สติระลึกที่ความตายให้เกิดกุศลจิตตั้งมั่นอย่างไร

 
lokiya
วันที่  31 ต.ค. 2565
หมายเลข  44942
อ่าน  419

ระลึกอย่างไรจึงชื่อว่าเป็น มรณานุสติครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 31 ต.ค. 2565

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ควรจะได้เข้าใจว่า มรณานุสสติ คืออะไร? มรณานุสสติ หมายถึง สติที่ระลึกถึงความตายบ่อยๆ, สติอันปรารภความตายเกิดขึ้นบ่อยๆ ตามข้อความจากขุททกนิกาย มหานิทเทส ว่า สตินั่นแหละ ชื่อว่า อนุสสติ เพราะเกิดขึ้นบ่อยๆ, อนุสสติที่เกิดขึ้นปรารภความตาย ชื่อว่า มรณานุสสติ คำว่า มรณานุสสตินี้ เป็นชื่อของสติที่มีความตาย กล่าวคือ ความแตกแห่งชีวิตินทรีย์ที่นับเนื่องในภพหนึ่ง เป็นอารมณ์

จะเห็นได้ว่า บุคคลผู้ที่มีปกติเจริญมรณานุสสติ คือ ระลึกว่าตนเองจะต้องตาย ไม่วันใดก็วันหนึ่ง ย่อมไม่ประมาทในการเจริญกุศลทุกประการ ทั้งในเรื่องของทาน การให้สิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น ในเรื่องศีล การวิรัติงดเว้นจากทุจริตกรรมทั้งหลาย และน้อมประพฤติในสิ่งที่สมควร และการอบรมเจริญปัญญา สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกจากการฟังพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง และ ผู้เจริญมรณานุสสติ ย่อมเป็นผู้ละความมัวเมาในชีวิต ได้ ขณะนั้น ย่อมเป็นกุศล เป็นสภาพธรรมที่ดีงามเกิดขึ้น สงบจากอกุศล

ก่อนที่จะมาเกิดในชาตินี้ก็ไม่ทราบว่ามาจากไหน คือ ไม่ทราบว่าก่อนที่จะมาเกิดเป็นมนุษย์นี้ ชาติก่อนเกิดเป็นอะไร, ต่อจากนั้น จะไปไหน ก็ยังไม่ทราบ คือ เมื่อละจากโลกนี้ไปแล้ว จะไปเกิดในที่ใด ภพภูมิใด ไม่สามารถจะทราบได้ เพราะขึ้นอยู่กับกรรมที่ได้กระทำแล้วเป็นสำคัญ ว่ากรรมใดจะให้ผลนำเกิด เป็นไปตามเหตุปัจจัย, ที่แน่ๆ ย่อมทราบว่าจะต้องตายอย่างแน่นอน แต่ก็ไม่ทราบ ว่า จะตายตอนไหน กล่าวคือ จะตายตอนเช้า ตอนสาย ตอนบ่าย ตอนค่ำ ตอนกลางคืน ก็ไม่สามารถจะทราบได้

ในเมื่อทุกคนต้องตายอย่างแน่นอน จึงควรพิจารณาอยู่เสมอว่า ก่อนที่วันนั้นจะมาถึง เราควรทำอะไรบ้าง ซึ่งจะเป็นที่พึ่งสำหรับตนเองอย่างแท้จิรง สิ่งที่ควรทำในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ คือ ทำดีและศึกษาพระธรรมให้เข้าใจ ครับ



คำบรรยายของอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ในเรื่องการระลึกถึงความตาย มีดังนี้ (เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง)

การคิดถึงความตายจะทำให้ละมานะ (ความสำคัญตน) ได้ไหม? ภพนี้ ชาตินี้ อาจจะเป็นผู้ที่เพียบพร้อมด้วยชาติ สกุล โภคสมบัติ รูปสมบัติ วิชาความรู้ บริวารสมบัติ ทุกสิ่งทุกประการ แต่ว่าภพหน้า ชาติหน้า จะเป็นใคร ยังจะมีรูปสวย รูปงาม มีทรัพย์สมบัติมาก เกิดในสกุลที่พรั่งพร้อมด้วยทรัพย์สมบัติ ลาภ ยศ ข้าทาสบริวาร หรือเปล่า? อาจจะตรงกันข้ามเลยก็ได้ เพราะฉะนั้น การที่ระลึกถึงความตาย เห็นความไม่เที่ยง ก็ย่อมจะทำให้ท่านละคลายแม้ความติดในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ (สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย) ในสมบัติของท่าน ซึ่งเคยถือว่า เป็นของเรา และนอกจากนั้นก็ยังทำให้เกิดละคลายมานะ การถือตน การสำคัญตน หรือความผูกพันในสัตว์ ในบุคคล ซึ่งเป็นที่รัก ในสังขาร (สิ่งที่เกิดเพราะปัจจัยปรุงแต่ง) ที่เป็นที่รักได้ จึงจะเป็นกุศล

ถ้าท่านผู้ใดกำลังโกรธ ระลึกถึงความตายแล้ว เป็นกุศล เป็นอย่างไร? ยังโกรธต่อไป ผูกโกรธไว้ พยาบาท หรือว่าเมื่อระลึกถึงความตายแล้ว กุศลจิตเกิดจะเป็นอย่างไร? ละความโกรธได้ ไม่มีประโยชน์ที่จะเอาความโกรธติดตามไปในภพต่อไปด้วย ความโกรธมีประโยชน์อะไร? แต่เพราะไม่ได้ระลึกถึงความตาย ก็มีความโกรธ เดี๋ยวโกรธอย่างนั้น เดี๋ยวโกรธอย่างนี้ เดี๋ยวโกรธเรื่องนั้น เดี๋ยวโกรธเรื่องนี้ แล้วก็ผูกโกรธจนกระทั่งเป็นความพยาบาท เพราะไม่ได้ระลึกถึงความตาย แต่ถ้าระลึกถึงความตาย ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นเดี๋ยวนี้ จะละความโกรธได้ เพราะรู้จริงๆ ว่า ไม่มีประโยชน์ที่จะเอาความโกรธติดตามไปด้วย ควรที่จะละความโกรธ ความผูกโกรธ หรือความพยาบาท หรือความริษยา หรือความตระหนี่ ก็แล้วแต่ในขณะนั้น มีปัจจัยที่จะให้จิตน้อมไปพิจารณาสภาพธรรมอย่างไร แต่ไม่ใช่ว่าระลึกเฉยๆ แล้วก็กล่าวว่าเป็นกุศล โดยที่ไม่มีการละคลายอะไรเลย แต่เมื่อระลึกแล้วเป็นกุศล ก็จะต้องมีการละคลายโลภะ โทสะ โมหะ อิสสา (ริษยา) พยาบาท มานะ แล้วแต่ว่าขณะนั้นท่านกำลังเป็นอกุศลอย่างไร และการระลึกถึงความตาย เป็นปัจจัยที่จะทำให้ละอกุศลนั้น ในขณะนั้น



...ยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
chatchai.k
วันที่ 31 ต.ค. 2565

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
lokiya
วันที่ 1 พ.ย. 2565

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
worrasak
วันที่ 2 พ.ย. 2565

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
puttara2424
วันที่ 3 พ.ย. 2565

กราบอนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
เฉลิมพร
วันที่ 4 พ.ย. 2565

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ