ทำไมอริยสัจ ท่านจึงเอามรรค (ที่ควรเจริญ) ไว้เป็นส่วนสุดท้ายครับ

 
เริ่มหัดเดิน
วันที่  22 ต.ค. 2565
หมายเลข  44851
อ่าน  427

ได้ลองค้นหาข้อมูลมาแต่ก็ยังไม่เข้าใจครับ
ว่าทำไมพระพุทธองค์ท่านเรียงลำดับอริยสัจสี่
เป็นทุกข์ สมุทัย (เหตุ) นิโรธ (ความดับแห่งทุกข์) มรรค (หนทางให้ถึงความดับทุกข์)

ผู้รู้บางท่านบอกว่า เรียงตามสภาวะคือ
ทุกข์ พึงกำหนดรู้
สมุทัย พึงละ (เมื่อรู้ทุกข์แจ่มแจ้ง ก็จะละตัณหาอันเหตุแห่งทุกข์)
นิโรธ พึงทำให้แจ้ง (ในที่นี่คือนิพพาน ใช่ไหมครับ?)
มรรค พึงเจริญ

ถ้าเรียงตามลำดับการปฏิบัติ
เมื่อรู้ทุกข์ ละสมุทัย แจ้งนิโรธแล้ว
ทำไมยังต้องเจริญมรรคปิดท้ายอีกหรือครับ?

ขอท่านผู้รู้ทั้งหลายโปรดเมตตาชี้แนะด้วยนะครับ
ขออนุโมทนาครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 23 ต.ค. 2565

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

อริยสัจจ์ ๔ เป็นธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้และทรงแสดง อริยสัจจ์ ๔ เป็นธรรมที่มีจริงที่ทำให้ผู้รู้แจ้งถึงความเป็นพระอริยะ ห่างไกลจากข้าศึก คือกิเลสตามลำดับขั้น เป็นสัจจะของพระอริยเจ้าทั้งหลาย เป็นสัจจะ ที่พระอริยเจ้าทั้งหลายตรัสรู้แล้ว ว่าโดยประเภทแล้ว มี ๔ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ และมรรค

ทุกข์ หมายถึงสภาพธรรมที่เกิดดับ เกิดแล้วย่อมดับไป เป็นไปกับด้วยสังสารวัฏฏ์ เป็นไปในฝ่ายเกิด ซึ่งก็คือ สภาพธรรมที่กำลังมีกำลังปรากฏในขณะนี้ ไม่พ้นไปจากจิต เจตสิก และรูปเลย ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่เกิดเพราะปัจจัยปรุงแต่ง ไม่ได้เกิดขึ้นเอง แต่เกิดเพราะเหตุปัจจัย เมื่อเกิดแล้วก็ตั้งอยู่ไม่ได้ ต้องมีความดับไปเป็นธรรมดา

สมุทัย เป็นเหตุแห่งทุกข์ ที่มีสภาพธรรมที่เป็นทุกข์นี้ ก็เพราะตัณหา ตราบใดที่ยังมีตัณหา ก็ยังไม่พ้นจากทุกข์ ในสังสารวัฏฏ์มีการเกิดการตายอย่างไม่จบสิ้น จนกว่าจะถึงความเป็นพระอรหันต์ จึงจะสามารถดับตัณหาได้อย่างหมดสิ้น

นิโรธ เป็นความดับทุกข์ ดับกิเลส ได้แก่ พระนิพพาน ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่ไม่เกิดไม่ดับ ไม่มีปัจจัยปรุงแต่งให้เกิด เป็นธรรมที่ตรงกันข้ามกับกิเลส ตรงกันข้ามกับสังสารวัฏฏ์อย่างสิ้นเชิง ผู้ที่จะประจักษ์แจ้งพระนิพพาน ต้องเป็นพระอริยบุคคลขั้นต่างๆ เท่านั้น

มรรค เป็นหนทางอันประเสริฐที่จะดำเนินไปถึงซึ่งความดับทุกข์ ได้แก่ อริยมรรคมีองค์ ๘ มีสัมมาทิฏฐิ ความเห็นถูกต้อง เป็นต้น อันเป็นทางอันประเสริฐที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระอริยสงฆ์สาวกดำเนินไปแล้วทั้งหมดนั้น ล้วนเป็นสภาพธรรมที่มีจริงทั้งหมด ที่ทำให้ผู้ที่รู้แจ้งถึงความเป็นพระอริยบุคคล

สำหรับอริยสัจจ์ ทั้ง ๔ นั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงโดยลำดับ กล่าวคือ ทุกข์ เป็น สภาพธรรมที่มีจริง ที่เกิดดับ อยู่ในขณะนี้ซึ่งไม่พ้นไปจากชีวิตประจำวันเลย มีสภาพธรรมที่เป็นทุกข์ เกิดขึ้นเป็นไปอยู่ตลอดเวลา ซึ่งไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่าเป็นทุกข์ เพราะทุกข์ไม่ได้มุ่งหมายถึงเพียงทุกข์กายอันเป็นผลของอกุศลกรรม และทุกข์ใจ ซึ่งเป็นเรื่องของกิเลส เท่านั้น แต่หมายรวมถึงสภาพธรรมที่เกิดดับทุกประเภท ซึ่งเป็นสิ่งที่สามารถศึกษาและเข้าใจได้เพราะมีจริงๆ ในขณะนี้ แล้วทุกข์มีได้อย่างไร เกิดได้อย่างไร พระองค์จึงทรงแสดงเหตุของทุกข์ คือ ตัณหาหรือโลภะ เพราะมีตัณหาหรือโลภะ จึงยังต้องมีการเกิดในสังสารวัฏฏ์อยู่ร่ำไป ทำให้ประสบกับทุกข์ภัยต่างๆ มากมายอย่างไม่มีวันจบสิ้น เมื่อทุกข์ มี เหตุแห่งทุกข์ มี ก็ย่อมมีความดับทุกข์ บุคคลผู้ที่มีปัญญา จึงแสวงหาหนทางที่จะเป็นไปเพื่อความดับทุกข์ ดับสังสารวัฏฏ์ ดับการเวียนว่ายตายเกิด นั่นก็คือ หนทางอันประเสริฐ เป็นหนทางที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงค้นพบ และทรงแสดงแก่สัตว์โลก คือ อริยมรรคมีองค์ ๘ ที่เริ่มจากความเห็นที่ถูกต้อง (ปัญญา)

อีกนัยหนึ่ง พระองค์ตรัสทุกข์ ก่อน เพื่อให้เกิดความสลดใจแก่ผู้ที่ยินดีในการเกิด ต่อจากนั้น ก็ทรงแสดงว่า ทุกข์เกิดเพราะอะไร จึงทรงแสดงเหตุแห่งทุกข์ แล้วทรงนิโรธ (พระนิพพาน) ความดับทุกข์ เพื่อให้เกิดความโล่งใจแก่สัตว์ทั้งหลาย ว่า มีความดับทุกข์ แล้วจะถึงความดับทุกข์ได้อย่างไร พระองค์จึงทรงแสดงหนทางแห่งความดับทุกข์ เป็นลำดับสุดท้าย

จะเห็นได้ว่า พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงทั้งหมด เพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกเพื่อละคลายกิเลสทุกๆ ประการ มีความเห็นผิด ความไม่รู้ เป็นต้น ความเข้าใจของผู้ที่ได้ฟัง ได้ศึกษา จะต้องเจริญขึ้นไปตามลำดับ ตามกำลังปัญญาของแต่ละบุคคล โดยไม่ขาดการฟังการศึกษา เห็นประโยชน์ในการรู้ความจริง ซึ่งก็คือสภาพธรรมที่กำลังมีกำลังปรากฏในขณะนี้ ซึ่งไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่าเป็นธรรม สิ่งที่จะต้องศึกษาให้เข้าใจ ไม่พ้นไปจากธรรมที่มีจริงในขณะนี้ ไม่พ้นไปจากตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ครับ

ขอเชิญศึกษาเพิ่มเติมจากข้อความในพระอภิธรรมปิฎก ที่หัวข้อด้านล่างนี้ครับ

เทศนาโดยลำดับแห่งอริยสัจจ์ ๔

....ยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
lokiya
วันที่ 23 ต.ค. 2565

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
chatchai.k
วันที่ 23 ต.ค. 2565

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
เริ่มหัดเดิน
วันที่ 24 ต.ค. 2565

สาธุ อนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
Junya
วันที่ 26 ต.ค. 2565

อนุโมทนาในกุศล และกราบขอบพระคุณอาจารย์คำปั่นค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ