สภาพธรรมใดมีจริง สภาพธรรมใดไม่มีจริง

 
chatchai.k
วันที่  21 ต.ค. 2565
หมายเลข  44822
อ่าน  158

ถ. เรื่องรูปนั่ง รูปนอน รูปยืน รูปเดิน อิริยาบถ ๔ นี้ มีอยู่ในกายานุปัสส-นาสติปัฏฐานจริง แม้ในธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานนั้นก็มีเรื่องของรูปเหมือนกัน แต่ท่านระบุเป็นขันธ์บ้าง อายตนะบ้าง ไม่ได้ระบุว่า เป็นรูปนั่ง รูปยืน รูปเดิน หรือรูปนอน แต่บางท่านยังยืนยันหนักแน่นว่า รูปนั่ง รูปนอน รูปยืน รูปเดินมีอยู่แน่ และรู้ได้ทางใจ ทำให้ผมไม่เข้าใจจริงๆ

สุ. ทางที่จะพิสูจน์ชี้ชัดว่า สภาพธรรมใดมีจริง สภาพธรรมใดไม่มีจริง จะต้องอาศัยพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้และทรงแสดงไว้โดยละเอียดทั้ง ๓ ปิฎกนั่นเอง คือ ทั้งพระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก และพระอภิธรรมปิฎก นอกจากนั้นแล้วคงจะไม่มีหนทางอื่นที่จะทำให้ท่านที่เข้าใจว่า ท่านประจักษ์สภาพของรูปนั่ง รูปนอน รูปยืน รูปเดินว่าเป็นปรมัตถธรรม ซึ่งการที่จะชี้ให้เห็นว่า เป็นปรมัตถธรรม เป็นสภาพธรรมที่มีจริงหรือว่าไม่ใช่สภาพธรรมที่มีจริงได้นั้น ต้องอาศัยพระธรรมที่ทรงแสดงไว้

ใน ปปัญจสูทนี ซึ่งเป็นอรรถกถาของ มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ จูฬสุญญตสูตร มีข้อความว่า

ข้อว่า กายนี้นี่เองทรงแสดงที่ตั้งแห่งวิปัสสนาที่เป็นมหาภูตทั้ง ๔ ประกอบด้วยอายตนะ

เวลาพูดถึงมหาสติปัฏฐาน ๔ กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เวทนานุปัสสนาสติ-ปัฏฐาน จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ทั้ง ๔ สติปัฏฐานเกี่ยวเนื่องกัน ไม่ใช่ว่ามีใครจะแยกไปรู้เฉพาะกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ไม่รู้เวทนา ไม่รู้จิต ไม่รู้ธรรม ถ้าเป็นอย่างนั้น ก็จะไม่รู้แจ้งสภาพธรรมตามความเป็นจริง เพราะว่าสภาพธรรมตามความเป็นจริงไม่ใช่มีแต่รูป ไม่ใช่มีแต่กาย เวทนาก็มี จิตก็มี ธรรมอื่นๆ ก็มี

แต่ขณะใดที่สติระลึกรู้สภาพธรรมที่ปรากฏที่กาย ที่เคยยึดถือว่าเป็นกายของเรา ในอรรถกถา มีข้อความอธิบายว่า ข้อว่า กายนี้นี่เองทรงแสดงที่ตั้งแห่งวิปัสสนาที่เป็นมหาภูตทั้ง ๔ ประกอบด้วยอายตนะ

ที่เคยยึดถือว่าเป็นกาย ประกอบด้วยธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ส่วนไหนที่กายที่เคยยึดถือว่าเป็นกาย ไม่ว่าจะเป็นลมหายใจ เป็นผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นปฏิกูลมนสิการส่วนต่างๆ หรือขณะที่นั่ง นอน ยืน เดินอยู่นั้น เวลาที่สภาพธรรมเกิดปรากฏในส่วนที่เคยยึดถือว่าเป็นกาย ก็จะมีลักษณะของมหาภูตรูปปรากฏให้รู้

การที่จะรู้แจ้งสภาพธรรมตามความเป็นจริง ไม่ใช่นึกรู้ทางใจ การที่จะรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงมี ๖ ทาง คือ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ สมดังข้อความในอรรถกถาที่ว่า กายนี้นี่เองทรงแสดงที่ตั้งแห่งวิปัสสนาที่เป็นมหาภูตทั้ง ๔ ประกอบด้วยอายตนะ

อายตนะ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

ถ้าไม่มีตา สิ่งต่างๆ ก็ไม่ปรากฏ สภาพธรรมที่เป็นของจริงก็ไม่ปรากฏให้รู้ได้ทางตา ถ้าไม่มีหู ก็ไม่มีสภาพธรรมที่เป็นของจริงปรากฏให้รู้ได้ทางหู ถ้าไม่มีจมูก ไม่มีลิ้น ไม่มีกาย ไม่มีใจ ก็ไม่มีสภาพธรรมปรากฏให้รู้ได้ตามความเป็นจริง

การที่จะรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงนั้น อาศัยสติระลึกตรงลักษณะ ทางตามีสภาพปรมัตถธรรม คือ สีสันวรรณะต่างๆ ปรากฏ ทางหูมีสภาพปรมัตถธรรม คือ เสียงปรากฏ ทางจมูกมีสภาพปรมัตถธรรม คือ กลิ่นปรากฏ ทางลิ้นมีสภาพปรมัตถธรรม คือ รสปรากฏ และทางกายก็ต้องมีสภาพปรมัตถธรรมที่มีลักษณะปรากฏ คือ เย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหว นี่เป็นของจริงที่มีปรากฏ ที่เคยยึดถือว่าเป็นกาย สติจะต้องระลึกรู้ลักษณะของปรมัตถธรรม ธรรมที่มีจริง

สภาพของปรมัตถธรรมทั้งหมดทรงแสดงไว้ในพระอภิธรรมปิฎก ทั้งอรรถกถา ฎีกา หรือแม้ในวิสุทธิมรรค ปัญญานิทเทส

ในปัญญานิทเทส ในวิสุทธิมรรค ก็มีข้อความเรื่องของจิต เจตสิก รูป สภาพปรมัตถธรรมทุกอย่าง

สำหรับเรื่องรูปที่เป็นปรมัตถธรรม ก็มีลักษณะของรูปแต่ละชนิด แล้วแต่รูปใดจะเป็นรูปที่ปรากฏให้รู้ได้ทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจ

แต่ในพระไตรปิฎกทั้งหมด และในอรรถกถา ไม่มีท่านั่ง ท่านอน ท่ายืน ท่าเดิน ที่เป็นรูปปรมัตถ์

การเจริญวิปัสสนานั้น ปัญญาจะต้องรู้ชัด แตกย่อยกระจัดกระจายฆนสัญญา ความทรงจำที่เคยรวมกลุ่มก้อนของสภาพธรรม ยึดถือว่าเป็นตัวตน เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดซึ่งเที่ยง ให้รู้ตามความเป็นจริงว่า สิ่งนั้นไม่เที่ยง ไม่เป็นสุข ไม่ใช่ตัวตน ถ้าไม่แตกย่อยกระจัดกระจาย รู้ลักษณะของสภาพธรรมแต่ละลักษณะแล้ว ไม่มีหนทางที่จะประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไปของนามธรรมและรูปธรรม

ทุกท่านคงจะยอมรับว่า การเจริญวิปัสสนานั้นเพื่อให้ปัญญารู้ชัดสภาพธรรมตามความเป็นจริง และจะรู้ชัดได้ ก็เพราะอาศัยสติระลึกรู้ลักษณะของนามแต่ละลักษณะ แต่ละชนิด ระลึกรู้ลักษณะของรูปแต่ละลักษณะ ต้องมีลักษณะจริงๆ ของนามแต่ละชนิด ของรูปแต่ละชนิด ถ้ายังคงรวม ไม่แยก ไม่กระจัดกระจาย ก็จะประจักษ์ไม่ได้ว่า นามใดชนิดใดเกิดขึ้นแล้วดับไป รูปใดชนิดใดเกิดขึ้นแล้วดับไป

และที่กาย ถ้าระลึก จะพ้นไปจากเย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหว ได้ไหม ทีละลักษณะไม่ปนกัน ไม่ใช่ว่ารู้รวมกันเป็นกลุ่มเป็นก้อน เป็นท่านั่ง เป็น ท่านอน เป็นท่ายืน เป็นท่าเดิน

ท่านที่กำลังนั่งอยู่ มีลักษณะปรมัตถธรรมอะไรปรากฏให้รู้ มีลักษณะของรูปปรมัตถ์อะไรที่ปรากฏให้รู้

ทางตา รู้รูปปรมัตถ์ คือ สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา

ทางหู รู้รูปปรมัตถ์ คือ เสียงที่กำลังปรากฏทางหู

ทางจมูก รู้รูปปรมัตถ์ คือ กลิ่นที่กำลังปรากฏทางจมูก

ทางลิ้น รู้รูปปรมัตถ์ คือ รสที่กำลังปรากฏทางลิ้น

ทางกาย รู้รูปปรมัตถ์ คือ เย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหว ที่กำลังปรากฏทางกาย

แต่ถ้าจะให้ทรงอยู่เป็นท่าเป็นทาง มีลักษณะของรูปปรมัตถ์อะไรที่ปรากฏให้รู้ รวมกันเป็นกลุ่มเป็นก้อน ไม่ได้กระจัดกระจาย ไม่ได้แยกมหาภูตรูปทั้ง ๔

แม้ทางกาย ฆนสัญญาจะหมดสิ้นไปได้ ก็ต่อเมื่อสติระลึกรู้ลักษณะของรูปปรมัตถ์ที่ต่างกันของมหาภูตรูปทั้ง ๔ อย่างเช่น สติกำลังระลึกรู้ลักษณะที่เย็น เย็นเท่านั้นที่กำลังปรากฏ ไม่มีความเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนที่ลักษณะที่เย็น

สติจะต้องระลึกเนืองๆ บ่อยๆ จนกว่าจะรู้ชัด ต้องมีลักษณะที่เป็นปรมัตถธรรมจริงๆ ปรากฏ ไม่ใช่นึกเฉยๆ โดยที่ไม่มีสภาพปรมัตถธรรมปรากฏ และเข้าใจว่ารู้แล้ว รู้อะไร นอกจากนึกรู้


ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...

แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 177

แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 178


เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ