ผู้ใดแลมัวรักษาของรัก ทำตนให้เหินห่างจากความดี

 
chatchai.k
วันที่  28 ต.ค. 2565
หมายเลข  44916
อ่าน  190

เมื่อพระเจ้าสุตโสมได้ฟังคาถาของพราหมณ์ พระเจ้าสุตโสมก็ตรัสว่า

คาถาเหล่านี้ชื่อ สาหัสสิยา ควร ๑,๐๐๐ ไม่ใช่ สตารหา ควร ๑๐๐

ดูกร พราหมณ์ เชิญท่านรีบมารับเอาทรัพย์ ๔,๐๐๐ เถิด ซึ่งพระราชบิดาของพระเจ้าสุตโสมไม่เห็นด้วยตรัสว่า คาถาควร ๘๐ และ ควร ๙๐ แม้ควร ๑๐๐ ก็มี ดูกร พ่อสุตโสม พ่อจงรู้ด้วยตนเอง คาถาชื่อ สาหัสสิยา ควร ๑,๐๐๐ มีที่ไหน

ไม่เห็นเลยว่า คาถานี้มีค่าควร ๑,๐๐๐ ซึ่งพระเจ้าสุตโสมก็ตรัสว่า

หม่อนฉันปรารถนาความเจริญทางศึกษาของตน สัตบุรุษทั้งหลายผู้สงบ พึงคบหาหม่อมฉัน

ข้าแต่ทูลกระหม่อม หม่อนฉันไม่อิ่มด้วยสุภาษิต เหมือนดังมหาสมุทรไม่อิ่มด้วยแม่น้ำ ฉะนั้น

ข้าแต่พระราชาผู้ประเสริฐสุด ไฟไหม้หญ้าและไม้ย่อมไม่อิ่ม แล้วสาครก็ไม่อิ่มด้วยแม่น้ำทั้งหลายฉันใด แม้บัณฑิตเหล่านั้นก็ฉันนั้น ได้ฟังคำสุภาษิตแล้วย่อมไม่อิ่มด้วยสุภาษิต

ข้าแต่พระทูลกระหม่อมจอมประชาชน เมื่อใดหม่อมฉันฟังคาถาที่มีประโยชน์ ต่อธาตุของตน เมื่อนั้นหม่อมฉันย่อมตั้งใจฟังคาถานั้นโดยเคารพ

ข้าแต่พระทูลกระหม่อม หม่อมฉันไม่มีความอิ่มในธรรมเลย

จะต้องสะสมกันมานานและก็มากถึงอย่างนี้ ที่จะเป็นผู้ที่ใคร่ต่อการฟังธรรม ซึ่งแม้แต่พระเจ้าโปริสาทเอง ทั้งๆ เป็นผู้ที่ชอบเสวยเนื้อมนุษย์ แต่แม้กระนั้นก็ยังตรัสกับพระเจ้าสุตโสมว่า

นรชนได้ฟังธรรมแล้ว ย่อมรู้แจ้งบุญและบาป ใจของหม่อมฉันจะยินดีในธรรม เพราะได้ฟังคาถาบ้างกระมัง

ยังมีความหวังว่า ธรรมหรือคาถานั้นจะช่วยให้เกิดความเห็นถูก ความเข้าใจถูก

ได้ เมื่อพระเจ้าสุตโสมได้ขอให้พระเจ้าโปริสาทเว้นการเสวยเนื้อมนุษย์ซึ่งเป็นสิ่งที่พอพระทัยอย่างที่สุด ละยากที่สุดนั้น พระเจ้าโปริสาทก็ไม่ทรงยินยอม ซึ่งพระเจ้าสุตโสมก็ตรัสว่า

ผู้ใดแลมัวรักษาของรักว่า นี้เป็นของรักของเรา ทำตนให้เหินห่างจากความดี เสพของรักทั้งหลายอยู่ เหมือนนักเลงสุราดื่มสุราเจือยาพิษฉะนั้น ผู้นั้นย่อมได้รับทุกข์ในโลกหน้า เพราะกรรมอันลามกนั้น ส่วนผู้ใดในโลกนี้พิจารณาแล้วละของรักได้ เสพอริยธรรมทั้งหลาย แม้ด้วยความยาก เหมือนคนเป็นไข้ดื่มยาฉะนั้น ผู้นั้นย่อมได้รับความสุขในโลกหน้า เพราะกัลยาณธรรมนั้น

ข้อความอย่างนี้มีประโยชน์สำหรับท่านผู้ฟังไหม ท่านที่ยังเพลิดเพลินในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และไม่ยอมเจริญสติปัฏฐาน ก็เป็นผู้ที่มัวรักษาของรักว่า นี้เป็นของรักของเรา ทำตนให้เหินห่างจากความดี เสพของรักทั้งหลายอยู่ เหมือนนักเลงสุราดื่มสุราเจือยาพิษฉะนั้น ส่วนผู้ใดในโลกนี้พิจารณาแล้วละของรักได้ เสพอริยธรรมทั้งหลายแม้ด้วยความยาก เหมือนคนเป็นไข้ดื่มยาฉะนั้น ผู้นั้นย่อมได้รับความสุขในโลกหน้า เพราะกัลยาณธรรมนั้น

สติเกิดน้อย เพราะเหตุว่าหมกมุ่มเพลิดเพลินในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ แต่าถ้าใคร่ในธรรม ฟังธรรมบ่อยๆ จะทำให้ละคลายการที่หมกมุ่นในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะลงได้ ต้องเป็นผู้ที่ใคร่ต่อธรรมจริงๆ

ขอให้คิดดูว่า วันหนึ่งๆ สติเกิดบ่อยไหม พร้อมที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมหรือยัง นี่เป็นสิ่งที่จะต้องตรวจสอบ มิฉะนั้น ตัณหา ความหวัง ความต้องการที่จะรู้แจ้ง อริยสัจธรรม จะทำให้ท่านข้ามการที่สติจะเกิดระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปที่กำลังปรากฏทันที

อำนาจของตัณหา ความต้องการที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม จะทำให้ท่านไปทางอื่น รีบจะไปทำอย่างอื่นเพื่อให้รู้แจ้งอริยสัจธรรม นี่เป็นสิ่งที่คอยเตือนท่าน เสพอริยธรรมทั้งหลายแม้ด้วยความยาก แต่ถ้าเข้าใจถูกต้องแล้ว วันหนึ่งก็จะต้องรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้


ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...

แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 186


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
Komsan
วันที่ 3 เม.ย. 2566

กราบอนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ