั้นจะรู้เรื่องของการละคลายกิเลส การชำระจิตให้หมดจดจากกิเลส หนทางที่จะละโลภะ โทสะ โมหะให้หมดสิ้นไป ท่านเหล่านั้นจะรู้ไหมในเมื่อไม่ได้ฟังธรรม ไม่มีความเลื่อมใสในพระธรรม มีความเลื่อมใสศรัทธาในคำสอนอื่น เพราะฉะนั้น ก็ไม่รู้หนทางที่จะทำให้จิตหมดจดจากกิเลสได้ การส่งเสริมท่านเหล่านั้น ก็ป็นการส่งเสริมกิเลสนั่นเอง

พระผู้มีพระภาคจึงทรงแสดงว่า การถวายทานแก่ผู้มีศีลมีผลมาก และมีพระสูตรอื่นๆ อีก ซึ่งเป็นความละเอียดที่ท่านผู้ฟังจะต้องพิจารณาให้รอบคอบด้วย

ข้อความใน อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต ทารุกัมมิกสูตร มีข้อความว่า

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่ปราสาทสร้างด้วยอิฐ ใกล้นาทิกคาม ครั้งนั้น คฤหบดีชื่อ ทารุกัมมิกะ เป็นพ่อค้าฟืน เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

ครั้นแล้วพระผู้มีพระภาคได้ตรัสถามว่า

ดูกร คฤหบดี ทาน ในสกุลท่านยังให้อยู่หรือ

ทารุกัมมิกะคฤหบดีกราบทูลว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ยังให้อยู่ และทานนั้นแล ข้าพระองค์ให้ในภิกษุผู้เป็นอรหันต์ หรือผู้บรรลุอรหัตตมรรค ผู้ถืออยู่ป่าเป็นวัตร ผู้ถือเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร ผู้ถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร คฤหบดี ท่านผู้เป็นคฤหัสถ์ บริโภคกาม อยู่ครองเรือน นอนเบียดเสียดบุตร บริโภคจันทน์แคว้นกาสี ทัดทรงดอกไม้ของหอมและเครื่องลูบไล้ ยินดีทองและเงินอยู่ พึงรู้ข้อนี้ได้ยากว่า ภิกษุเหล่านี้เป็นพระอรหันต์ หรือเป็นผู้บรรลุอรหัตตมรรค

ดูกร คฤหบดี ถ้าแม้ภิกษุผู้ถืออยู่ป่าเป็นวัตร เป็นผู้ฟุ้งซ่าน ถือตัว เห่อ ปากกล้า พูดพล่าม มีสติเลอะเลือน ไม่มีสัมปชัญญะ มีใจไม่ตั้งมั่น มีจิตพลุ่งพล่าน ไม่สำรวมอินทรีย์ เมื่อเป็นอย่างนี้ ภิกษุนั้นพึงถูกติเตียนด้วยเหตุนั้น

ถ้าแม้ภิกษุผู้ถืออยู่ป่าเป็นวัตร เป็นผู้ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่ถือตัว ไม่เห่อ ไม่ปากกล้า ไม่พูดพล่าม มีสติตั้งมั่น มีสัมปชัญญะ มีใจตั้งมั่น มีจิต มีอารมณ์เป็นหนึ่ง สำรวมอินทรีย์ เมื่อเป็นอย่างนี้ ภิกษุนั้นพึงได้รับสรรเสริญด้วยเหตุนั้น

ถ้าแม้ภิกษุผู้อยู่ใกล้บ้านเป็นผู้ฟุ้งซ่าน ถือตัว เห่อ ปากกล้า พูดพล่าม มีสติเลอะเลือน ไม่มีสติสัมปชัญญะ มีใจไม่ตั้งมั่น มีจิตพลุ่งพล่าน ไม่สำรวมอินทรีย์ เมื่อเป็นอย่างนี้ ภิกษุนั้นพึงถูกติเตียนด้วยเหตุนั้น

ถ้าแม้ภิกษุผู้อยู่ใกล้บ้าน เป็นผู้ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่ถือตัว ไม่เห่อ ไม่ปากกล้า ไม่พูดพล่าม มีสติตั้งมั่น มีสัมปชัญญะ มีใจตั้งมั่น มีจิต มีอารมณ์เป็นหนึ่ง สำรวมอินทรีย์ เมื่อเป็นอย่างนี้ ภิกษุนั้นพึงได้รับสรรเสริญด้วยเหตุนั้น

คือ ไม่จำกัดว่า จะต้องเป็นภิกษุผู้ถืออยู่ป่าเป็นวัตร หรือเป็นผู้ที่อยู่ใกล้บ้าน แล้วแต่ความประพฤติ การปฏิบัติ

พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า

ถ้าแม้ภิกษุผู้ถือเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร หรือถ้าแม้ภิกษุผู้ถือรับนิมนต์เป็นวัตร หรือถ้าแม้ภิกษุผู้ถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร หรือถ้าแม้ภิกษุผู้ทรงคฤหบดีจีวร ก็แล้วแต่ว่าจะเป็นผู้ฟุ้งซ่านหรือไม่ฟุ้งซ่าน จะได้รับคำติเตียน หรือคำสรรเสริญตามสมควรแก่เหตุ

ดูกร คฤหบดี เชิญท่านให้สังฆทานเถิด เมื่อท่านให้สังฆทานอยู่ จิตจักเลื่อมใส ท่านนั้นเป็นผู้มีจิตเลื่อมใส เมื่อตายไปจักเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์

คฤหบดี ชื่อ ทารุกัมมิกะ ทูลสนองว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์นี้ จักให้สังฆทานตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

การให้สังฆทานแสดงความบริสุทธิ์ของจิตของผู้ให้ที่ไม่ติดในบุคคล ไม่เลือกในบุคคล แต่เรื่องสังฆทานก็มีปัญหาสำหรับผู้ที่ผูกพันในผล ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ในมนุษย์สมบัติ ในสวรรค์สมบัติ พอพูดถึงสังฆทาน รู้ว่ามีผลมาก จะได้รับคำถามว่า สังฆทานทำอย่างไร จะต้องซื้อชามอ่างใส่ข้าว มีกาละมัง มีถัง มีอะไรต่ออะไรบ้าง ถ้าขาดอย่างหนึ่งอย่างใดไปจะไม่ใช่สังฆทาน นี่เพื่ออะไร ผูกพันในผล แต่ไม่เข้าใจความหมายจริงๆ ว่า ทาน การให้ จะมีผลมากหรือน้อยนั้น ต้องแล้วแต่เหตุ คือ ความบริสุทธิ์ของจิต


ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...

แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 174


เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ