มงคล ๓๘

 
สารธรรม
วันที่  30 ต.ค. 2565
หมายเลข  44939
อ่าน  235

ขุททกนิกาย สุตตนิบาต จุฬวรรคที่ ๒ มงคลสูตรที่ ๔ มีข้อความว่า

ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ครั้งนั้นแล เทวดาท่านหนึ่ง เมื่อปฐมยามล่วงไปแล้ว มีรัศมีอันงดงามยิ่ง ทำพระวิหารเชตวันทั้งสิ้นให้สว่างไสว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้ว ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคด้วยคาถาว่า

เทวดาและมนุษย์เป็นอันมากผู้หวังความสวัสดี ได้พากันคิดมงคลทั้งหลาย ขอพระองค์ได้โปรดตรัสอุดมมงคล

จากนั้นไปเป็นเรื่องของมงคล ตามพระไตรปิฎกถ้านับแล้วจะเป็น ๓๗ ประการ แต่จะให้ท่านผู้ฟังได้สอบทานกับอรรถกถา เพื่อจะได้ไม่เข้าใจการแยกมงคล ๓๘ ให้คลาดเคลื่อน

ข้อความในพระไตรปิฎก พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถาตอบว่า

การไม่คบคนพาล การคบบัณฑิต การบูชาบุคคลที่ควรบูชา นี้เป็นอุดมมงคล

การอยู่ในประเทศอันสมควร ความเป็นผู้มีบุญอันทำไว้แล้วในกาลก่อน การตั้งตนไว้ชอบ นี้เป็นอุดมมงคล

พาหุสัจจะ ศิลปะ วินัยที่ศึกษาดีแล้ว วาจาสุภาษิต นี้เป็นอุดมมงคล

การบำรุงมารดา บิดา การสงเคราะห์บุตร ภรรยา การงานอันไม่อากูล นี้เป็นอุดมมงคล

ทาน การประพฤติธรรม การสงเคราะห์ญาติ กรรมอันไม่มีโทษ นี้เป็นอุดมมงคล

การงดเว้นจากบาป ความสำรวมจากการดื่มน้ำเมา ความไม่ประมาทในธรรมทั้งหลาย นี้เป็นอุดมมงคล

ความเคารพ ความประพฤติถ่อมตน ความสันโดษ ความกตัญญู การฟังธรรมโดยกาล นี้เป็นอุดมมงคล

ความอดทน ความเป็นผู้ว่าง่าย การได้เห็นสมณะทั้งหลาย การสนทนาธรรมโดยกาล นี้เป็นอุดมมงคล

ความเพียร พรหมจรรย์ การเห็นอริยสัจ การกระทำนิพพานให้แจ้ง นี้เป็นอุดมมงคล

จิตของผู้ใดอันโลกธรรมทั้งหลายถูกต้องแล้ว ย่อมไม่หวั่นไหว ไม่โศกเศร้า ปราศจากธุลี เป็นจิตเกษม นี้เป็นอุดมมงคล

จะขอนับให้ท่านผู้ฟังได้เห็นชัดอีกครั้งหนึ่งว่า ตามพระไตรปิฎกมีอะไรบ้าง

๑. การไม่คบคนพาล

๒. การคบบัณฑิต

๓. การบูชาบุคคลที่ควรบูชา

๔. การอยู่ในประเทศอันสมควร

๕. ความเป็นผู้มีบุญอันทำไว้แล้วในกาลก่อน

๖. การตั้งตนไว้ชอบ

๗. พาหุสัจจะ

๘. ศิลปะ

๙. วินัยที่ศึกษาดีแล้ว

๑๐. วาจาสุภาษิต

๑๑. การบำรุงมารดา บิดา

๑๒. การสงเคราะห์ บุตร ภรรยา

๑๓. การงานอันไม่อากูล

๑๔. ทาน

๑๕. การประพฤติธรรม

๑๖. การสงเคราะห์ญาติ

๑๗. กรรมอันไม่มีโทษ

๑๘. การงดเว้นจากบาป

๑๙. ความสำรวมจากการดื่มน้ำเมา

๒๐. ความไม่ประมาทในธรรมทั้งหลาย

๒๑. ความเคารพ

๒๒. ความประพฤติถ่อมตน

๒๓. ความสันโดษ

๒๔. ความกตัญญู

๒๕. การฟังธรรมโดยกาล

๒๖. ความอดทน

๒๗. ความเป็นผู้ว่าง่าย

๒๘. การได้เห็นสมณะทั้งหลาย

๒๙. การสนทนาธรรมโดยกาล

๓๐. ความเพียร

๓๑. พรหมจรรย์

๓๒. การเห็นอริยสัจ

๓๓. การกระทำนิพพานให้แจ้ง

๓๔. จิตของผู้ใดอันโลกธรรมทั้งหลายถูกต้องแล้วย่อมไม่หวั่นไหว

๓๕. ไม่โศกเศร้า

๓๖. ปราศจากธุลี

๓๗. เป็นจิตเกษม

ส่วนคาถาสุดท้ายเป็นคาถาสรรเสริญมงคล

ตอนท้ายของมงคลสูตรมีว่า

เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายทำมงคลเช่นนี้แล้ว เป็นผู้ไม่ปราชัยในข้าศึกทุกหมู่เหล่า ย่อมถึงความสวัสดีในที่ทุกสถาน นี้เป็นอุดมมงคลของเทวดาและมนุษย์เหล่านั้น

บางท่านเข้าใจว่า คาถาสรรเสริญมงคลตอนท้ายเป็นมงคลหนึ่ง จึงรวมเป็น ๓๘ แต่ไม่ถูก เพราะฉะนั้น ถ้าท่านศึกษาเรื่องมงคลสูตรจากหลายๆ แห่ง แม้ในฉบับของต่างประเทศก็จะพบว่า การแยกมงคล ๓๘ ไม่ตรงกันกับอรรถกถา อย่างฉบับภาษาอังกฤษของประเทศลังกา แยกคาถาที่ ๖ การงดเว้นจากบาป ซึ่งรวมเป็นหนึ่ง แยกเป็นการงดจากบาป ๑ การเว้นจากบาป ๑

สำหรับประเทศไทย ส่วนมากที่ได้ยินได้ฟัง จะแยกข้อการสงเคราะห์บุตร ๑ ภรรยา ๑ ซึ่งเป็นคาถาที่ ๔ แต่ไม่ตรงกับอรรถกถา


ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...

แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 187


เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ