สภาพของปรมัตถธรรม ต้องมีลักษณะที่ปรากฏแล้วหมดไปให้รู้

 
สารธรรม
วันที่  21 ต.ค. 2565
หมายเลข  44824
อ่าน  172

ถ. ฆนสัญญา หมายถึงแตกย่อยรูปหรือนามต่างๆ ให้กระจัดกระจายออกไปแต่ละสิ่งแต่ละอย่าง ตามที่ผมเล่าเรียนมารู้สึกว่า ตรงกับที่ท่านอาจารย์บรรยาย แต่บางท่านอธิบายว่า ฆนสัญญาของท่านเป็นอย่างนี้ เช่น นั่งอยู่แล้วก็เปลี่ยนเป็นยืน ยืนอยู่เปลี่ยนเป็นเดิน เดินอยู่เปลี่ยนเป็นนั่ง อะไรอย่างนี้ นี่คือ ฆนสัญญาที่ท่านอธิบาย ก็รูปทั้งแท่งนั่นเอง เมื่อเปลี่ยนจากนั่งเป็นยืน นี่เป็น ฆนสัญญาแล้ว ผมก็ยังไม่เข้าใจ ถามว่า จะให้รู้ได้อย่างไร จะรู้ลักษณะอะไรให้ปรากฏชัดออกมาว่าเป็นฆนสัญญา หรือว่าเป็นรูปอะไรในขณะที่นั่ง หรือท่าทาง ท่านบอกเอาท่าทาง ถามว่า ท่าทางมีลักษณะอะไรที่ปรากฏให้รู้ได้ ทีแรกท่านบอกว่า รูปนั่งนี้วิการรูป ก็ท้วงท่านว่า วิการรูปพิจารณาไม่ได้ เป็นสติปัฏฐานไม่ได้ ท่านก็บอกว่าให้รู้ท่าทาง ถามว่า ท่าทางมีลักษณะอะไร ท่านก็บอกว่าไม่ต้องเอาลักษณะ เมื่อไม่เอาลักษณะแล้ว จะเจริญสติปัฏฐานกันท่าไหน ก็ซักไซ้ไล่เลียงกัน แต่ก็ยังไม่ได้รู้ว่า ฆนสัญญาของท่านนั้นจะแตกย่อยอย่างไร

อาจารย์บางท่านอธิบายว่า เช่น ยกมือแค่นี้ ยกขึ้นไปอีกนิดหนึ่ง รูปเดิมหายไปแล้ว รูปใหม่เกิดขึ้นแล้ว ยกขึ้นอีกนิดหนึ่งก็มีรูปใหม่ๆ เกิดขึ้นเรื่อยๆ คือทั้งแท่งนี่แหละ มือทั้งมือนี่แหละ แต่เปลี่ยนไปอีกนิดหนึ่ง รูปเก่าก็ไม่มีแล้ว เป็นรูปใหม่

ท่านยกตัวอย่างว่า เวลาก้าวเดิน ก้าวไปทีละนิดๆ เท้าที่แกว่งไป รูปเดิมหายไปเรื่อย มีแต่รูปใหม่เกิดขึ้น ก็ทั้งแท่งนี่เอง ยังไม่เข้าใจชัดว่า คืออะไรกันแน่

สุ. ไม่ว่าเรื่องที่ยกมือขึ้นนิดหนึ่ง รูปเก่าก็หายไป ยกขึ้นมาอีกนิดหนึ่ง รูปเก่าก็หายไป มีลักษณะปรมัตถธรรมอะไรที่ปรากฏ จากก้าวหนึ่งไปสู่อีกก้าวหนึ่ง มีลักษณะปรมัตถธรรมอะไรปรากฏให้รู้ว่า สภาพนั้นไม่ใช่ตัวตนที่เคยยึดถือรูปที่ประชุมรวมกัน ทรงอยู่ ตั้งอยู่ในลักษณะอิริยาบถนั้น ซึ่งแท้ที่จริงแล้ว คือ เย็นบ้าง ร้อนบ้าง อ่อนบ้าง แข็งบ้าง ตึงบ้าง ไหวบ้างที่เกิดปรากฏแล้วหมดไป สภาพของปรมัตถธรรมที่จะให้ปัญญารู้ชัดว่า ไม่ใช่ตัวตน เพราะเหตุว่าปรากฏแล้วหมดไป ต้องมีลักษณะที่ปรากฏแล้วหมดไปให้รู้

ทีฆนิกาย มหาวรรค ชนวสภสูตร อรรถกถาสุมังคลวิลาสินี อรรถกถา ชนวสภสูตร มีข้อความว่า

ข้อว่า ทำไว้ในใจโดยอุบายแยบคาย คือ มนสิการด้วยสามารถว่า เป็นอนิจฺจํ เป็นต้น โดยอุบาย ปถ โดยคลอง การณโต โดยการณะ

เพราะฉะนั้น โยนิโสมนสิการ จะเรียกว่า อุปายมนสิการ ปถมนสิการ ก็ได้

ได้แก่การรำพึงทางจิต หรือได้แก่ สมันนาหาร ซึ่งแปลว่า นำมาพร้อม นำมาทั้งหมด มาพิจารณา ตามสัจจานุโลมว่า อนิจฺเจ อนิจฺจํ อสุเภ อสุภํ ทุกฺเข ทุกฺขํ อนตฺตนิ อนตฺตา

ซึ่งหมายความว่า เห็นความไม่เที่ยงของสภาพธรรมที่ไม่เที่ยง เห็นความไม่งามของสภาพธรรมที่ไม่งาม เห็นความเป็นทุกข์ของสภาพธรรมที่เป็นทุกข์ เห็นความไม่ใช่ตัวตนของสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน

ทั้งหมดนี้เป็นลักษณะของปรมัตถธรรมแต่ละชนิดที่เกิดขึ้นแล้วดับไป การที่จะชื่อว่า โยนิโสมนสิการ เพราะพิจารณา รำพึงถึงความไม่เที่ยง ลักษณะที่ไม่เที่ยงของปรมัตถธรรม เพราะฉะนั้น ปรมัตถธรรมมีลักษณะปรากฏว่าไม่เที่ยง เย็นเมื่อสักครู่นี้ที่กระทบปรากฏนิดหนึ่ง หมดแล้ว ไม่เที่ยง

โยนิโสมนสิการ คือ การพิจารณารู้สภาพปรมัตถธรรมลักษณะหนึ่งลักษณะใดที่เกิดปรากฏแล้วหมดไป

รูปนั่ง ทั้งกลุ่มทั้งก้อนที่เป็นท่าเป็นทาง มีลักษณะอะไรที่ปรากฏว่าไม่เที่ยง เย็นปรากฏแล้วก็หมดไป ไม่เที่ยง แต่ท่านั่ง หรือท่านอน หรือท่ายืน หรือท่าเดินก็ตาม มีลักษณะอะไรที่ปรากฏว่าไม่เที่ยงบ้าง เย็นยังปรากฏแล้วก็หมดไป ไม่เที่ยง เสียงยังปรากฏแล้วก็หมดไป ไม่เที่ยง แต่ท่านั่ง ท่านอน ท่ายืน ท่าเดิน ไม่มีลักษณะที่เป็นปรมัตถธรรมที่ปรากฏว่าไม่เที่ยง เพราะฉะนั้น จะไปโยนิโสมนสิการในสิ่งที่ไม่มีลักษณะปรากฏ แล้วจะไปรู้ว่าไม่เที่ยงนั้นไม่ได้


ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...

แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 178


เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ