พระผู้มีพระภาคทรงแสดงการเจริญสติปัฏฐานไว้สมบูรณ์ครบถ้วน

 
สารธรรม
วันที่  28 ต.ค. 2565
หมายเลข  44915
อ่าน  207

การเจริญสติปัฏฐานในครั้งอดีตที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน ทรงแสดงไว้สมบูรณ์ครบถ้วนอย่างไร ย่อมไม่เข้าถึงความคร่ำคร่า ยังคงปฏิบัติตามได้ถ้ามีความเข้าใจในการเจริญสติปัฏฐานถูกต้องจริงๆ ด้วยเหตุนี้ในสตารหาคาถาจึงมีข้อความว่า สัตบุรุษกับสัตบุรุษเท่านั้นรู้กันได้ ผู้ที่เจริญสติเข้าใจการเจริญสติปัฏฐานแล้ว เวลาที่สนทนากับผู้ที่เจริญสติปัฏฐานด้วยกัน เข้าใจกันได้ไหม

ได้สนทนากับท่านผู้ฟังท่านหนึ่ง เมื่อได้สนทนากับท่านถึงสัจธรรม คือ กำลังเห็นเดี๋ยวนี้เป็นของจริง กำลังได้ยินเป็นของจริงที่ปัญญาจะต้องรู้แจ้ง จึงจะเป็นพระอริยเจ้าได้ ท่านสนใจที่จะเจริญสติปัฏฐานท่านก็ถามว่า เจริญสติทำอย่างไร ก็ได้พูดถึงลักษณะของสติ เป็นสภาพที่ระลึกทันที คือ รู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏตรงลักษณะนั้น ซึ่งลักษณะนั้นที่กำลังปรากฏ ถ้าเป็นทางหู เสียงที่ปรากฏชั่วนิดเดียว แม้แต่เย็นหรือร้อน หรือแม้แต่ความสุขจะเกิดปรากฏขึ้นเพราะเหตุปัจจัย นี่เป็นสิ่งที่สติสามารถที่จะระลึกได้ทันที ถ้าไม่กั้นสติไว้ด้วยความเข้าใจผิดคิดว่าสติจะเกิดไม่ได้ เมื่อเข้าใจถูก สติย่อมจะเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมบ้าง รูปธรรมบ้างทีละเล็กทีละน้อย หรือว่านานๆ ซึ่งแล้วแต่จะมีปัจจัยให้สติเกิดขึ้นระลึกรู้มากน้อยเพียงไร

เมื่อท่านผู้นั้นได้ฟังก็สนใจ แต่ก็ถามว่า แล้วเมื่อไรจะหมดกิเลส คล้ายๆ กับว่าการที่สติระลึกที่กาย อ่อนบ้าง แข็งบ้าง ทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ทางจมูกบ้าง ลิ้นบ้าง สุขบ้าง ทุกข์บ้าง โลภะบ้าง โทสะบ้าง อย่างนี้แล้วเมื่อไรจะหมดกิเลส ท่านผู้นั้นอาจจะคิดว่า การเจริญสติระลึกรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏตรงลักษณะตามความเป็นจริงอย่างนี้หรือที่จะทำให้หมดกิเลสได้ บางคนเข้าใจว่า การเจริญสติปัฏฐานเป็นปกติรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงนี้ก็ดี แต่ก็ไม่ใช่หนทางที่จะหมดกิเลส

เพราะฉะนั้น การมีความเห็นถูกตามสภาพธรรมตามความเป็นจริง ไม่ใช่ง่ายนักสำหรับผู้ที่สะสมความเห็นผิด ความเข้าใจผิดมาแล้วมาก แต่ว่าไม่ยากสำหรับท่านที่สะสมอบรมการพิจารณาเหตุและผลของสภาพธรรมให้ตรงตามคลองของธรรม ท่านได้เคยเป็นผู้ที่สะสมความเข้าใจสภาพธรรม การพิจารณาธรรมตรงตามเหตุและผลถูกต้องมาแล้วอย่างมากทีเดียวในอดีต เพราะฉะนั้น แม้คาถาในชาดกก็จะเกื้อกูลให้ท่านพิจารณาเทียบเคียงว่า ทั้งๆ ที่ท่านอยากจะรู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระอริยเจ้า เป็นพระอริยบุคคล แต่ท่านมีความเห็นถูกตามคลองของธรรม ตามเหตุตามผลแล้วหรือยัง หรือว่ายังมีความเข้าใจคลาดเคลื่อน ซึ่งจะเป็นเหตุที่ทำให้ท่านไม่สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้


ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...

แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 186


เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ