ผู้ที่เป็นพระอริยเจ้า ท่านไม่ประกาศตน
ถ. การเจริญสติจะต้องเจริญด้วยตัวของตัวเอง สมมติว่าเรารู้ว่าท่านผู้นี้เป็นพระอรหันต์ ก็ไปถามท่านว่าท่านเจริญสติอย่างไรจึงเป็นพระอรหันต์ ท่านก็จะต้องตอบอย่างที่อาจารย์กำลังบรรยาย เพราะพระอรหันต์ท่านก็นำเรื่องนี้มาจากพระพุทธเจ้า และท่านก็เจริญสติของท่านไปจนสามารถสำเร็จเป็นพระอรหันต์ได้ เป็นตัวของท่านเอง ถ้าจะเอาเรื่องนี้หรือผลนี้ไปยื่นให้กับบุคคลหนึ่งบุคคลใด ก็ไม่สามารถจะทำได้ เพราะฉะนั้น การเจริญสติก็เห็นชัดๆ อยู่ว่า เกิดอยู่ที่ตนเอง คนอื่นนำมาให้ไม่ได้
คามิกะ. ผมได้ฟังว่า อยากรู้จักพระอรหันต์บ้าง พระโสดาบันบ้าง รู้ยากครับ พระอรหันต์จริงๆ พระพุทธเจ้าก็บัญญัติว่า อย่าไปอวด ถ้าไม่ได้เป็น ก็เป็นปาราชิก
มีอยู่เรื่องหนึ่ง เณรเดินติดตามพระรูปหนึ่ง และบ่นอยากรู้จักพระอรหันต์ ว่าหน้าตาเป็นอย่างไร พระท่านก็บอกว่า คนที่ไม่เจริญอะไร แม้แต่จะเดินใกล้ พระอรหันต์ก็ไม่รู้ แต่ท่านก็ไม่บอกว่าท่านเป็น แท้ที่จริงท่านเป็นพระอรหันต์
อีกเรื่องหนึ่ง ในธรรมบทประโยค ๓ พระ ๖๐ รูปเรียนกัมมัฏฐานจากพระพุทธเจ้า ไปถึงชนบทแห่งหนึ่ง ที่นั่นมีโยมผู้หนึ่งเกิดความเลื่อมใส มานิมนต์พระให้อยู่ที่นั่น จะถวายภัตตาหารเช้า ถวายเพลเอง เวลาผ่านไประยะหนึ่ง โยมนั้นก็ถามว่า ท่านเรียนอะไร ดิฉันจะเรียนบ้างได้ไหม พระก็บอกว่า ได้ พระพุทธเจ้าท่านไม่ห้ามหรอก ก็บอกกัมมัฏฐานให้โยมคนนั้น อยู่มาสักเดือนหนึ่ง พระรูปหนึ่งอยากฉันแกงนั้นแกงนี้ โยมก็เอามาถวาย สัก ๓ เที่ยวพระรูปนั้นชักใจไม่ดี นึกว่า เรานึกเท่านั้น ก็เอามาถวายได้ ถ้าเรานึกสิ่งที่ไม่เหมาะไม่ควร ก็น่าอายโยม
แต่โยมคนนั้นได้บรรลุถึงพระอนาคามี บอกหน่อยเดียวก็สำเร็จ พระยังไม่รู้เรื่อง ยังเป็นปุถุชนทั้งนั้น นี่เป็นเรื่องลำบาก เฉพาะตนจริงๆ คนอื่นรู้ไม่ได้
สุ. ผู้ที่เป็นพระอริยเจ้า ท่านไม่ประกาศตน พอจะนึกได้ไหมว่าเพราะอะไร และเพราะเหตุใดบุคคลที่ไม่ใช่พระอริยเจ้าจึงประกาศตน
ผู้ที่เจริญสติเป็นผู้ที่ละเอียด เมื่อเจริญสติ รู้ในสภาพของนามธรรมและรูปธรรมที่เกิดกับตนซึ่งเป็นปุถุชน ฉันใด ปุถุชนอื่นก็ฉันนั้น เมื่อเจริญสติก็สำเหนียก รู้ลักษณะของนามของรูป แม้แต่ปัจจัยที่จะทำให้กายชนิดใดเป็นไป วาจาชนิดใดเป็นไป ผู้นั้นก็ทราบว่า การที่บุคคลหนึ่งบุคคลใดจะเอ่ยว่า เป็นผู้บรรลุคุณธรรมขั้นนั้นขั้นนี้ เพราะอะไร มีอะไรที่ทำให้ต้องเอ่ยออกมาว่า เป็นผู้ที่บรรลุคุณธรรมขั้นนั้นขั้นนี้ เพื่ออะไร แต่ถ้าแสดงเหตุผลตามธรรมวินัยให้ผู้อื่นได้ฟังได้เข้าใจ ก็ย่อมไม่เหมือนกับการที่จะพูดถึงผล แต่พูดถึงเหตุที่ถูกต้อง เพื่อให้ผู้อื่นได้เข้าใจ ได้พิจารณา ได้สอบทาน ได้ประพฤติ ได้ปฏิบัติ ได้ตรวจสอบ และได้พิสูจน์ด้วยตนเอง
ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...