ธรรม ๗ ประการ เป็นไปเพื่อความเสื่อมแก่อุบาสก (194)
อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต หานิสูตร มีข้อความที่พระผู้มีพระภาคตรัสเตือนพุทธบริษัทว่า
ธรรม ๗ ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความเสื่อมแก่อุบาสก คือ อุบาสกใดขาดการเยี่ยมเยือนภิกษุผู้อบรมตน ๑ ละเลยการฟังธรรม ๑ ไม่ศึกษาในอธิศีล ๑ มีความไม่เลื่อมใสเจริญยิ่งๆ ขึ้นไปในภิกษุทั้งหลาย ๑ ตั้งจิตติเตียนปรารถนาฟังสัทธรรม ๑ แสวงหาเขตบุญอื่นภายนอกศาสนานี้ ๑ แล้วกระทำสักการะก่อนในเขตบุญภายนอกศาสนานี้ ๑ อุบาสกนั้นส้องเสพธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งความเสื่อม อันเราแสดงแล้ว ๗ ประการนี้แล ย่อมเสื่อมจากสัทธรรม
อุบาสกใดไม่ขาดการเยี่ยมเยียนภิกษุผู้อบรมตน ๑ ไม่ละเลยการฟังอริยธรรม ๑ ศึกษาอยู่ในอธิศีล ๑ มีความเลื่อมใสเจริญยิ่งๆ ขึ้นไปในภิกษุทั้งหลาย ๑ ไม่ตั้งจิตติเตียนปรารถนาฟังสัทธรรม ๑ ไม่แสวงหาเขตบุญอื่นภายนอกศาสนานี้ ๑ แล้วกระทำสักการะก่อนในเขตบุญในศาสนานี้ ๑ อุบาสกนั้นส้องเสพธรรมอันไม่เป็นที่ตั้งแห่งความเสื่อม อันเราแสดงดีแล้ว ๗ ประการนี้แล ย่อมไม่เลื่อมจากสัทธรรม
สำหรับคุณธรรมของผู้ที่จะเจริญในพระสัทธรรมยิ่งขึ้นไป ๗ ประการ
ประการที่ ๑ อุบาสกใดขาดการเยี่ยมเยียนภิกษุผู้อบรมตน
ความหมายทั่วๆ ไปของคำว่า ภิกษุ ใน สัมโมหวิโนทนี สติปัฏฐานวิภังค์ มีข้อความว่า
คำว่า อิท ภิกฺขุ นี้
พระผู้มีพระภาคประทับนั่งในเทวโลก ตรัสสติปัฏฐานวิภังค์นี้ ทรงแสดง พระอภิธรรมที่ดาวดึงส์เทวโลก แม้ภิกษุรูปเดียวผู้นั่งในสำนักของพระผู้มีพระภาคใน เทวโลกนั้นไม่มี ( สวรรค์ไม่มีพระภิกษุ แต่พระผู้มีพระภาคก็ยังตรัสว่า อิทภิกฺขุ ) เมื่อเป็นเช่นนี้ เพราะเหตุที่ภิกษุทั้งหลายย่อมเจริญสติปัฏฐานทั้ง ๔ เหล่านี้อยู่ สติปัฏฐานเหล่านั้นจึงเป็นโคจรแห่งภิกษุ คือ เป็นภิกฺขุโคจร
ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสเรียกว่า อิทภิกฺขุ ดังนี้
เป็นของธรรมดาสำหรับผู้ที่เป็นพระภิกษุที่ท่านบรรพชาอุปสมบท ละอาคารบ้านเรือน ก็เพื่อเจริญข้อประพฤติปฏิบัติ เพื่อให้รู้แจ้งอริยสัจธรรม ซึ่งก็ย่อมจะต้องเจริญสติปัฏฐานทั้ง ๔
ถามว่า ก็พวกภิกษุเท่านั้นหรือเจริญสติปัฏฐานเหล่านี้ คนอื่นมีภิกษุณี เป็นต้น เจริญไม่ได้หรือ
แก้ว่า ถึงคนเหล่าอื่นมีภิกษุณี เป็นต้น ก็เจริญได้ แต่ว่าพวกภิกษุเป็นบริษัทที่เลิศ คือ เป็นอัคปาริสา พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกว่า อิทภิกฺขุ ดังนี้ เพราะการที่ภิกษุเป็นบริษัทชั้นเลิศด้วยประการฉะนี้
อีกอย่างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนั้น เพราะทรงแสดงความเป็นภิกษุด้วยข้อปฏิบัติ จริงอยู่ผู้ใดดำเนินตามข้อปฏิบัตินี้ ผู้นั้นก็ชื่อว่าภิกษุ ด้วยว่าผู้ปฏิบัติดำเนิน จะเป็นเทพหรือมนุษย์ก็ตามที ถึงการนับว่าเป็นภิกษุทั้งนั้น
เหมือนอย่างที่ตรัสไว้ว่า แม้ถ้าว่าบุคคลใด ผู้ประดับตกแต่งแล้ว ผู้สงบ ผู้ฝึกแล้ว ผู้เที่ยงแท้ ผู้ประพฤติพรหมจรรย์ ผู้วางท่อนไม้ในสัตว์ทั้งปวง พึงประพฤติสม่ำเสมอไซร้ ผู้นั้นเป็นพราหมณ์ ผู้นั้นเป็นสมณะ ผู้นั้นเป็นภิกษุ
เพราะฉะนั้น ข้อความใน หานิสูตร ที่ว่า พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ธรรม ๗ ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความเสื่อมแก่อุบาสก คือ อุบาสกใดขาดการเยี่ยมเยียนภิกษุผู้อบรมตน ย่อมหมายความถึงผู้ที่เจริญมรรคมีองค์ ๘
สำหรับประการที่ ๒ คือ อุบาสกนั้นละเลยการฟังธรรม
ประการที่ ๓ ไม่ศึกษาในอธิศีล
ประการที่ ๔ มีความไม่เลื่อมใสเจริญยิ่งๆ ขึ้นไปในภิกษุทั้งหลาย
ประการที่ ๕ ตั้งจิตติเตียนปรารถนาฟังสัทธรรม
ประการที่ ๖ แสวงหาเขตบุญอื่นภายนอกศาสนานี้
ประการที่ ๗ กระทำสักการะก่อนในเขตบุญภายนอกศาสนานี้
ท่านที่ไม่ค่อยเห็นอันตราย ไม่เห็นโทษของการแสวงหาเขตบุญอื่นภายนอกศาสนา หรือว่าการกระทำสักการะก่อนในเขตบุญภายนอกศาสนา เพราะเหตุว่าท่านยังไม่หยั่งถึงความสำคัญของเหตุปัจจัยที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้แล้วได้ทรงแสดงไว้ว่า เป็นสิ่งซึ่งมีความสำคัญ เพราะว่าเป็นการแสดงถึงความโน้มเอียงไปในการเห็นผิด
ถ้าท่านแสวงหาเขตบุญอื่นภายนอกศาสนานี้ เพราะอะไรถึงได้แสวงหาเขตบุญอื่นภายนอกศาสนานี้ ในเมื่อพระศาสนานี้ก็มี แต่ท่านก็ยังแสวงหาเขตบุญอื่นภายนอกศาสนานี้ ทราบไหมว่าเพราะอะไร
ก็เพราะว่า ท่านยังไม่มีความเลื่อมใสศรัทธามั่นคงจริงๆ ในพระธรรม ในข้อประพฤติปฏิบัติที่จะให้รู้แจ้งอริยสัจธรรม ท่านก็ย่อมโน้มเอียงที่จะแสวงหาเขตบุญอื่นภายนอกศาสนานี้ นอกจากท่านจะแสวงหาเขตบุญอื่นภายนอกศาสนานี้แล้ว ยังกระทำสักการะก่อนในเขตบุญภายนอกศาสนานี้ การกระทำเป็นเครื่องพิสูจน์คำพูด ความรู้สึก หรือว่าความคิดเห็น ถ้าท่านยังมีการกระทำสักการะก่อนในเขตบุญภายนอกศาสนานี้ แสดงว่าท่านขาดความเลื่อมใส ความศรัทธา ความมั่นคงในข้อปฏิบัติของพระศาสนานี้นั่นเอง
ทุกอย่างเป็นเครื่องพิสูจน์ เป็นเครื่องแสดงออกของสภาพของจิตในขณะนั้นว่าจิตในขณะนั้นเป็นอย่างไรจึงกระทำอย่างนั้น จะเสื่อม หรือจะเจริญก็อยู่ที่แต่ละท่าน ถ้าท่านประกอบด้วยธรรมที่จะทำให้เจริญยิ่งขึ้น ๗ ประการ ท่านก็เจริญยิ่งขึ้น แต่ถ้าไม่ประกอบด้วยธรรม ๗ ประการนี้ ก็เสื่อม เพราะฉะนั้น สำคัญไหมสำหรับการส่งเสริมสัมมาทิฏฐิ เพราะถ้าไม่เลือก ก็จะเป็นการส่งเสริมมิจฉาทิฏฐิได้
ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...