นอกจากพระอรหันต์ บุคคลที่เหลือยังเป็นผู้หลงลืมสติตามลำดับขั้น

 
สารธรรม
วันที่  22 ต.ค. 2565
หมายเลข  44845
อ่าน  206

ถ. เท่าที่ฟังท่านอาจารย์บรรยายมา และเท่าที่ผมเข้าใจ พอสรุปได้ว่า การเจริญวิปัสสนาหรือการเจริญสติปัฏฐานนี้ ไม่จำกัดกาล ไม่จำกัดสถานที่ ไม่จำกัดอารมณ์ และไม่มีการบังคับใดๆ ซึ่งผมคิดว่าถูกต้อง เพราะอย่างการเจริญมรณานุสติก็ดี พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า การเจริญนี้ต้องเจริญทุกลมหายใจเข้าออก ขณะกำลังอยู่ที่นี่ เราก็มีลมหายใจ ถ้าไม่ได้เจริญสติ ก็หลงลืมสติไป แต่ถ้าเจริญ ก็เป็นการเจริญ ไม่ใช่ว่าจะเจริญสติ และจะต้องไปหายใจในที่ใดที่หนึ่งซึ่งไม่ใช่สถานที่ที่กำลังหายใจอยู่เดี๋ยวนี้

แต่มีผู้ที่ปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานท่านหนึ่ง ท่านถามอาจารย์ท่านที่สอบอารมณ์ว่า การเจริญสติปัฏฐานนี้จะเจริญที่บ้านได้ไหม อาจารย์ท่านนั้นก็ตอบว่า ได้ แต่ว่าอย่าเจริญให้มากนัก ผมไม่ทราบว่าที่ท่านตอบอย่างนั้นหมายความว่าอะไร

สุ. ไม่มีข้อความในพระไตรปิฎกที่กล่าวว่า การเจริญสติปัฏฐานในชีวิตประจำวันนั้นอย่าเจริญให้มากนัก พระผู้มีพระภาคไม่ทรงส่งเสริมให้บุคคลใดหลงลืมสติ เพราะเหตุว่าปัจจัยที่จะให้หลงลืมสตินั้นมีมากอยู่แล้ว ผู้ที่ไม่หลงลืมสติ คือ พระอรหันต์ นอกจากพระอรหันต์แล้ว บุคคลที่เหลือยังเป็นผู้ที่หลงลืมสติตามลำดับขั้น

พระอนาคามีบุคคลหลงลืมสติน้อยกว่าพระสกทาคามีบุคคล พระสกทาคามีบุคคลก็หลงลืมสติน้อยกว่าพระโสดาบันบุคคล พระโสดาบันบุคคลก็หลงลืมสติน้อยกว่าปุถุชน และปุถุชนที่เจริญสติบ่อยๆ เนืองๆ ก็หลงลืมสติน้อยกว่าปุถุชนผู้ไม่เจริญสติ

สติเป็นคุณธรรม เป็นโสภณธรรม มีอุปการคุณมาก ที่จะให้เจริญน้อยๆ หรืออย่าเจริญให้มากนัก ไม่ใช่คำสั่งสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

ผู้ที่กล่าวว่า การเจริญสติปัฏฐานเป็นปกติในชีวิตประจำวันก็เจริญได้หรอก แต่ว่าอย่าเจริญมากนัก ก็ไม่ทราบว่าทำไม

การเจริญสติปัฏฐานเป็นคุณหรือเป็นโทษ เป็นประโยชน์หรือไม่เป็นประโยชน์ ถ้าเป็นคุณเป็นประโยชน์ ทำไมไม่ให้เจริญเนืองๆ บ่อยๆ ยิ่งมากเท่าไรก็ยิ่งดี เพราะว่าสิ่งที่เป็นคุณเป็นประโยชน์นั้นจะไม่ให้โทษเลย แต่ถ้ากล่าวว่าการเจริญสติปัฏ-ฐานเป็นปกติในชีวิตประจำวันนั้นเจริญได้ แต่ว่าอย่าเจริญให้มากนัก เพราะอะไร ทำไมไม่ให้เจริญให้มาก มีโทษอะไรถ้าจะเจริญสติปัฏฐานให้มาก เพราะฉะนั้น ไม่มีเหตุผล และไม่ตรงกับพระธรรมวินัย

ในพระธรรมวินัยส่งเสริมให้เจริญสติปัฏฐานเนืองๆ บ่อยๆ ไม่ใช่กั้นไม่ให้เจริญสติปัฏฐาน ธรรมนี้สอดคล้องในเหตุผลทุกประการ แต่ถ้าสิ่งใดที่ไม่เป็นเหตุไม่เป็นผลไม่ใช่ธรรมวินัย ไม่เคยปรากฏว่า ผู้ที่เจริญสติปัฏฐานแล้วจะเกิดโทษเกิดภัยขึ้น ในทางตรงกันข้าม การเจริญสติปัฏฐานทำให้ปัญญารู้ชัดในสภาพของนามธรรมและรูปธรรมตามความเป็นจริง

ท่านที่เจริญสติปัฏฐานเป็นปกติในชีวิตประจำวัน บางวันสติไม่เกิดเลย เป็นไปได้ไหมอย่างนี้ เพราะเหตุว่าไม่มีตัวตนที่ไปบังคับให้สติเกิด ซึ่งผู้ที่เจริญสติเองทราบความต่างกันของขณะที่หลงลืมสติกับขณะที่มีสติ

เพราะฉะนั้น ผู้ที่เจริญสติรู้ความเป็นอนัตตาของสติ ระลึกรู้ลักษณะของนามบ้าง รูปบ้าง ทีละเล็กทีละน้อย เป็นเรื่องที่จะต้องสะสม เพื่อที่ในวันหนึ่งเวลาที่สติ ระลึกรู้ลักษณะของนามของรูป ปัญญาก็รู้ชัดในลักษณะที่เป็นนาม ในลักษณะที่เป็นรูป และปัญญาที่รู้ชัดในนามในรูปก็รู้ชัดในนามในรูปตามปกติ เหมือนตอนที่เริ่มเจริญสติ คือ ตอนที่เริ่มเจริญสติ ระลึกได้ทางตาในขณะที่เห็น ทางหูในขณะที่ได้ยิน ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจตามปกติอย่างไร สติก็เกิดบ่อยขึ้น จนกระทั่งสามารถที่จะรู้ชัดในสภาพที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนได้

เพราะฉะนั้น จุดประสงค์ของการเจริญสติปัฏฐานที่อบรมให้มีบ่อยๆ เนืองๆ นั้น เพื่อให้ปัญญารู้ชัด ไม่ใช่เพื่อไปบังคับให้ติดต่อกัน ถ้าท่านสอบทานผลของการปฏิบัติในพระไตรปิฎกจะพบว่า พระสาวกแต่ละท่าน ก่อนการรู้แจ้งอริยสัจธรรมท่านก็มีชีวิตของท่านตามปกติธรรมดา แต่ละท่านได้สะสมเหตุปัจจัยมาอย่างไร ท่านก็มีชีวิตอย่างนั้น แต่เวลาที่ได้ฟังธรรมก็สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม ต่างกันไหมกับการที่ท่านเริ่มสะสมอบรมการเจริญสติปัฏฐานในอดีตชาติตั้งแต่ครั้งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์อื่นๆ ในอดีตกาล และช่วงเวลาก่อนที่ท่านจะพบพระผู้มีพระภาค ก่อนที่จะได้ฟังธรรม ท่านมีชีวิตเป็นปกติธรรมดาทุกอย่าง ไม่เคยได้ฟังเรื่องการเจริญสติปัฏฐานก่อนการตรัสรู้ของพระผู้มีพระภาค แต่เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสรู้เป็นพระอรหันต-สัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ได้ทรงแสดงธรรม บุคคลที่ฟังก็สามารถรู้แจ้งอริยสัจธรรมเมื่อได้ฟังธรรมนั้น

เพราะฉะนั้น ทุกท่านก็เจริญเหตุ คือ เจริญสติระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง ไม่ให้คลาดเคลื่อนไปทำอย่างอื่นที่ไม่ใช่ให้รู้สิ่งที่กำลังปรากฏ ซึ่งกิจของพุทธบริษัทที่ได้ฟังธรรม คือ สติระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปตามปกติที่เกิดแล้วปรากฏตามความเป็นจริง จนกว่าจะถึงความสมบูรณ์ ของญาณแต่ละขั้น

ท่านจะเจริญสติปัฏฐานอย่างนี้ไหม หรือว่าจะไปบังคับไม่ให้หลงลืมสติ ติดต่อกัน นั่นเป็นลักษณะของตัวตน เพราะว่าสติเป็นอนัตตาไม่สามารถที่จะกำหนดกฎเกณฑ์ให้เกิดสืบต่อกันชั่วโมงหนึ่ง ๒ ชั่วโมง ตอนเช้า ตอนค่ำ ได้ตามความปรารถนา ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้น ปัญญาก็ไม่รู้ชัดในสภาพธรรมตามความเป็นจริง


ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...

แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 180


เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ