สังฆทาน ๗ ประการ

 
chatchai.k
วันที่  26 ต.ค. 2565
หมายเลข  44887
อ่าน  276

บางท่านอาจจะสงสัยว่า ทำไมการเจริญสติปัฏฐานจึงจะต้องเกี่ยวกับทานหรือสังฆทาน ซึ่งการเจริญสติปัฏฐานนั้นเพื่อชำระมลทินทั้งปวง เวลาที่ให้ทาน ท่านก็อาจจะมีกิเลส เช่น ถ้าการให้นั้นเป็นไปกับการเจาะจงให้ในบุคคล ไม่ใช่การให้ถวายแก่สงฆ์ แต่พระธรรมที่ได้ทรงแสดงไว้จะชี้ให้ท่านเห็นว่า จิตของท่านบริสุทธิ์หรือไม่บริสุทธิ์อย่างไร และจะบริสุทธิ์ยิ่งขึ้นได้อย่างไร เพราะฉะนั้น มีหนทางใดที่จะทำให้จิตบริสุทธิ์ยิ่งขึ้น สะอาดหมดจดยิ่งขึ้นจากกิเลสทั้งปวงได้ พระผู้มีพระภาคก็ได้ทรงแสดงไว้

สังฆทาน ๗ ประการนั้น

ประการที่ ๑ ให้ทานในสงฆ์ ๒ ฝ่าย มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข

ประการที่ ๒ ให้ทานในสงฆ์ ๒ ฝ่าย ในเมื่อพระผู้มีพระภาคปรินิพพานแล้ว

ประการที่ ๓ ให้ทานในภิกษุสงฆ์ ข้อนี้ก็สามารถที่จะมีได้ แต่ใจจะต้องนอบน้อมยำเกรงในสงฆ์ มุ่งตรงต่อพระอริยเจ้า

ประการที่ ๔ ให้ทานในภิกษุณีสงฆ์ สมัยนี้มีไม่ได้

ประการที่ ๕ เผดียงสงฆ์ว่า ขอได้โปรดจัดภิกษุและภิกษุณีจำนวนเท่านี้ขึ้นเป็นสงฆ์แก่ข้าพเจ้า แล้วให้ทาน ประการที่ ๕ สมัยนี้ทำไม่ได้ เพราะว่าไม่มีภิกษุณีสงฆ์

ประการที่ ๖ เผดียงสงฆ์ว่า ขอได้โปรดจัดภิกษุจำนวนเท่านี้ขึ้นเป็นสงฆ์แก่ข้าพเจ้า แล้วให้ทาน ประการที่ ๖ สมัยนี้ยังกระทำได้

ประการที่ ๗ เผดียงสงฆ์ว่า ขอได้โปรดจัดภิกษุณีจำนวนเท่านี้ขึ้นเป็นสงฆ์แก่ข้าพเจ้า แล้วให้ทาน สมัยนี้ประการที่ ๗ ทำไม่ได้

เพราะฉะนั้น สำหรับในสมัยนี้ จะมีสังฆทานประการที่ ๓ กับประการที่ ๖

ประการที่ ๓ คือ ให้ทานในภิกษุสงฆ์ ขณะใดก็ได้ที่ท่านจะถวายอะไรแก่ภิกษุรูปใด แต่จิตของท่านเต็มไปด้วยความนอบน้อมในพระอริยเจ้า ในขณะนั้นก็เป็นสังฆทาน อีกประการหนึ่ง คือ ท่านมีเจตนาที่จะถวายทานแก่ภิกษุจำนวนกี่รูป ท่านก็ไปเผดียงสงฆ์ว่า ขอได้โปรดจัดภิกษุจำนวนเท่านี้ขึ้นเป็นสงฆ์แก่ข้าพเจ้า แล้วให้ทาน นั่นก็เป็นประการที่ ๖ เพราะฉะนั้น สำหรับสมัยนี้ สังฆทานจะเป็นได้ในประการที่ ๓ และในประการที่ ๖

ตอนท้ายของ ทักขิณาวิภังคสูตร มีข้อความว่า

ผู้ใดปราศจากราคะแล้ว ได้ของมาโดยธรรม มีจิตเลื่อมใสดี เชื่อกรรมและผล ของกรรมอย่างยิ่ง ให้ทานในผู้ปราศจากราคะ ทานของผู้นั้นนั่นแลเลิศกว่าอามิสทานทั้งหลาย

ถ้าเชื่อกรรมและผลของกรรมก็คงจะไม่ไปแสวงหาวัตถุทานมาโดยผิดศีล

ธรรมเนียมของการถวายทานในปัจจุบันสืบต่อมาจากพระไตรปิฎก เพราะเหตุว่าก่อนที่จะมีการถวายทาน มีการรับศีลก่อน เพื่อชำระจิตของผู้ให้ให้บริสุทธิ์ขึ้น เพราะฉะนั้น ถ้าท่านไม่ศึกษาธรรม เวลาที่ถวายทานท่านก็ไม่เข้าใจว่า ทำไมจะต้องมีการรับศีล

ที่ว่าเลิศกว่าอามิสทานทั้งหลายนั้น เพราะผู้ใดปราศจากราคะแล้ว ได้ของมาโดยธรรม มีจิตเลื่อมใสดี เชื่อกรรมและผลของกรรมอย่างยิ่ง ให้ทานในผู้ปราศจากราคะ ทานของผู้นั้นนั่นแลเลิศกว่าอามิสทานทั้งหลาย และผู้ที่เชื่อกรรมและผลของกรรมอย่างยิ่งนั้น ก็เป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติ ถ้าไม่ใช่ผู้ที่มีปกติเจริญสติ ขณะที่กำลังเห็นในขณะนี้ทราบไหมว่า เป็นผลของกรรม ขณะที่กำลังได้ยิน ขณะที่กำลังได้กลิ่น จะได้กลิ่นที่พอใจหรือไม่พอใจก็ตาม ทราบไหมว่า เป็นผลของกรรม ไม่ว่าจะเป็นนามใดรูปใดของใครที่ไหนก็ตาม จะเป็นอารมณ์ที่ชอบใจ เป็นอิฏฐารมณ์ หรือว่าจะเป็นอารมณ์ที่ไม่ชอบใจ เป็นอนิฏฐารมณ์ ก็มีเหตุปัจจัยทำให้เกิดเป็นเช่นนั้น ซึ่งก็เป็นผลของกรรมที่ได้กระทำไว้ จะเปลี่ยนแปลง หรือจะเลือกเอาตามใจชอบไม่ได้

สำหรับการเคารพ การนอบน้อมในพระสงฆ์นั้น ใน อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต สักกัจจสูตร ท่านพระสารีบุตรกราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุเคารพในพระศาสดา จักไม่เคารพในธรรม ข้อนี้ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้ ภิกษุเคารพในพระศาดา ชื่อว่า เคารพในธรรมด้วย

ภิกษุเคารพในพระศาสดา ในธรรม จักไม่เคารพในสงฆ์ ข้อนี้ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้ ภิกษุเคารพในพระศาสดา ในธรรม ชื่อว่า เคารพในสงฆ์ด้วย

แม้พระธรรมสั้นๆ ก็อุปการะเกื้อกูลให้ท่านมีความเคารพในสงฆ์ คือ พระอริยสงฆ์ และทำให้จิตใจนอบน้อม ยำเกรง ถวายทานด้วยความเคารพ

ทุกทางที่จะทำให้จิตของท่านผู้ฟังบริสุทธิ์ยิ่งขึ้น พระผู้มีพระภาคก็ได้ทรงแสดงไว้ ไม่ทรงส่งเสริมให้ผู้ใดมีอกุศลจิต จิตของผู้ใดเป็นอกุศล ทำอกุศลกรรมไว้มากมายเท่าไรก็เป็นจิตของบุคคลนั้น เป็นอกุศลกรรมของบุคคลนั้น ที่ทำให้เกิดผลที่เป็นทุกข์ของบุคคลนั้น แต่ผู้ใดที่ระลึกรู้ลักษณะสภาพธรรมที่ตนเองได้สะสมมาตามความเป็นจริงถูกต้อง จะทำให้ผู้นั้นขัดเกลากิเลสได้ละเอียดยิ่งขึ้น และสามารถดับการยึดถือนามธรรมและรูปธรรมว่าเป็นตัวตนได้


ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...

แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 183


เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ