ผู้ให้ของที่พอใจ ย่อมได้ของที่พอใจ

 
chatchai.k
วันที่  24 พ.ย. 2565
หมายเลข  45201
อ่าน  355

อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต มนาปทายีสูตร มีข้อความว่า

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน ใกล้เมือง เวสาลี ครั้งนั้นแล เป็นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงนุ่งแล้ว ทรงถือบาตรและจีวรเสด็จเข้าไปสู่นิเวศน์แห่งอุคคคฤหบดีชาวเมืองเวสาลี ประทับนั่งบนอาสนะที่เขาตบแต่งไว้ ครั้งนั้น อุคคคฤหบดีได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้สดับรับมาเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคว่า

ผู้ให้ของที่พอใจ ย่อมได้ของที่พอใจ ดังนี้ ก็ขาทนียาหารชื่อ สาลปุบผกะของข้าพระองค์เป็นที่พอใจ ขอพระผู้มีพระภาคทรงอาศัยความอนุเคราะห์รับขาทนียาหารของข้าพเจ้าเถิด

พระผู้มีพระภาคทรงอาศัยความอนุเคราะห์รับแล้ว

อุคคคฤหบดีกราบทูลต่อไปว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้สดับรับมาเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระ-ภาคว่า ผู้ให้ของที่พอใจ ย่อมได้ของที่พอใจ ดังนี้ ก็เนื้อสุกรอย่างดีของข้าพระองค์เป็นที่พอใจ ขอพระผู้มีพระภาคทรงอาศัยความอนุเคราะห์รับเนื้อสุกรอย่างดีของข้าพระองค์นั้นเถิด

พระผู้มีพระภาคทรงอาศัยความอนุเคราะห์รับแล้ว

ไม่ได้ขัดศรัทธาของบุคคลที่ให้สิ่งที่พอใจของตน เพราะเหตุว่าผู้ใดให้ของที่พอใจ ผู้นั้นย่อมได้ของที่พอใจ เคยสังเกตหรือเปล่าว่า ได้ของที่พอใจ หรือว่าของที่ไม่ค่อยจะพอใจ บางครั้งได้รับสิ่งที่ไม่ค่อยจะเป็นประโยชน์ บางครั้งก็ได้รับสิ่งที่กำลังต้องการและเป็นสิ่งที่ประณีตด้วย มีเหตุ มีปัจจัยทั้งสิ้นที่จะได้รับสิ่งใดซึ่งเป็นที่พอใจหรือว่าไม่เป็นที่พอใจ ย่อมขึ้นอยู่กับเหตุซึ่งเป็นปัจจัยทำให้วิบากจิตเกิดขึ้นตามสมควรแก่เหตุ ถ้าเป็นผู้ที่สละสิ่งที่เป็นที่พอใจได้ เวลาที่ได้รับ ก็ได้รับสิ่งที่เป็นที่พอใจตามควรแก่เหตุที่ได้กระทำไว้

ซึ่งท่านอุคคคฤหบดีก็ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคต่อไป โดยกราบทูลถวายสิ่งที่เป็นที่พอใจของท่านอีกหลายอย่าง คือ นาลิยสากะขาทนียาหาร ข้าวสุกแห่งข้าวสาลีที่ขาวสะอาด มีกับมาก มีพยัญชนะมาก ผ้าที่ทำในแคว้นกาสี เตียงมีเท้าทำเป็นรูปสัตว์ร้าย ลาดด้วยผ้าโกเชาว์ ลาดด้วยขนแกะสีขาว เครื่องลาดซึ่งมีสัณฐานเป็นช่อดอกไม้ เครื่องลาดอย่างดีทำด้วยหนังชะมด เครื่องลาดมีเพดาน เครื่องลาดใหญ่มีหมอนข้างทั้งสอง

อุคคคฤหบดีกราบทูลว่า

และข้าพระองค์ก็ย่อมทราบดีว่า สิ่งเหล่านี้ไม่ควรแก่พระผู้มีพระภาค เตียงไม้จันทร์ของข้าพระองค์นี้มีราคาเกินกว่าแสนกหาปนะ ขอพระผู้มีพระภาคทรงอาศัยความอนุเคราะห์รับเตียงของข้าพระองค์นั้นเถิด

พระผู้มีพระภาคทรงอาศัยความอนุเคราะห์รับแล้ว

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงอนุโมทนาด้วยอนุโมทนียกถาดังต่อไปนี้

ผู้ให้ของที่พอใจ ย่อมได้ของที่พอใจ ผู้ใดย่อมให้เครื่องนุ่งห่ม ที่นอน ข้าว น้ำ และปัจจัยมีประการต่างๆ ด้วยความพอใจในท่านผู้ประพฤติตรง สิ่งของที่ให้ไปแล้วนั้น ย่อมเป็นของที่บริจาคแล้ว สละแล้ว ไม่คิดเอาคืน ผู้นั้นเป็นสัปบุรุษ ทราบชัดว่า พระอรหันต์เปรียบด้วยนาบุญ บริจาคสิ่งที่บริจาคได้ยากแล้ว ชื่อว่า ให้ของที่พอใจ ย่อมได้ของที่พอใจ ดังนี้

ลำดับนั้นพระผู้มีพระภาคครั้นทรงอนุโมทนาด้วยอนุโมทนียกถากะอุคคคฤหบดี ชาวเมืองเวสาลีแล้ว จึงเสด็จลุกจากอาสนะหลีกไป ต่อมาไม่นานอุคคคฤหบดีชาวเมืองเวสาลีก็ได้ทำกาละ (คือ สิ้นชีวิตลง) และเมื่อทำกาละแล้ว เข้าถึงหมู่เทพชื่อ มโนมยะหมู่หนึ่ง

ก็สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ครั้งนั้น อุคคเทพบุตรมีวรรณงาม เมื่อปฐมยามล่วงไปแล้ว ยังพระวิหารเชตวันทั้งสิ้นให้สว่างไสว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคม แล้วยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

ครั้นแล้วพระผู้มีพระภาคจึงตรัสถามว่า

ดูกร อุคคะ ตามที่ท่านประสงค์สำเร็จแล้วหรือ

อุคคเทพบุตรกราบทูลว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ตามที่ข้าพระองค์ประสงค์สำเร็จแล้วพระเจ้าข้า

ลำดับนั้นพระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับอุคคเทพบุตรด้วยพระคาถา ความว่า

ผู้ให้ของที่พอใจ ย่อมได้ของที่พอใจ ผู้ให้ของที่เลิศ ย่อมได้ของที่เลิศ ผู้ให้ของที่ดี ย่อมได้ของที่ดี และผู้ให้ของที่ประเสริฐ ย่อมเข้าถึงสถานที่ประเสริฐ นรชนใดให้ของที่เลิศ ให้ของที่ดี และให้ของที่ประเสริฐ นรชนนั้นจะบังเกิด ณ ที่ใดๆ ย่อมมีอายุยืน มียศ ดังนี้

บางท่านอาจจะคิดว่า ทรงแสดงสูตรนี้จะทำให้เกิดความติดในผลของการให้ แต่อย่าลืมว่า พระผู้มีพระภาคทรงอนุเคราะห์แสดงธรรมเพื่อเกื้อกูลบุคคลให้ขัดเกลายิ่งขึ้น สามารถที่จะสละได้แม้สิ่งที่พอใจ นี่เป็นประโยชน์ของการที่จะฟังธรรม และรับส่วนที่เป็นประโยชน์ของธรรมด้วยความเข้าใจพระพุทธประสงค์ว่า การที่ทรงแสดงสภาพธรรมตามควรแก่เหตุเป็นสภาพธรรมที่จริง ถ้าให้สิ่งที่พอใจ ผลคือได้สิ่งที่พอใจ เมื่อความจริงเป็นอย่างนี้ ก็ทรงแสดงอย่างนี้ แต่ไม่ใช่ให้ติด ให้รู้ว่าการสละสิ่งที่พอใจได้ เป็นสิ่งที่ควรจะกระทำ เพราะว่าเป็นการขัดเกลามัจฉริยะ ความติด ความหวงแหน ความที่ยังยินดีติดข้องในสิ่งที่น่าพอใจนั้นอยู่ ซึ่งสภาพธรรมใดเป็นเหตุ สภาพธรรมใดเป็นผล ก็ทรงแสดงตามสภาพความจริงของธรรมนั้นๆ แต่ว่าผู้ฟังต้องถือประโยชน์ คือ สามารถสละแม้สิ่งที่ประณีตที่น่าพอใจได้ ทำให้เพิ่มพูนกุศลของการสละยิ่งขึ้น เป็นการขัดเกลายิ่งขึ้น


ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...

แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 204

แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 205


เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ