จิตเป็นกุศล เป็นปัจจัยให้กุศลวิบากเกิดขึ้น (199)
ข้อความต่อไปในพระสูตรมีว่า
ในลำดับนั้นแล เทวดาอื่นอีก ได้กล่าวคาถาทั้งหลายนี้ในสำนักพระผู้มีพระภาคว่า
คนตระหนี่กลัวภัยใด ย่อมให้ทานไม่ได้ ภัยนั้นนั่นแล ย่อมมีแก่คนตระหนี่ ผู้ไม่ให้ทาน
คนตระหนี่ย่อมกลัวความหิวและความกระหายใด ความหิวและความกระหายนั้น ย่อมถูกต้องคนตระหนี่นั้นนั่นแล ผู้เป็นพาลทั้งในโลกนี้และในโลกหน้า ฉะนั้น
เรื่องของจิต มีทั้งจิตที่เป็นเหตุที่ทำให้เกิดวิบาก คือ จิตที่เป็นผล เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นจิตที่ดีงามก็ย่อมให้ผล คือ วิบากจิตที่ดี ถ้าเป็นจิตที่ไม่ดี เป็นอกุศลจิต ก็ย่อมทำให้เกิดอกุศลวิบากจิต เป็นผลที่ไม่ดี เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นผู้ที่มีจิตใจตระหนี่ ไม่ยอมที่จะสละให้คนอื่นได้รับประโยชน์สุขจากวัตถุที่ตนมี ผลคือ ความหิวและความกระหายนั้น ก็ย่อมถูกต้องผู้ที่ตระหนี่ ผู้ที่ไม่ให้ทานนั่นเอง
ถ้าจิตเป็นกุศลก็เป็นปัจจัยให้กุศลวิบากเกิดขึ้น รับผลของกุศลกรรมทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย แต่ถ้าเป็นผลของอกุศลจิต เป็นผลของอกุศลกรรม อกุศลวิบากก็เกิดขึ้นรับผลทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายเหมือนกัน
ทุกท่านคงจะสังเกตว่า ท่านรับผลของกรรมทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ทางจมูกบ้าง ทางลิ้นบ้าง ทางกายบ้าง บางทีตัวท่านเองไม่ได้เจ็บไข้ได้ป่วย แต่มีเรื่องที่จะต้องทำให้ท่านลำบาก โดยที่ไม่ต้องเจ็บไข้ได้ป่วยเลย ความลำบาก ความไม่แช่มชื่น การรับผลของอกุศลกรรม จะเป็นทางตาก็ได้ ทางหูก็ได้ จมูกก็ได้ ลิ้นก็ได้ กายก็ได้ จะมากหรือจะน้อยนั้นก็ย่อมแล้วแต่เหตุ แต่ถ้าท่านเป็นคนที่ตระหนี่มาก ผลก็คือว่า ความหิวและความกระหายนั้น ย่อมถูกต้องคนตระหนี่นั้นนั่นแล
ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...