[คำที่ ๕๘๖] ทุกฺขธมฺม

 
Sudhipong.U
วันที่  22 พ.ย. 2565
หมายเลข  45181
อ่าน  497

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “ทุกฺขธมฺม”

โดย อ.คำปั่น อักษรวิลัย

ทุกฺขธมฺม อ่านตามภาษาบาลีว่า ทุก - ขะ - ดำ - มะ มาจากคำว่า ทุกฺข (ทนอยู่ไม่ได้, ทุกข์) กับคำว่า ธมฺม (สิ่งที่มีจริง, ธรรม) รวมกันเป็น ทุกฺขธมฺม เขียนเป็นไทยได้ว่า ทุกขธรรม หมายถึง ธรรมที่เป็นทุกข์ ซึ่งก็คือ สิ่งที่มีจริงที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย เมื่อเกิดแล้ว ไม่มีแม้แต่อย่างเดียวที่จะดำรงคงอยู่นาน เพราะเกิดแล้วก็ดับไป สิ่งที่มีจริงที่เป็นทุกข์ ไม่พ้นจากขันธ์ ๕ เพราะแต่ละหนึ่งๆ เกิดแล้วก็ดับไปทั้งนั้น

ตามข้อความในพระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค ทุกขธรรมสูตร ดังนี้

ท่านพระราธะนั่ง ณ ที่สมควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้ทูลถามคำนี้กะพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ที่เรียกว่า ทุกขธรรม ทุกขธรรม ดังนี้ อะไรหนอเป็นทุกขธรรม?

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า ดูกร ราธะ รูปเป็นทุกขธรรม เวทนาเป็นทุกขธรรม สัญญาเป็นทุกขธรรม สังขารเป็นทุกขธรรม วิญญาณเป็นทุกขธรรม


พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญพระบารมีมาตลอดระยะเวลาที่ยาวนานถึงสี่อสงไขยแสนกัปป์เมื่อครั้งที่ทรงเป็นพระโพธิสัตว์ก็เพื่อที่จะทรงตรัสรู้ คือรู้อย่างแจ่มแจ้งซึ่งสภาพธรรมที่มีจริงด้วยพระองค์เอง โดยไม่มีใครเป็นครูเป็นอาจารย์ เมื่อพระองค์ได้ทรงตรัสรู้แล้ว ทรงมีพระมหากรุณา แสดงสิ่งที่พระองค์ได้ตรัสรู้ให้สัตว์โลกได้เข้าใจถูกเห็นถูกตามพระองค์ ซึ่งมีผู้ที่ได้รับประโยชน์จากพระธรรมที่พระองค์ทรงแสดงมากมายนับไม่ถ้วน ตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์ พระองค์ทรงให้ประโยชน์กับคนอื่นจากแต่ละคำของพระองค์ ถึงแม้ว่าบุคคลผู้นั้นจะอยู่แสนไกลหรือแม้กระทั่งช่วงเวลาที่พระองค์ใกล้จะเสด็จดับขันธปรินิพพาน ก็ไม่ทรงละเว้นโอกาสที่จะให้คนอื่นได้รับสิ่งที่จะเป็นประโยชน์แก่เขาต่อไปในสังสารวัฏฏ์

พระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่มีล้าสมัย เป็นประโยชน์ทุกเมื่อ ประโยชน์ที่พระองค์ทรงมอบให้กับพุทธบริษัท ก็คือความเข้าใจซึ่งไม่เคยเข้าใจมาก่อนเลย จากการได้อาศัยคำจริงทุกคำที่พระองค์ทรงแสดง ถ้าหากกล่าวถึงการที่จะให้อะไรแก่ใคร ไม่ว่าจะเป็นเพชรนิลจินดาแก้วแหวนเงินทอง เสื้อผ้า และอาหาร เป็นต้น สิ่งเหล่านั้น ไม่ใช่ที่พึ่งที่แท้จริง และไม่ได้ติดตามไปในภพหน้าได้เลย แต่คำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทำให้คนเกิดความเข้าใจ ซึ่งความเข้าใจนั้นไม่หมด เพราะเหตุว่าสะสมสืบต่อไปจนกระทั่งสามารถรู้ความจริงจนถึงความเป็นพระอริยบุคคลตามลำดับขึ้นได้ จึงแสดงให้เห็นว่า ความเข้าใจเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ประเสริฐที่สุด มีค่าที่สุดในสังสารวัฏฏ์

ทุกคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นไปเพื่อความเข้าใจธรรมซึ่งเป็นสิ่งที่มีจริงอย่างถูกต้องตรงตามความเป็นจริง ไม่ว่าจะตรัสถึงคำใดก็ตาม รวมถึงคำว่าทุกขธรรมด้วย เมื่อกล่าวถึงทุกขธรรมแล้ว ไม่ได้มุ่งหมายถึงเพียงเฉพาะทุกข์ทางกายและทุกข์ทางใจเท่านั้น แต่หมายรวมถึงธรรมที่มีจริง ที่เกิดตามเหตุตามปัจจัยแล้วดับไปทั้งหมด ซึ่งก็คือ ขันธ์ ๕ ได้แก่ รูปขันธ์ (รูปทั้งหมด) ๑ เวทนาขันธ์ (ความรู้สึก) ๑ สัญญาขันธ์ (ความจำ) ๑ สังขารขันธ์ (ได้แก่ เจตสิกซึ่งเป็นสภาพธรรมที่เกิดประกอบพร้อมกับจิต ๕๐ ประเภท มี ผัสสะ เป็นต้น) ๑ วิญญาณขันธ์ (จิตทุกประเภท) ๑ แต่ละคำที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ก็เกื้อกูลให้เริ่มเข้าใจ ว่า สิ่งใดก็ตามที่มีจริงที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย ทั้งหมดเป็นขันธ์ เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็หมดไป ไม่ได้ยั่งยืนเลย ไม่เที่ยง เพราะต้องดับไป ยกตัวอย่างเช่น ในขณะนี้ สิ่งที่มีจริงๆ ทางตา สิ่งที่ปรากฏทางตาเกิดแล้วปรากฏ เมื่อมีสภาพรู้กำลังเห็นสิ่งนั้น จึงปรากฏว่าสิ่งนั้นมีจริงๆ แล้วก็ดับไป ไม่กลับมาอีกเลย สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ต้องเกิดแน่นอนเพราะปรากฏว่ามีจริงๆ เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป และเห็นก็มีจริงๆ เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป จึงประมวลได้ว่า ในขณะที่เห็น มีอะไรบ้างที่เป็นขันธ์ กล่าวคือ สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นรูปขันธ์ และเห็นซึ่งเป็นจิตประเภทหนึ่ง ก็เป็นวิญญาณขันธ์ และในขณะที่เห็นเกิดขึ้น ก็มีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ได้แก่ สัญญาเจตสิกเป็นสัญญาขันธ์ เวทนาเจตสิกเป็นเวทนาขันธ์ เจตสิกอีก ๕ ที่เกิดร่วมกับจิตเห็น คือ ผัสสะ (สภาพที่กระทบอารมณ์) เจตนา (สภาพที่จงใจขวนขวาย) เอกัคคตา (สภาพที่ตั้งมั่นในอารมณ์) ชีวิตินทรีย์ (สภาพที่เกิดขึ้นทำให้จิตและเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยดำรงอยู่จนกว่าจะดับไป) และ มนสิการะ (สภาพที่ใส่ใจในอารมณ์) ก็เป็นสังขารขันธ์ ล้วนเป็นสภาพธรรมที่มีจริงแต่ละหนึ่งๆ ที่เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน นี้คือการยกตัวอย่างให้เข้าใจถึงความเป็นขันธ์ ซึ่งเป็นทุกขธรรมทั้งหมด ไม่พ้นไปจากขณะนี้เลย

ไม่มีใครทำอะไรให้เกิดขึ้นได้ แต่ธรรมเกิดแล้ว มีแล้วในขณะนี้จากที่ไม่มี แล้วเกิดมีเพราะเหตุปัจจัย แล้วก็ดับไปไม่มีอะไรเหลือ ไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน ธรรมแต่ละหนึ่ง สั้นแสนสั้น ควรหรือที่จะหลงติดข้องหลงยึดถือในสิ่งที่ไม่มี เพราะเพียงเกิดแล้วก็ดับไป ดำรงคงอยู่อย่างนั้นไม่ได้? ธรรมเป็นสิ่งที่ควรศึกษาอย่างยิ่ง และเป็นสิ่งที่มีจริงๆ ทุกขณะในชีวิตประจำวันโดยไม่ต้องไปแสวงหาที่ไหน

พระธรรมคำสอนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลสำหรับผู้ที่ได้ฟัง ได้ศึกษาเป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูก อย่างแท้จริง จากที่ไม่รู้มาก่อน ก็จะค่อยๆ เข้าใจขึ้น เพราะสิ่งที่จะเข้าใจนั้น มีจริงในขณะนี้ มีจริงทุกๆ ขณะของชีวิต และสามารถเข้าใจจนถึงที่สุด คือ เข้าใจว่าเป็นแต่เพียงธรรมแต่ละหนึ่งๆ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใด ทั้งหมดทั้งปวงนั้นจะขาดการฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมเป็นปกติในชีวิตประจำวันไม่ได้เลยทีเดียว ซึ่งจะเป็นโอกาสทำให้ความเข้าใจถูกเห็นถูกค่อยๆ เจริญขึ้น สะสมเป็นที่พึ่งต่อไป


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
nui_sudto55
วันที่ 26 มี.ค. 2567

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ