พระผู้มีพระภาคตรัสมงคล ๓๘ ประการ ด้วยคาถา ๑๐ คาถา
ปรมัตถโชติกา ซึ่งเป็น อรรถกถามงคลสูตร มีคำอธิบายว่า
พระผู้มีพระภาคตรัสมงคล ๓๘ ประการ ด้วยคาถา ๑๐ คาถา มี อเสวนา จ พาลนํ เป็นต้น
ข้อความใน ปรมัตถโชติกา อธิบายว่า คาถา ๑๐ คาถา ได้มงคล ๓๘ ประการ ดังนี้คือ
คาถาที่ ๑ มี ๓ มงคล คือ การไม่คบคนพาล ๑ การคบบัณฑิต ๑ การบูชาบุคคลที่ควรบูชา ๑
คาถาที่ ๒ มี ๓ มงคล คือ การอยู่ในประเทศอันสมควร ๑ ความเป็นผู้มีบุญ อันทำไว้แล้วในกาลก่อน ๑ การตั้งตนไว้ชอบ ๑
คาถาที่ ๓ มี ๔ มงคล คือ พาหุสัจจะ ๑ ศิลปะ ๑ วินัยที่ศึกษาดีแล้ว ๑ วาจาสุภาษิต ๑
คาถาที่ ๔ มี ๔ มงคล คือ มาตุปัฏฐานะ การบำรุงมารดา ๑ ปิตุปัฏฐานะ การบำรุงบิดา ๑ ปุตตะ ทารัสสะ สังคหะ การสงเคราะห์บุตร ภรรยา ๑ อนากุลา กัมมันตา การงานอันไม่อากูล ๑
ปรมัตถโชติกา ไม่ได้แยกอย่างฉบับภาษาอังกฤษ คือ ไม่ได้แยกเรื่องการงด การเว้น
ปรมัตถโชติกา อรรถกถา แยกคาถาที่ ๔ ว่า คาถาที่ ๔ นั้น มี ๔ มงคล คือ
มาตุปัฏฐานะ การบำรุงมารดา ๑ ปิตุปัฏฐานะ การบำรุงบิดา ๑ ปุตตะ ทารัสสะ สังคหะ การสงเคราะห์บุตร ภรรยา ๑ อนากุลา กัมมันตา การงานอันไม่อากูล ๑
ส่วนมากที่แยกกันนั้น จะแยกการสงเคราะห์บุตร ๑ การสงเคราะห์ภรรยา ๑ แต่ถ้าแยกอย่างนี้จะไม่ตรงกับปรมัตถโชติกา อรรถกถาของมงคลสูตร ซึ่งข้อความในปรมัตถโชติกามีคำอธิบายกำกับยืนยันเรื่องการแยกการบำรุงมารดา บิดาไว้
ข้อความใน ปรมัตถโชติกา มีว่า
การบำรุงมารดา ๑ การบำรุงบิดา ๑ การสงเคราะห์บุตร ภรรยา ๑ การงานอันไม่อากูล ๑
คาถาที่ ๔ มี ๔ มงคลอย่างนี้ ถ้าแยกบุตร ภรรยา เป็นบุตร ๑ ภรรยา ๑ คาถานี้จะมี ๕ มงคล
และถ้ารวมการบำรุงมารดา ๑ การบำรุงบิดา ๑ คาถานี้จะมีเพียง ๓ มงคล แต่ว่าคาถาที่ ๔ นี้ แสดงจำนวนของมงคลไว้ว่า คาถาที่ ๔ มี ๔ มงคล คือ การบำรุงมารดา ๑ การบำรุงบิดา ๑ การสงเสริมบุตรภรรยา ๑ การงานอันไม่อากูล ๑
สำหรับคาถาที่ ๕ มี ๔ มงคล คือ ทาน ๑ การประพฤติธรรม ๑ การสงเคราะห์ญาติ ๑ กรรมอันไม่มีโทษ ๑
คาถาที่ ๖ มี ๓ มงคล แม้เป็นฉบับภาษาต่างประเทศที่แยก การเว้นจากบาป ๑ การงดจากบาป ๑ แต่ไม่ตรงกับปรมัตถโชติกา ซึ่งข้อความในปรมัตถโชติกามีว่า
คาถาที่ ๖ มี ๓ มงคล คือ การเว้นจากบาป ๑ ความสำรวมจากการดื่มน้ำเมา ๑ ความไม่ประมาทในธรรมทั้งหลาย ๑
คาถาที่ ๗ มี ๕ มงคล คือ ความเคารพ ๑ ความประพฤติถ่อมตน ๑ ความสันโดษ ๑ ความกตัญญู ๑ การฟังธรรมโดยกาล ๑
คาถาที่ ๘ มี ๔ มงคล คือ ความอดทน ๑ ความเป็นผู้ว่าง่าย ๑ การได้เห็นสมณะ ๑ การได้สนทนาธรรมโดยกาล ๑
คาถาที่ ๙ มี ๔ มงคล คือ ความเพียร ๑ พรหมจรรย์ ๑ การเห็นอริยสัจ ๑ การกระทำนิพพานให้แจ้ง ๑
คาถาที่ ๑๐ มี ๔ มงคล คือ จิตไม่หวั่นไหวในโลกธรรม ๑ ไม่เศร้าโศก ๑ ปราศจากธุลี ๑ เป็นจิตเกษม ๑
ข้อความตอนท้ายมีว่า
พระผู้มีพระภาคตรัสมงคล ๓๘ ประการ ด้วยคาถา ๑๐ คาถา มี อเสวนา จ พาลานํ เป็นต้น บัดนี้เมื่อจะยกย่องมงคลเหล่านั้นที่พระองค์ตรัสแล้ว จึงได้ตรัสคาถาสุดท้ายว่า
เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายทำมงคลเช่นนี้แล้ว เป็นผู้ไม่ปราชัยในข้าศึกทุกหมู่เหล่า ย่อมถึงความสวัสดีในที่ทุกสถาน นี้เป็นอุดมมงคลของเทวดาและมนุษย์เหล่านั้น
เพราะฉะนั้น ก็แล้วแต่ท่านผู้ฟังจะพิจารณาธรรม จะสอบทานกับอรรถกถา จะแก้ไขหรือไม่แก้ไขสิ่งที่ท่านได้ยินได้ฟัง หรือที่ท่านเคยเข้าใจ แต่จะเห็นความละเอียดของพระธรรมวินัยว่า ท่านควรจะสอบทาน ตรวจสอบพระธรรมวินัย ทั้งพระไตรปิฎกและอรรถกถา แม้แต่ในเรื่องที่บางท่านอาจจะคิดว่าเล็กน้อย เช่น มงคลสูตร
ซึ่งใน มังคลัฏฐทีปนี ก็ได้อธิบายเรื่องมงคล ๓๘ ไว้
ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...