ความติดในกามคุณ ๕ นั้นหนาแน่นและเหนียวแน่นมาก
ขอกล่าวถึงข้อความในพระไตรปิฎกที่แสดงให้เห็นว่า ความติดในกามคุณ ๕ นั้นหนาแน่นและเหนียวแน่นมาก
ขุททกนิกาย ชาดก มหาปโรพนชาดก ข้อความตอนต้นมีว่า
เทพบุตรผู้มีฤทธิ์มาก จุติจากพรหมโลกแล้ว มาเกิดเป็นโอรสของพระราชาผู้ทรงดำรงอยู่ในราชสมบัติอันเพียบพร้อมด้วยสรรพกามคุณ ก็ดี ความสำคัญในกาม ก็ดี มิได้มีในพรหมโลก พระราชกุมารนั้นจึงเกลียดชังกามทั้งหลาย ด้วยสัญญาอันเกิดในพรหมโลกนั้น
พระราชบิดาก็รับสั่งให้สร้างฌานาคารไว้ภายในพระราชฐาน สำหรับพระราชกุมารนั้นทรงหลีกเร้นบำเพ็ญฌานในอาคารนั้นพระองค์เดียว
ฌานาคารเป็นที่สำหรับบำเพ็ญฌาน
พระราชาก็ทรงอัดอั้นตันพระทัยด้วยความโศกถึงพระโอรส ทรงปริเทวนาการว่า ลูกคนเดียวของเรานี้ไม่บริโภคกามารมณ์เสียเลย อุบายที่จะทำให้ลูกเราบริโภคกามารมณ์นี้มีอยู่อย่างไรบ้างหนอ หรือว่าใครจะรู้เหตุที่จะทำให้ลูกเราพัวพันอยู่ในกามารมณ์ได้ หรือว่าผู้ใดจะประเล้าประโลมลูกเราให้ปรารถนากามารมณ์ได้อย่างไรบ้าง
น่าจะอนุโมทนาสรรเสริญการไม่ติดในกามารมณ์ แต่เพราะมีความเข้าใจผิด คิดว่า ควรจะต้องเสพกามารมณ์ พัวพันในกามารมณ์ พระราชาก็เป็นทุกข์ที่พระราชกุมารนั้นไม่สำคัญในกามารมณ์ ข้อความในพระไตรปิฎกมีว่า
ต่อมาความปรารถนาของพระราชาก็สำเร็จ พระราชกุมารทรงลุ่มหลงในกามารมณ์มากจนเกิดโทษ แต่ว่าตอนสุดท้ายก็ได้ความสลดจิต น้อมพระทัยบรรพชา ต่อแต่นั้น ขัตติยราชกุมารก็ทรงบรรพชา สำรอกกามราคะแล้ว ได้เข้าถึงพรหมโลก
กลับไปสู่พรหมโลกอีกแล้ว มาจากพรหมโลกซึ่งห่างเหินว่างเว้นความติดความหมกมุ่นในกาม นานมากตลอดที่อยู่ในพรหมโลก แม้ว่าจุติจากพรหมโลกแล้ว ปฏิสนธิ ในมนุษย์ สัญญาของการที่เคยว่างเว้นห่างเหินกามารมณ์ต่างๆ นั้นก็ยังมีอยู่ ทำให้ไม่หมกมุ่น ไม่สำคัญ ไม่ยินดี ไม่เพลิดเพลินในกามารมณ์ แต่ความยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะไม่ได้หมดไปเพราะฌานสมาบัติ ไม่ได้หมดไปเพราะการไปเกิดเป็นพรหมบุคคล เพราะเหตุว่ายังไม่ได้รู้แจ้งในกามคุณ ๕ ยังไม่รู้ชัดโลกในวินัยของพระอริยเจ้า เพราะฉะนั้น เชื้อของความยินดีที่ลึกมาก ละเอียดมาก ซับซ้อนมาก ก็ยังคงมีอยู่ ด้วยเหตุนี้จึงเพลิดเพลินหมกมุ่นในกามารมณ์อีกครั้งหนึ่ง แต่ในภายหลังมีเหตุการณ์เกิดขึ้นที่ทำให้ได้ความสลดจิต แล้วออกบรรพชา สำรอกกามราคะ เกิดในพรหมโลกอีก วนไปเวียนมาอย่างนี้ในวัฏฏะ
ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...