ประโยชน์ของการฟังธรรม ถ้าเข้าใจถูกต้องแล้วไม่มีเครื่องกั้น

 
สารธรรม
วันที่  21 ต.ค. 2565
หมายเลข  44821
อ่าน  187

. สัมมาสติ เท่าที่ผมเข้าใจ ไม่มีตัวตน เกิดขึ้นเอง แต่มีปัญหาว่า เกิดขึ้นได้อย่างไร เกิดขึ้นเองได้หรือ ถ้าเกิดขึ้นเองโดยไม่มีเหตุก็ผิดหลักของพระผู้มีพระภาคที่ตรัสว่า ทุกสิ่งทุกอย่างมาจากเหตุ แล้วจะเกิดขึ้นเองได้อย่างไร ผมขอเรียนว่า เหตุมีเหมือนกัน แต่ไม่ใช่เหตุที่จะไปทำ เหตุ คือ ฟัง เพื่อให้รู้จักคำว่า สัมมาสติ สตินี้เกิดขึ้นเอง ฟังบ่อยๆ พอรู้เรื่อง สติจะเกิดขึ้นเอง

อะไรเป็นเครื่องระลึก ระลึกคำสอนเมื่อวาน เมื่อปีก่อน อยู่ในใจ เป็นเครื่องระลึก แล้วสัมมาสติจะเกิด เราก็รู้ทันว่า นั่นเป็นนาม นั่นเป็นรูป เพราะฉะนั้น อาจารย์จึงใช้คำว่า ไม่ขัดข้องในที่ทุกสถาน จะเป็นที่ไหนๆ ก็ไม่ขัดข้อง เพราะไม่มีตัวที่จะไปทำ อาจจะเกิดขึ้นในขณะที่ผมพูดก็ได้ หรืออาจจะเกิดขึ้นที่ไนท์คลับก็ได้

และคำว่า พิจารณา ที่อาจารย์พูดนั้น ช้าไป พอเห็นรูปรู้ทันทีเลย อาตาปี สัมปชาโน สติมา ปั๊ปเข้าไปเลย ความขยันอย่างไร อาตาปี ขยันเพียงเสี้ยววินาที ขวนขวายรู้ เพราะฉะนั้น คำว่า อาตาปี ไม่นานเลย เดี๋ยวจะเข้าใจว่าพูดนาน ยืนนาน จึงเป็นอาตาปี

สุ. สำหรับ อาตาปี สัมปชาโน สติมา ที่มีอยู่ในมหาสติปัฏฐาน เป็นเครื่องส่องถึงความจริงว่า ชั่วขณะที่สติเกิด มีเพียรอยู่ด้วย ร่วมอยู่ด้วย ไม่ใช่ว่าต้องมีตัวตนไปเพียร นั่นผิด นั่นไม่ใช่อาตาปี แต่ขณะใดที่สติระลึก จะปราศจากวิริยะ คือ อาตาปี หรือความเพียร การปรารภลักษณะของนามของรูปไม่ได้เลย

ประโยชน์ของการฟังธรรม ถ้าเข้าใจถูกต้องแล้วไม่มีเครื่องกั้น ไม่มีอุปสรรคเลย สติย่อมสามารถที่จะระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมได้ถูกต้องตามความเป็นจริงมากขึ้นเรื่อยๆ และความรู้ก็ชัดเจนขึ้นตามขั้นของเหตุ คือ การที่สติจะระลึกรู้ลักษณะของนามของรูป

เพราะฉะนั้น ไม่ว่าท่านผู้ฟังจะฟังเรื่องของการเจริญสติปัฏฐาน เรื่องของกุศล เรื่องของอกุศล เรื่องของทาน เรื่องของศีล เรื่องของสมาธิ เรื่องของปัญญา ก็ระลึกได้ รู้ลักษณะของนามและรูปตามปกติในชีวิตประจำวัน เพื่อละความไม่รู้ ละความที่เคยยึดถือนามรูปว่าเป็นตัวตน เพราะเหตุว่าถ้าปกติสติไม่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน จะไม่มีความชินต่อลักษณะของนามของรูปซึ่งเคยยึดถือว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล

เพราะฉะนั้น หนทางที่จะทำให้รู้ชิน รู้ชัด รู้ทั่วที่จะละคลายได้ ก็เพราะสติระลึกเป็นปกติ


ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...

แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 177


เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ