ลักษณะของจิตที่เป็นโมหมูลจิตโดยส่วนเดียวมีอาการต่างๆ เป็นอย่างไร
จากการศึกษาทราบว่า ขณะที่จิตขึ้นวิถีไม่เป็นภวังค์ มีผัสสะกระทบอารมณ์ ในชีวิตประจำวันที่ตื่น จิตจะแล่นไปในอารมณ์ โลภะ โทสะ โมหะตลอด
ขณะที่เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส กระทบสัมผัส คิดนึก ชวนจิตจะต้องเป็นโลภะ โทสะ โมหะตลอด ลักษณะของโลภะ โทสะ ยังพอทราบลักษณะได้ ซึ่งต้องมีโมหเจตสิกประกอบร่วมด้วยเสมอ
ขอได้โปรดแสดงโดยละเอียดถึงลักษณะอาการต่างๆ ของบุคคลที่เป็นลักษณะของโมหมูลจิตให้ทราบหลายๆ ประเภทด้วยด้วยครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียดอย่างยิ่ง ชีวิตประจำวัน ไม่ได้มีเฉพาะอกุศลจิต ตลอด ยังมีจิตขณะอื่นด้วย ที่เป็นกุศลก็มี ที่มีวิบากก็มี ที่เป็นกิริยาก็มี แต่ที่เกิดมากก็คืออกุศลจิต ถ้าไม่เป็นโลภมูลจิต (จิตที่มีโลภะเป็นมูล) โทสมูลจิต (จิตที่มีโทสะเป็นมูล) ก็เป็นโมหมูลจิต (จิตที่มีโมหะเป็นมูล)
โมหมูลจิต มี ๒ ดวง คือ มีวิจิกิจฉา ความสงสัยเกิดร่วมด้วย และ มี อุทธัจจะ ความฟุ้งซ่านไม่สงบ เกิดร่วมด้วย
ขณะที่มีความสงสัยในสภาพธรรม ขณะที่ไม่รู้ความจริงของสิ่งที่กำลังปรากฏ นั่นแหละคือ ตัวอย่างของโมหมูลจิต
คำบรรยายของอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ มีดังนี้
โมหมูลจิตต่างกันเป็น ๒ ดวง คือ ดวงหนึ่งเป็นวิจิกิจฉาสัมปยุตต์เกิดร่วมกับวิจิกิจฉาเจตสิก ซึ่งสงสัยในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ขันธ์ ธาตุอดีต ปัจจุบัน อนาคต เป็นต้น อีกดวงหนึ่งเป็น อุทธัจจสัมปยุตต์ โมหเจตสิก เป็นเจตสิกที่ไม่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง แม้ว่ากำลังเผชิญหน้ากับอารมณ์ ก็ไม่สามารถรู้ลักษณะที่แท้จริงของอารมณ์ที่ปรากฏได้ เช่น ในขณะที่กำลังเห็นนี้ ไม่รู้ว่าสิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่ง เมื่อไม่รู้ก็สงสัยว่าลักษณะของสภาพธรรมที่เพียงปรากฏทางตานั้นต่างกับที่เคยเข้าใจว่าสิ่งที่เห็นเป็นคนหรือเป็นวัตถุสิ่งของอย่างไร ขณะใดที่สงสัยขณะนั้นเป็นโมหมูลจิตวิจิกิจฉาสัมปยุตต์ แต่ก็ไม่ใช่ว่าความสงสัยจะเกิดตลอดเวลาขณะใดที่สงสัยในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ และในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏขณะนั้นเป็นโมหมูลจิตที่เกิดร่วมกับวิกิจฉาเจตสิก
โดยปกติเมื่อเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกายแล้ว ถ้าขณะนั้นจิตที่เกิดต่อไม่เป็นกุศลจิตหรืออกุศลจิตประเภทอื่นๆ ก็เป็นโมหมูลจิตอุทธัจจสัมปยุตต์ เพราะว่าขณะนั้นไม่ได้มีความสงสัยเกิดร่วมด้วย ไม่มีโลภเจตสิกเกิดร่วมด้วย ไม่มีโทสเจตสิกเกิดร่วมด้วย ฉะนั้น จึงรู้ลักษณะของโมหมูลจิตอุทธัจจสัมปยุตต์ได้ว่า ขณะใดที่หลงลืมสติ ขณะนั้นกำลังไม่รู้ในสภาพของอารมณ์ที่ปรากฏ และขณะที่เป็นอกุศลจิตที่ไม่เกิดร่วมกับโลภเจตสิกหรือโทสเจตสิกและวิจิกิจฉาเจตสิก อกุศลจิตขณะนั้นก็เป็นโมหมูลจิตอุทธัจจสัมปยุตต์
...ยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ....