พราหมณ์มหาศาลผู้หนึ่งถูกภรรยาและบุตร ๔ คนไล่ออกจากบ้าน

 
chatchai.k
วันที่  24 พ.ย. 2565
หมายเลข  45197
อ่าน  162

ขอกล่าวถึงชีวิตของพราหมณ์ผู้หนึ่งในอดีต ในครั้งพระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน ซึ่งท่านต้องได้รับโลกธรรมเหมือนกับชีวิตของทุกท่านในขณะนี้ แต่ว่าจะได้รับโลกธรรมในลักษณะใด ก็ต่างกันไปตามกรรม

สังยุตตนิกาย สคาถวรรค พราหมณสังยุตต์ อุปาสกวรรคที่ ๒ มหาศาล สูตรที่ ๔ มีข้อความว่า

พราหมณ์มหาศาลผู้หนึ่งถูกบุตร ๔ คนคบคิดกับภรรยา แล้วไล่ออกจากบ้าน

ขอให้คิดถึงจิตของผู้ที่เป็นบิดาซึ่งได้อุปการะเลี้ยงดูบุตรมา แต่เวลาที่ชราก็ได้ถูกบุตร ๔ คนคบคิดกับภรรยาขับไล่ออกจากบ้าน ชีวิตอย่างนี้มีไหมในสมัยนี้ มี

ถ้าท่านฟังเผินๆ แล้วผ่านไป ก็ไม่ได้รู้ซึ้งถึงสภาพของผู้ที่เป็นบิดาว่า ในขณะนั้นจะมีความโทมนัสเป็นอกุศลจิตสักเท่าไร ได้รับกระทบรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่ไม่น่าพอใจ มีความน้อยเนื้อต่ำใจ เมื่อไม่ได้รับการอุปการะตอบแทนจากบุตรที่ท่านได้อุปการะมา เป็นการได้รับทุกข์อย่างมากทีเดียว

พราหมณ์ผู้นี้ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงให้เรียนคาถา และให้กล่าวคาถานั้น เมื่อหมู่มหาชนประชุมกันที่สภาพร้อมกับพวกบุตร

ข้อความของคาถานั้นมีว่า

เราชื่นชมและปรารถนาความเจริญแห่งบุตรเหล่าใด บุตรเหล่านั้นคบคิดกับภรรยารุมว่าเราดังสุนัขรุมเห่าสุกร เขาว่าพวกมันเป็นอสัตบุรุษลามก ร้องเรียกเราว่าพ่อ พ่อ พวกมันประดุจยักษ์แปลงเป็นบุตร มาละทิ้งเราผู้ล่วงเข้าปัจฉิมวัยแล้ว พวกมันกำจัดคนแก่ ไม่มีสมบัติออกจากที่กิน ดังม้าแก่ที่เจ้าของปล่อยทิ้ง ฉะนั้น

บิดาของบุตรพาลเป็นผู้เฒ่า ต้องขอในเรือนผู้อื่น ได้ยินว่าไม้เท้าของเรายังจะดีกว่า พวกบุตรที่ไม่เชื่อฟังจะดีอะไร เพราะไม้เท้ายังป้องกันโค หรือสุนัขดุได้ ในที่มืดยังใช้ยันไปข้างหน้าได้ ในที่ลึกยังใช้หยั่งดูได้ พลาดแล้วยังยั้งอยู่ได้ด้วยอานุภาพไม้เท้า

ซึ่งเมื่อพราหมณ์นั้นได้กล่าวอย่างนั้นแล้ว พวกบุตรก็ได้นำพราหมณ์มหาศาลนั้นไปยังเรือน ให้อาบน้ำ แล้วให้นุ่งห่มผ้าคู่หนึ่งๆ ทุกๆ คน พราหมณ์มหาศาลนั้นถือผ้าคู่หนึ่งไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคยังที่ประทับ สนทนาปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า

ท่านพระโคดม ข้าพเจ้าชื่อว่าเป็นพราหมณ์ ย่อมแสวงหาทรัพย์สำหรับอาจารย์มาให้อาจารย์ ขอท่านพระโคดมผู้เป็นอาจารย์ของข้าพเจ้า จงรับส่วนของอาจารย์เถิด

พระผู้มีพระภาคทรงรับด้วยความอนุเคราะห์แล้ว ครั้งนั้นพราหมณ์มหาศาลผู้นั้นก็ขอถึงพระผู้มีพระภาคกับพระธรรมและพระภิกษุสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นไป

ท่านผู้ฟังจะสังเกตเห็นพยัญชนะที่ว่า พระผู้มีพระภาคทรงรับด้วยความอนุเคราะห์เสมอ ไม่ว่าผู้ใดจะนำไทยธรรมสิ่งใดมาถวายก็ตาม เพราะพระองค์ทรงทราบว่า กุศลจิตของบุคคลนั้นเกิดยาก เมื่อมีศรัทธา มีความเลื่อมใส มีไทยธรรมสิ่งใดมาถวาย ก็ทรงรับเพื่ออนุเคราะห์แก่กุศลจิตของบุคคลนั้น เพราะว่าในชีวิตวันหนึ่งๆ ทานมากหรือน้อย เกิดบ่อย หรือไม่บ่อย เกิดยาก หรือว่าเกิดง่าย เพราะฉะนั้น ขณะใดที่จิตของผู้ใดเป็นกุศล ก็ไม่ควรยับยั้งกุศลของผู้นั้น แล้วก็ควรที่จะให้กุศลนั้นเจริญบ่อยๆ เนืองๆ ไม่ว่าจะเป็นกุศลขั้นใดก็ตาม

สำหรับเรื่องของพราหมณ์ เป็นเรื่องที่แสดงให้เห็นว่า ส่วนมากบุคคลลืมคิดถึงวัยต้นในอดีต เวลานี้ท่านอาจจะเป็นผู้ที่สมบรูณ์ด้วยลาภ ด้วยยศ ด้วยสรรเสริญ ด้วยสุข สิ่งต่างๆ เหล่านี้มาจากไหน มาจากใคร ไม่ว่าจะอยากได้อะไร ใครเป็นผู้ให้ ใครเป็นผู้ทำให้บุตรสมความปรารถนา ไม่ว่าจะเป็นภายหลังที่จะได้ความรู้ ได้ลาภ ได้ยศ ได้สรรเสริญ ได้สุขนั้น ถ้าในปฐมวัย มารดาบิดาไม่ได้เกื้อกูล ไม่ได้อุปการะมา สิ่งต่างๆ เหล่านี้บุตรจะได้รับไหม ก็ไม่ได้รับ แต่ลืมคิดถึงอดีต ได้ความสุข ได้ทุกสิ่งทุกอย่างจากมารดาบิดา เวลาที่ท่านแก่ชราลง บุตรคนใดบ้างที่เคยทำให้ท่านได้รับความสุขเหมือนอย่างเมื่อครั้งที่ตนเป็นเด็ก อยากจะได้อะไรท่านหาให้ แล้วเวลาที่ท่านแก่ชราลง ท่านอยากจะได้อะไร สิ่งใด มีบุตรคนใดบ้างที่ให้สิ่งนั้นแก่มารดาบิดา ให้ทุกอย่างเหมือนอย่างครั้งที่ในอดีต ในปฐมวัย ที่บิดามารดาเคยให้

เพราะฉะนั้น ชีวิตของพราหมณ์มหาศาลผู้นี้ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งที่เตือนให้ท่านมีความประพฤติอย่างไร เจริญกุศลอย่างไรกับมารดาบิดาผู้มีอุปการคุณ ซึ่งพระธรรมจะเกื้อกูลให้ท่านได้เจริญกุศล คือ การตอบแทนแก่ผู้ที่เป็นมารดาบิดา


ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...

แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 204


เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ