ต้องเป็นผู้ละเอียดไตร่ตรองลึกซึ้ง แม้คำว่า ละ

 
เมตตา
วันที่  20 ต.ค. 2565
หมายเลข  44791
อ่าน  537

ขอนอบน้อมแด่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ท่านอาจารย์สุจินต์ คอยเตือนเสมอๆ ว่า ต้องเป็นผู้ละเอียดในการศึกษาธรรม มิเช่นนั้นก็จะหลงทางอยู่ในความมืดบอดต่อไป ไม่มีทางออกจากสังสารวัฏฏ์ได้ การฟังธรรมเพื่อเข้าใจธรรมที่มีอยู่จริงๆ ไม่ใช่แค่คิดตามและพูดตามจากที่จำได้ว่า ธรรมมีจริงๆ กำลังปรากฏอยู่ขณะนี้ แต่ธรรมที่กำลังปรากฏอยู่ขณะนี้ มีลักษณะจริงๆ ก็ไม่รู้ นี่เป็นความลึกซึ้งของธรรม ขณะฟังธรรมต้องพิจารณาไตร่ตรองเพื่อเข้าใจความจริงของสิ่งที่มี ความเข้าใจเท่านั้นที่จะละความไม่รู้และละกิเลสอื่นๆ ได้ ความไม่รู้ไม่สามารถละกิเลสใดๆ ได้ เพราะไม่รู้จึงมีเราคิดจะไปละโลภะ ละโทสะ คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าต้องเป็นปัญญาที่เกิดจากการฟังพิจารณาไตร่ตรองเข้าใจถึงความลึกซึ้งของความจริงแต่ละขณะที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน ความเข้าใจทำกิจหน้าที่ละความไม่เข้าใจ ความเข้าใจเกิดจากการอบรมเจริญความเห็นถูกเข้าใจถูกในสิ่งที่กำลังปรากฏจนกว่าจะละความเป็นเราได้ เพราะความจริงไม่มีเราไปละความไม่รู้ ละโลภะ ละโทสะได้ นอกจากปัญญา.

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 46

๖. โสขุมมสูตร

ว่าด้วยญาณเป็นเครื่องแทงตลอดลักษณะอันละเอียด ๔ ประการ

[๑๖] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ญาณเป็นเครื่องแทงตลอดลักษณะอันละเอียด ๔ ประการนี้ ๔ ประการเป็นไฉน คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้

๑. เป็นผู้ประกอบด้วยญาณอันกำหนดรู้ลักษณะอันละเอียดในรูปอย่างยิ่ง ย่อมไม่พิจารณาเห็นญาณอันกำหนดรู้ลักษณะอันละเอียดในรูปอื่น ซึ่งยิ่งกว่าหรือประณีตกว่าญาณเป็นเครื่องกำหนดลักษณะอันละเอียดในรูปนั้น และไม่ปรารถนาญาณเป็นเครื่องกำหนดลักษณะอันละเอียดในรูปอื่น อันยิ่งกว่า หรือประณีตกว่าญาณเป็นเครื่องกำหนดลักษณะอันละเอียดในรูปนั้น.

๒. เป็นผู้ประกอบด้วยญาณเป็นเครื่องกำหนดลักษณะอันละเอียดใน เวทนา ...

๓. เป็นผู้ประกอบด้วยญาณเป็นเครื่องกำหนดลักษณะอันละเอียดใน สัญญา ...

๔. เป็นผู้ประกอบด้วยญาณเป็นเครื่องกำหนดลักษณะอันละเอียดใน สังขาร ...

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ญาณเป็นเครื่องกำหนดลักษณะอันละเอียด ๔ ประการนี้แล.

ภิกษุใดรู้ความสุขุมในรูปขันธ์ และรู้ความเกิดแห่งเวทนาทั้งหลาย รู้ความเกิด และความดับแห่งสัญญา รู้สังขารทั้งหลาย โดยความไม่เที่ยง โดยความเป็นทุกข์และโดยความไม่ใช่ตน ภิกษุนั้นชื่อว่า ผู้เห็นชอบ ผู้สงบแล้ว ยินดีแล้วในสันติบท

ขอเชิญคลิกอ่านได้ที่ ...

หลักการสำคัญของการศึกษาพระไตรปิฎก_พระอภิธรรม

แม้กระทงใบน้อย ก็มีร่องรอยของความละเอียด

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพอย่างยิ่งค่ะ


เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ