ใครห้ามได้ว่า อย่าระลึก อย่ารู้ อย่าเกิด บังคับได้ไหม

 
chatchai.k
วันที่  22 ต.ค. 2565
หมายเลข  44848
อ่าน  149

ถ. อาจารย์กล่าวว่า การเจริญสติปัฏฐานนี้ ให้สติตามรู้ไปเรื่อยว่า อะไรจะเกิดขึ้นก็ให้กำหนดรู้ไปเรื่อยๆ แต่ผมเห็นว่า สติไปกำหนดอย่างนั้น คิดไปแล้วรู้สึกว่ามั่วไปหมด

สุ. มีท่านผู้ฟังท่านหนึ่ง ฟังเรื่องของการเจริญสติปัฏฐาน และคงจะเป็นผู้ที่สนใจในการเจริญวิปัสสนา ท่านก็รับฟังทุกๆ โอกาสที่จะได้รับฟัง เพื่อจะได้รับฟังเหตุผลข้อปฏิบัติให้ถูกต้อง ท่านผู้ฟังท่านนั้นได้เล่าให้ฟังว่า ในตอนแรกตอนที่กำลังจะทำวิปัสสนา จะทำอย่างนี้ จะทำอย่างนั้น วุ่นวายเหลือเกิน อย่างไรๆ ก็รู้สึกว่ายุ่ง ทำไม่ถูก ทำไม่ได้ แต่พอไม่ทำ ฟัง และทราบลักษณะของสติ ขณะใดมีสติก็รู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ ลักษณะหนึ่ง ลักษณะใด เลือกไม่ได้ แล้วแต่สติซึ่งเป็นอนัตตา เมื่อทราบว่า จะต้องระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมทั่วทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ต้องเจริญสติ เจริญปัญญา มีความรู้ที่จะละคลายความไม่รู้การที่เคยยึดถือนามธรรมและรูปธรรมที่ปรากฏทั้งปวง สติจะเกิดระลึกทางตา ใครบังคับบัญชาว่าไม่ให้ระลึกได้ กำลังได้ยินเมื่อสักครู่นี้ สติอาจจะไม่ได้ระลึกรู้ลักษณะของเสียง ไม่ระลึกลักษณะของได้ยิน แต่ว่าขณะนี้ เดี๋ยวนี้ สติระลึกรู้ลักษณะของเสียง ใครห้ามได้ว่า อย่าระลึก อย่ารู้ อย่าเกิด บังคับได้ไหม ไม่ได้ เป็นเรื่องของอนัตตาทั้งนั้น

เพราะฉะนั้น ขณะใดที่มีสติก็ระลึกได้ รู้ในลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ พิจารณา สำเหนียก จนกระทั่งปัญญารู้ชัดว่า เป็นสภาพรู้ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน หรือว่า เป็นสิ่งที่ปรากฏ เป็นรูปธรรม ทีละเล็กทีละน้อยเป็นปกติ วันไหนสติเกิดก็เกิด บางวันสติไม่เกิดเลย ก็เป็นเรื่องของเหตุปัจจัยที่จะหลงลืมสติไปในวันนั้น บางวันสติก็เกิดมาก บางวันสติก็เกิดน้อย ไม่ต้องไปทำให้วุ่นวาย ไม่ใช่เป็นเรื่องเอาสติไปจ้องที่นี่ ไปดูที่นั่น ใครเอาสติไปได้

สติเป็นสภาพที่ระลึกตรงลักษณะหนึ่งลักษณะใดที่ปรากฏ เกิดแล้วปรากฏตามปกติทีละเล็กทีละน้อย จะระลึกรู้ลักษณะของนามอะไรบ่อย รูปอะไรบ่อย ก็ไม่ใช่เป็นตัวตนที่จะไปเจาะจง บังคับว่า อย่าไปรู้นามอื่นรูปอื่น แต่เป็นเรื่องของสติเองที่เมื่อเกิดขึ้น จะระลึกรู้ลักษณะของนามหรือรูปทางหนึ่งหรือทางใด ก่อนหรือหลัง มากหรือน้อย เป็นเรื่องของสติ ไม่ใช่เป็นตัวตนที่จ้องไว้ก่อนว่า ไม่ให้รู้โน่น ไม่ให้รู้นี่


ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...

แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 180


เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ