กิริยาจิต และ วิบากจิต สะสมอยู่ในจิตได้หรือไม่
กิริยาจิต และ วิบากจิต สะสมอยู่ในจิตได้หรือไม่
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ที่จะสะสมต้องเป็นขณะที่เป็นกุศล อกุศล และ มหากิริยา ของพระอรหันต์
จิตชาติวิบากไม่ได้สะสม เพราะเป็นจิตที่เกิดขึ้นเพราะเหตุคือกรรมที่ได้กระทำแล้ว ดังนั้น วิบากจิต ไม่ได้สะสม และสำหรับกิริยาจิตที่ไม่ใช่มหากิริยาของพระอรหันต์ ก็ไม่ได้สะสม เพราะเป็นแต่เพียงเกิดขึ้นทำกิจหน้าที่แล้วก็ดับไป ไม่ได้เป็นเหตุให้เกิดผลในภายหน้า และไม่ได้สะสมความเป็นผู้มีอัธยาศัยอย่างนั้นๆ ได้เลย
เนื่องจากเป็นเรื่องที่ละเอียดลึกซึ้งอย่างยิ่ง จึงขอเชิญศึกษาจากคำบรรยายของอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ดังนี้
ข้อความในอัฏฐสาลินี อรรถกถาธัมมสังคณีปกรณ์ จิตตุปปาทกัณฑ์ แสดงอรรถของจิตประการที่ ๒ ว่าอีกอย่างหนึ่ง เพราะเหตุที่ศัพท์ ว่า จิตฺตํ นี้ ทั่วไปแก่จิตทุกดวง ฉะนั้น ในคำว่า “จิตฺตํ” นี้ โลกิยกุศลจิต อกุศลจิต และมหากิริยาจิต จึงชื่อว่า “จิต” เพราะสั่งสมสันดานของตนด้วยสามารถแห่งชวนวิถี
คำว่า “สันดาน” ในภาษาไทยมาจากคำภาษาบาลีว่า “สนตาน” หรือ “สนตติ” ซึ่งหมายถึง การเกิดดับสืบต่อกัน จิตเห็น จิตได้ยิน จิตได้กลิ่น จิตลิ้มรส จิตรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส เป็นวิบากจิต ไม่ใช่กุศลจิต และไม่ใช่อกุศลจิต จึงไม่สั่งสมสันดาน จิตเห็น จิตได้ยิน จิตได้กลิ่น จิตลิ้มรส จิตรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสเป็นผลของอดีตกรรม เมื่อกรรมใดสุกงอมพร้อมที่จะให้ผล คือ ประกอบพร้อมด้วยปัจจัยต่างๆ ก็ทำให้วิบากจิตประเภทต่างๆ เกิดขึ้นทำกิจต่างๆ เช่น เห็น ได้ยิน เป็นต้น วิบากจิตไม่สั่งสมสันดาน เพราะวิบากจิตแต่ละขณะเกิดขึ้นเพราะกุศลกรรมหรืออกุศลกรรมที่สะสมมาแล้วนั้น เป็นปัจจัยให้เกิดขึ้น เมื่อวิบากจิตเกิดขึ้นและดับไปแล้ว ก็ไม่เป็นเหตุให้วิบากใดๆ เกิดขึ้นเลย
เพื่อที่จะเข้าใจอรรถของจิตประการที่ ๒ ที่ว่า โลกิยกุศลจิต อกุศลจิต และมหากิริยาจิต จึงชื่อว่า จิต เพราะสั่งสมสันดานของตนด้วยสามารถแห่งชวนวิถีนั้น ก็จะต้องเข้าใจวิถีจิตก่อนว่าวิถีจิตคือจิตประเภทไหน เกิดขึ้นเมื่อไร และจะต้องเข้าใจ ชวนวิถีซึ่งเป็นขณะที่จิตสั่งสมสันดานของตน ซึ่งเป็นโลกิยกุศลบ้าง อกุศลบ้าง และสำหรับพระอรหันต์ก็เป็นมหากิริยาจิต เพราะถึงแม้ว่าเป็นพระอรหันต์แล้ว ก็เป็นพระอรหันต์ที่มีกาย วาจา ใจ ต่างๆ กันตามการสั่งสมสันดานของตน
...ยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ...