ฆฏิการะช่างหม้อไม่บวช เพราะต้องเลี้ยงมารดาบิดาที่ตาบอด

 
chatchai.k
วันที่  1 พ.ย. 2565
หมายเลข  44951
อ่าน  153

ปปัญจสูทนี อรรถกถา มีข้อความว่า

ฆฏิการะช่างหม้อ เผาภาชนะ และจัดแจงไว้แล้วในบ้าน ตัวเองก็เข้าป่า หาไม้ ท่านไม่ได้ขายภาชนะของท่านเอง ก่อนที่จะเข้าป่า ท่านก็หุงหาอาหาร จัดทุกอย่างให้มารดาบิดาบริโภคแล้ว ตัวท่านเองก็บริโภคแล้ว นอกจากนั้น ก็ยังจัดภัตตะ สูปะ คือ ข้าว กับข้าว อาหารอย่างดีไว้เพื่อพระผู้มีพระภาคผู้ทรงพระนามว่ากัสสปะ ท่านปูอาสนะไว้พร้อม จัดน้ำไว้ ให้สัญญาแก่มารดาบิดา แล้วก็เข้าป่าไป

ชีวิตปกติไหม เจริญสติปัฏฐานได้ไหม บรรลุคุณธรรมเป็นถึงพระอนาคามี บุคคลได้ไหม จำกัดอะไรหรือเปล่าว่า จะต้องเปลี่ยนชีวิตไปเป็นอีกแบบหนึ่งอย่างบรรพชิต ไม่ทำกิจการงานอะไร ถ้าเป็นอย่างนั้นก็เข้าใจไม่ถูก

ส่วนชาวบ้านที่จะซื้อภาชนะของท่านนั้น ก็เอาเงินบ้าง ข้าวสารบ้าง ทรัพย์สมบัติต่างๆ บ้างมา ถ้าเห็นว่าภาชนะที่ท่านจัดวางไว้นั้นเป็นของที่มีค่ามาก แต่ว่านำเงินมาน้อย ก็กล่าวกะมารดาบิดาของท่านว่า ข้าพเจ้าจะให้สิ่งนี้ๆ แล้วจะถือเอา

หมายความว่า ไม่เอาไปทันที เมื่อเห็นว่าเป็นของที่มีค่ามาก ก็กล่าวว่า จะให้เท่านั้นเท่านี้ และกลับไปเอาเงินมาเพิ่ม นี่เป็นวิธีขายสิ่งที่ท่านมีเพื่อเลี้ยงมารดาบิดา

แต่ถ้าของที่มีนั้นเป็นของที่มีราคาไม่มาก และไม่ต้องการจะซื้อ ชาวบ้านนั้นก็จัดหรือเก็บไว้ให้ดี เหมือนกับเป็นเจ้าของบ้าน แล้วก็กลับไป ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะเหตุว่า ชาวบ้านทั้งหลายคิดว่า ฆฏิการะช่างหม้อเป็นพ่อค้าผู้ทรงธรรม บำรุงมารดาบิดา อุปัฏฐากพระผู้มีพระภาค เพราะฉะนั้น ก็ไม่ควรที่จะเอาเปรียบท่าน ทั้งๆ ที่มารดาบิดาตาบอด แล้วก็มีภาชนะวางอยู่ แต่ว่าชาวบ้านก็ไม่เอาเปรียบ เห็นแก่ได้ แต่ว่าซื้อของด้วยราคาที่สมควร

เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงพระนามว่ากัสสปะได้ตรัสเล่าให้พระเจ้ากิกิฟังว่า พระองค์ทรงรับนิมนต์ของฆฏิการะช่างหม้อ เรื่องที่จะจำพรรษาอยู่ที่นิคมของฆฏิการะช่างหม้อแล้ว พระเจ้ากิกิก็ตรัสถามว่า

ช่างหม้อมีคุณถึงปานนี้ ทำไมไม่บวช

ซึ่งในพระไตรปิฎกก็มีข้อความแสดงไว้แล้วว่า ที่ฆฏิการะช่างหม้อไม่บวช ก็เพราะเหตุว่าจะต้องเลี้ยงมารดาบิดาที่ตาบอด

เมื่อพระเจ้ากิกิทรงทราบว่า พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์ของฆฏิการะช่างหม้อ ก็ได้ส่งเกวียนบรรทุกข้าวสาร ข้าวปัณฑุมุฑิกะสาลี ประมาณ ๕๐๐ เล่ม และเครื่องแกงอันสมควรแก่ข้าวสารนั้น ไปพระราชทานแก่ฆฏิการะช่างหม้อ ซึ่งฆฏิการะช่างหม้อ ก็ได้กล่าวตอบกับราชบุรุษผู้นำของนั้นไปให้ว่า พระราชามีพระราชกิจมาก มีพระราชกรณียมาก ของที่พระราชทานมานี้ อย่าเป็นของข้าพเจ้าเลย จงเป็นของหลวงเถิด

ท่านไม่รับ ท่านไม่ใช่เป็นผู้ที่ยินดีต้องการ มีความโลภ ความปรารถนา ความติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏัฐพพะ เพราะเหตุว่าท่านเป็นพระอนาคามีบุคคล

และสิ่งของที่พระเจ้ากิกิทรงส่งไปพระราชทานนั้น เป็นของที่มาก เป็นภาระ หนัก เป็นงานหนัก เพราะฉะนั้น สมควรที่จะเป็นของหลวง ไม่สมควรแก่ท่านที่จะจัดทำภารกิจอันหนักนั้น


ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...

แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 189


เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ