ที่รู้รูปนั่ง อย่างนี้จะเรียกว่ารู้ปรมัตถธรรมได้ไหม

 
สารธรรม
วันที่  21 ต.ค. 2565
หมายเลข  44827
อ่าน  202

ถ. ถ้าเปรียบเป็นปรมัตถธรรม ถ้าขณะนั้นจิตระลึกรู้จิตที่รู้นามธรรมที่รู้รูปนั่ง อย่างนี้จะเรียกว่ารู้ปรมัตถธรรมได้ไหม

สุ. สภาพธรรมตามความเป็นจริงที่ผู้เจริญสติจะระลึกรู้ได้อย่างถูกต้องเท่านั้นที่จะทำให้ปัญญารู้ชัด และรู้จริงๆ ว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน แต่ต้องรู้ถูก

อย่างเช่น ถามท่านว่า กำลังทำอะไร ท่านอาจจะตอบว่า กำลังนั่ง เป็นความรู้เพราะความทรงจำ เหมือนเห็นกระเป๋า ถามว่าเห็นอะไร ก็ตอบว่าเห็นกระเป๋า ถ้าเห็นเก้าอี้ก็ตอบว่าเห็นเก้าอี้ หรือเก้าอี้จะล้มนอนลงไป ท่านก็ยังมีความทรงจำในลักษณะอาการของสิ่งนั้นอยู่ แต่ผู้ที่เจริญสติละการยึดถือนามธรรมและรูปธรรมโดยละเอียดถึงอนุสัย ที่จะไม่ยึดถือว่าเป็นตัวตน เพราะรู้ชัดในสภาพของนามธรรมและรูปธรรมแต่ละทางถูกต้องตามความเป็นจริง

เพราะฉะนั้น ถ้าขณะนั้นมีความทรงจำรู้ว่า รูปกำลังทรงอยู่ ตั้งอยู่ในลักษณะอย่างนั้น ให้ทราบว่า ในขณะนั้นที่จำได้เป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง ลักษณะปรมัตถธรรมจริงๆ ในขณะนั้นไม่ใช่รูป แต่เป็นนามธรรม เป็นความทรงจำ เพราะฉะนั้น ในการเจริญสติปัฏฐานท่านจะทราบว่า ท่านรู้ รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์

มีท่านผู้ฟังที่เจริญสติปัฏฐานเป็นปกติในชีวิตประจำวันได้บอกให้ทราบว่า รู้ ลักษณะของสัญญาขันธ์มากขึ้น ซึ่งแต่ก่อนนี้หลงลืมสติ ไม่เคยรู้เลยว่า ขณะนี้ที่จำได้ก็เป็นแต่เพียงนามธรรมชนิดหนึ่ง แท้ที่จริงก็เป็นสภาพของนามธรรมที่จำได้ในสิ่งนั้นในสิ่งนี้ เพราะฉะนั้น ผู้ที่เจริญสติเป็นผู้ละเอียด รู้สภาพธรรมตรงตามความเป็นจริง

ท่านั่ง ท่านอน ท่ายืน ท่าเดิน ไม่ใช่ปรมัตถธรรมที่มีลักษณะปรากฏให้รู้ แต่จิตที่ทรงจำได้ จิตที่จำได้ในขณะนั้นมีจริง ผู้ที่เจริญสติจึงรู้ว่า แม้ขณะที่รู้อย่างนั้นก็เป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง แล้วก็ดับไป และก็มีลักษณะปรมัตถธรรมจริงๆ ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ซึ่งไม่เที่ยง มีลักษณะที่เป็นทุกข์เกิดขึ้น แล้วก็ดับไป ไม่ใช่ตัวตน

เพราะฉะนั้น ผู้ที่เจริญสติปัฏฐานที่จะไม่รู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่ เป็นปรมัตถธรรมอย่างถูกต้องชัดเจนตามความเป็นจริงนั้น ไม่มี สภาพใดเป็นนามธรรมก็รู้ชัดในนามธรรมนั้น สภาพธรรมใดเป็นรูปธรรม ชนิดใด ประเภทใด รู้ได้ทางใด เป็นปรมัตถธรรม เป็นสภาพธรรมที่มีจริง ก็ระลึกรู้ ตรง ชัด ถูกต้องตามความเป็นจริง ไม่สับสน ไม่คลาดเคลื่อน

สิ่งที่ไม่มี ก็ไม่มี อย่างท่านั่ง ท่านอน ท่ายืน ท่าเดิน ซึ่งไม่มี ก็ไม่ใช่ปรมัตถธรรม แต่ความทรงจำ ความรู้ว่า ตั้งอยู่ ทรงอยู่ในอาการอย่างไร มี เพราะฉะนั้นสภาพที่จำได้เป็นนามธรรม ไม่ใช่รูปธรรม ผู้ที่เจริญสติปัฏฐานรู้สภาพธรรมตรงตามความเป็นจริง ไม่ใช่ว่ารู้ผิดๆ ถูกๆ


ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...

แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 178


เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ